รุดตรวจสอบวัตถุปริศนาระเบิดกลางอวกาศ ชายแดนไทย-ลาว

รุดตรวจสอบวัตถุปริศนาระเบิดกลางอวกาศ ชายแดนไทย-ลาว

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ Gistda รุดตรวจสอบวัตถุปริศนาระเบิดกลางอากาศชายแดนไทย-ลาว เผยมั่นใจเป็นชิ้นส่วนจรวดนำส่งดาวเทียมแต่ไม่ยืนยันว่าเป็นของใครคาด 1 สัปดาห์ รู้ผล

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 พ.ย.60 นายบุญชุบ บุ้งทอง ผุ้อำนวยการสำนักปฎิบัติการดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ Gistda พ.ต.ท.พงษ์พิเชษฐ์ นิลจันทร์ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สภ.โขงเจียมพร้อมเจ้าหน้าที่วิศวกร Gistda เข้าตรวจสอบวัตถุปริศนาที่ระเบิดกลางอากาศชายแดนไทย-ลาว เสียงดัง ได้ยินเป็นบริเวณกว้างหลายอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งรุ่งเช้าพบเศษโลหะเนื้อดีกระจายเกลื่อนพื้นที่ 4 หมู่บ้านของตำบลนาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เหตุเกิดเมื่อ รุ่งเช้าวันที่ 15 พ.ย.ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว: ชาวบ้านตื่นวัตถุปริศนาระเบิดกลางอวกาศ ชายแดนไทย-ลาว ดังก้อง 4 อำเภอ ตรวจสอบพบชิ้นส่วนคล้ายขยะอวกาศ หลุดเข้าวงโคจรโลก ก่อนระเบิดกระจาย (มีคลิป)

ความคืบหน้าล่าสุด นายบุญชุบ บุ้งทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรุงเทพมหานคร พร้อมคณะได้เข้าตรวจสอบชิ้นส่วนที่พบเมื่อวาน และที่พบใหม่เพิ่มเติมในวันนี้อีก 2 ชิ้น โดย 2 ชิ้นหลังมีความใหญ่และยาวกว่าที่พบเมื่อวาน โดยชิ้นที่ยาวที่สุดมีความยาวถึง 6 เมตร

โดยจากการตรวจสอบนายบุญชุบกล่าวว่า วัตถุที่พบคาดว่าจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในชั้นอวกาศ โดยเป็นส่วนของตัวจรวดและถังบรรจุเชื้อเพลิง สำหรับการตกของจรวดลูกนี้ คาดว่ายังไม่ออกไปนอกโลก แต่อยู่ในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร เมื่อตัวจรวดตกกลับลงมาด้วยความเร็ว จะเกิดแรงเสียดทานกับอากาศ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ และเกิดเสียงจากแรงกระแทกในรูปแบบของโซนิกบูม เสียงดังที่ได้ยิน จึงไม่ใช่เกิดจากการระเบิด แต่เกิดจากแรงกระแทกของวัตถุกับอากาศ ก่อนแตกกระจายออกเป็นชิ้นๆ

สำหรับข้อสงสัยสิ่งที่บรรจุกับตัวจรวดจะมีกัมมันตรังสีหรือไม่ เชื่อว่าไม่มี เพราะเชื้อเพลิงของจรวดที่เป็นไฮโดเจน และออกซิเจนเหลว และยังระบุไม่ได้เป็นจรวดใช้ส่งยานอวกาศของชาติใด ต้องตรวจสอบไปยังองค์การสหประชาชาติ ที่จะมีบันทึกรายละเอียดของการส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรของชาติต่างๆ ซึ่งขณะนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทย ก็ได้ประสานขอทราบรายละเอียดถึงทิศทางและวันเวลาที่มีการนำจรวดขึ้นสู่วงโคจรไปแล้ว คาดจะทราบว่าจรวดที่ตกลงมานี้เป็นของชาติใดราว 1 สัปดาห์ข้างหน้า

เบื้องต้นการตกลงมาของชิ้นส่วนจรวดนี้ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับบ้านเรือนหรือตัวของประชาชน ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ชาติที่เป็นเจ้าของจรวดดังกล่าวก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ

นายบุญชุบ กล่าวอีกว่า ขอแนะนำประชาชน ถ้าพบเห็นวัตถุสิ่งแปลกปลอมตกลงมาจากชั้นบรรยากาศของโลก ไม่ควรเก็บไว้เอง ควรนำส่งเจ้าหน้าที่ใช้ตรวจหาแหล่งที่มาของวัตถุนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเส้นทางของจรวดแต่ละลูกด้วย สำหรับเศษซากจรวดที่ชาวบ้านนำมามอบให้เจ้าหน้าที่ นายบุญชุบได้คัดเลือกนำไปวิเคราะห์หาที่มาเป็นบางส่วน และอีกส่วนได้ให้สถานีตำรวจอำเภอโขงเจียมเก็บรักษา เพื่อรอส่งมอบคืนให้กับประเทศที่เป็นเจ้าของต่อไป