ร้องอสส.เหตุอัยการแม่ฮ่องสอน สั่งไม่ฟ้องคดีขรก.ซื้อบริการดญ.

ร้องอสส.เหตุอัยการแม่ฮ่องสอน สั่งไม่ฟ้องคดีขรก.ซื้อบริการดญ.

เครือข่ายคุ้มครองเด็กกว่า30คน ร้อง "อสส." เหตุอัยการแม่ฮ่องสอนสั่งไม่ฟ้องคดีขรก.ซื้อบริการเด็ก

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 16 พ.ย.60 เวลา 10.00 น. นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน พร้อมด้วย น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และกลุ่มมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล , เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน , องค์กรด้านเด็กและเยาวชน ประมาณ 30 คน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบกรณีที่ปรากฏข่าวอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคำสั่งไม่ฟ้องข้าราชการ , ตำรวจ และผู้มีชื่อเสียง ที่เข้าไปผัวพันการซื้อประเวณีเด็ก ใน จ.แม่ฮ่องสอน และขอให้อัยการสูงสุด ที่มีอำนาจชี้ขาดตามกฎหมายในการสั่งคดีขั้นตอนสุดท้าย ให้มีคำสั่งฟ้องกลุ่มข้าราชการ , ตำรวจ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

โดยการยื่นจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับหนังสือดังกล่าวไว้ ซึ่งนายประยุทธ ก็ได้สอบถามข้อมูลและพูดคุยอธิบายขั้นตอนทางกฎหมาย กับนางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน และน.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมฯ ด้วย

ขณะที่นายประยุทธ รองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยภายหลังรับจดหมายเปิดผนึกว่า จากนี้จะนำเสนอเรื่องนี้ต่ออัยการสูงสุดโดยทันที โดยขอเรียนเพิ่มเติมว่าคดีที่มีการยื่นหนังสือครั้งนี้เกิดที่ จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ภายใต้กำกับดูแลของอธิบดีอัยการภาค 5 และถือเป็นว่าคดีสำคัญ โดยหลักตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 จะต้องได้รับการพิจารณาสำนวนคดีโดยอธิบดีภาค ส่วนรายละเอียดคดีเท็จจริงอย่างไร สั่งสำนวนอย่างไร ยังต้องตรวจสอบ

"เป็นที่แน่นอนว่าคงจะต้องเร่งรัดและรวดเร็ว หากพบว่าสั่งไม่ฟ้องจริง ขั้นตอนของกฎหมายยังมีขั้นตอนต่อไปที่เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลกันระหว่างพนักงานสอบสวน กับพนักงานอัยการ นั่นหมายความว่าสมมุติถ้าอัยการในพื้นที่สั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องส่งสำนวนต่อไปที่ผู้บัญชาการตำรวจ ภ.5 ถ้าเห็นพ้องต้องกัน คำสั่งนั้นถือเป็นที่สุดตามกฎหมาย แต่ถ้า ตร.ภ.5 เห็นแย้ง สำนวนจะถูกส่งมาให้อัยการสูงสุดชี้ขาดว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร และควรที่จะออกคำสั่งเป็นอย่างไร"

ด้านนางทิชา ณ นคร กล่าวว่า ภาคประชาสังคมได้ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของคดีซึ่งเมื่อวันที่ 7 พ.ย.60 มีการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนหลายสำนักว่า นายตำรวจระดับสูงของกองบัญชาการตำรวจ ภ.5 นายหนึ่งระบุว่า อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ไปมีส่วนผัวพันกับคดีซื้อขายบริการประเวณีเด็กใน จ.แม่ฮ่องสอน ส่วนแม่เล้าและผู้จัดหายังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี ซึ่งเบื้องต้นตำรวจ ภ.5 กำลังทำความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุด

โดยเครือข่ายภาคประชาสังคม รู้สึกกังวลต่อการใช้ดุลยพินิจของพนักงานอัยการซึ่งมีบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและนำความจริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุด ให้พิจารณาทบทวนคำสั่งของพนักงานอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยขอให้มีคำสั่งให้ฟ้อง เพื่อให้ความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ เพราะ 1.การใช้บริการทางเพศหรือทำอนาจารเด็กหรือเยาวชน เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี , ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายค้ามนุษย์ขณะที่ข้อจำกัดทางวุฒิภาวะของเด็กหรือเยาวชนควรที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งคำสั่งไม่ฟ้อง ย่อมถือว่าเป็นการเพิกเฉยต่อการคุ้มครองเด็กหรือเยาวชน และ 2.การนำเด็กและเยาวชน มาแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี ที่ผ่านมาผู้ปกครองเด็กก็ได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเพื่อดำเนินคดี ซึ่งเครือข่ายประชาสังคมเห็นว่า คดีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาเนื่องจากผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ และ 3.การบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่ผ่านมา ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ใช้บริการประเวณีเด็กหรือเยาวชนอย่างเข้มงวดจริงจัง ทำให้ปัญหาการค้าประเวณีเด็ก ไม่หมดจากสังคมไทย

ขณะที่ น.ส.สุเพ็ญศรี ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมฯ กล่าวว่า หากไม่มีการสั่งฟ้องคดีนี้ เกรงว่าจะทำให้บรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมเสียหาย และผู้ถูกกระทำในลักษณะแบบนี้ จะไม่อยากพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากเขาไม่มีหลักประกัน ไม่มีที่พึ่ง ซึ่งเด็กที่อายุต่ำสุดเพียง 15-16 ปี ต่อไปคนที่แสวงหาผลประโยชน์ คนมีตำแหน่งจะแข็งแกร่งกล้าทำอะไรโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อย่าลืมว่าคดีนี้ผู้ซื้อบริการมีวัยวุฒิ มีตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นที่ยอมรับของสังคม หากอัยการสั่งไม่ฟ้องจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญผลักดันเรื่องการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็กเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ดีในส่วนของ ตร.ภ.5 เรายังไม่ได้เข้าพบเพื่อยื่นหนังสือใดๆ โดยต้องหารือกันอีกครั้งก่อน

" ขณะที่สหรัฐฯ จัดอันดับให้ประเทศไทยในการป้องกันแก้ไขการค้ามนุษย์และการบังคับใช้กฎหมายอยู่เทียร์ 2 ซึ่งเราก็มีกฎหมายบังคับใช้และให้มีการเยียวยา ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าจะจัดการปัญหาแบบบูรณาการ แต่ท้ายที่สุดก็ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่าเรายังไม่เป็นแบบโฆษณา วันนี้ต้องมาทวงถามอัยการสูงสุดว่าเหตุที่อัยการในพื้นที่สั่งไม่ฟ้องนั้นมีปัญหาเหตุใด เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาทั้งในประเทศและเวทีโลก และฝากถามถึงนายกฯ , รมว.มหาดไทย , อธิบดีกรมการปกครอง ที่เคยประกาศไว้นั้นว่า เราบังคับใช้กฎหมายได้ถึง 10 % หรือไม่"