คลัสเตอร์วิทย์-ฮับอินโนฯ เครื่องมือขยับไทยแลนด์4.0

คลัสเตอร์วิทย์-ฮับอินโนฯ เครื่องมือขยับไทยแลนด์4.0

คลัสเตอร์วิทยาศาสตร์ฯ และศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค เป็นแนวคิด "สุวิทย์ เมษินทรีย์" เน้นภารกิจสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

คลัสเตอร์วิทยาศาสตร์ฯ และศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดย "สุวิทย์ เมษินทรีย์" เน้นภารกิจสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ทั้งการสร้างงานวิจัยอนาคต งานวิจัยกลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์ม เป้าหมายปลายทางเพื่อทำให้ทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย 4.0” ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบปีที่ 59


ศตวรรษ 21 โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง


แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือภูมิทัศน์ใหม่ของโลกศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ โลกแห่งความสุดโต่งทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โลกแห่งความย้อนแย้ง เมื่อกฎกลายเป็นข้อยกเว้น ข้อยกเว้นกลายเป็นกฎและเปลี่ยนจาก there is no alternative เป็น another world is possible และโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ส่งผลให้เกิดโอกาสและความท้าทายใหม่ รวมถึงระบบนิเวศและขีดความสามารถชุดใหม่ที่แตกต่างจากอดีต
คนไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เริ่มต้นจากเปลี่ยนชุดความคิดใหม่ ทักษะ เครื่องมือและพฤติกรรม อาทิเช่น negative side of good เป็น positive side of bad หรือ power of knowledge เป็น power of shared knowledge เพื่อแก้ปัญหากับดักการพัฒนาประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ กับดักความไม่สมดุล กับดักความเหลื่อมล้ำและกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องสร้าง “เศรษฐกิจฐานคุณค่า” ประกอบด้วย เศรษฐกิจไหลเวียน เศรษฐกิจแบบกระจายตัว และเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
นายสุวิทย์ อธิบายว่า ระบบเศรษฐกิจไหลเวียนจะสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน เป็นการสร้างการเติบโตโดยใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การมุ่งเน้นธุรกิจการผลิตและการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่คำนึงถึงแต่ความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนเป็นหลัก มาเป็นการคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งระบบ การส่งเสริมองค์กรที่คิดดีทำดี การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองน่าอยู่ การมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจกระจายตัว มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดสมดุล เช่น สร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอให้กับคนยากจน การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ยกระดับผลิตภาพของภาคการเกษตร การปรับปรุงคุณภาพงการศึกษาและปรับทักษะแรงงานให้สอดรับกับโลกยุค 4.0 การส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งและแข่งขันได้บนเวทีโลก การสร้างคลัสเตอร์เศรษฐกิจระดับกลุ่มจังหวัดและรายจังหวัด
การพัฒนาศูนย์กลางนวัตกรรม หรืออินโนเวชันฮับ ให้กระจายในระดับภูมิภาค การสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ


สร้างสมดุลมนุษย์กับเทคโนโลยี


ขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนสู่ความมั่งคั่ง จากที่เน้นเงินทุนและทุนทางกายภาพ เปลี่ยนเป็นการเน้นปัญญามนุษย์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความสมดุลระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ทำให้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น การยกระดับทักษะด้านดิจิทัล ไอซีทีและมีเดีย การยกระดับความสามารถด้านวิจัยและพัฒนา การสร้างคลัสเตอร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างคลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการบูรณาการอุตสาหกรรมเป้าหมาย และผู้ประกอบการเข้าร่วมคลัสเตอร์วิทยาศาสตร์ฯ ด้วย ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ งานวิจัยอนาคต เช่น นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีด้านอวกาศ เศรษฐศาสตร์และพฤติกรรม, งานวิจัยกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เกษตรแม่นยำ อากาศยาน เมืองอัจฉริยะ ยาและสุขภาพ และเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์ม เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที) และดิจิทัล เหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นการลงทุนสำหรับอนาคต ซึ่งสนับสนุนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี
“การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ เป็นหัวใจสำคัญที่จะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเน้นการสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ดีมานด์ไซด์ เพื่อให้นวัตกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว มีผลต่อการประกอบธุรกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถเข้าถึงได้ง่ายใช้งานได้จริง ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ” นายสุวิทย์ กล่าว