เทียบคดี 'หมอยอร์น-เบนซ์ชนฟอร์ด' ไม่ตรวจแอลกอฮอล์ คดีส่อพลิก

เทียบคดี 'หมอยอร์น-เบนซ์ชนฟอร์ด' ไม่ตรวจแอลกอฮอล์ คดีส่อพลิก

จับประเด็นร้อน! เทียบคดี "หมอยอร์น-เบนซ์ชนฟอร์ด" ไม่ตรวจแอลกอฮอล์ "คดีส่อพลิก"

คดีหมอขับรถชน รปภ. ยังมีประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต ก็คือการที่คุณหมอปฏิเสธไม่ให้ตำรวจตรวจวัดแอลกอฮอล์เพื่อพิสูจน์ว่า มึนเมาขณะขับรถหรือไม่ ทั้งที่เรื่องนี้เคยมีการแก้ไขกฎหมายไปแล้วว่า ไม่สามารถปฏิเสธการตรวจได้ คำถามคือเมื่อไม่ตรวจ ผลของคดีจะเป็นอย่างไร

ตั้งแต่หลังเกิดเหตุ ตำรวจตั้งข้อหาคุณหมอไปแล้วล่าสุดถึง 5 ข้อหา โดย 1 ใน 5 ข้อหา คือ เมาแล้วขับ ซึ่งการตั้งข้อหานี้เป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ คือหากผู้ขับขี่ขับรถไปประสบอุบัติเหตุ จะไม่สามารถปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะด้วยการเป่าผ่านอุปกรณ์ตรวจวัดแอลกอฮอล์ทางลมหายใจ หรือการส่งตัวไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดก็ตาม หากฝ่าฝืนนอกจากจะมีโทษตามกฎหมายจราจรทางบก และกฎหมายอาญาแล้ว ยังให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าผู้ขับขี่ “เมาแล้วขับ”

แต่การไม่ได้ตรวจวัดแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุทันที เคยส่งผลต่อคดีมาแล้ว นั่นก็คือคดีรถเบนซ์พุ่งชนรถฟอร์ดอย่างแรงจนไฟลุกท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ นายกฤษณะ ถาวร และ น.ส.ธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย อดีตนักศึกษาปริญญาโทเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ปีที่แล้ว ศาลเพิ่งอ่านคำพิพากษาไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าข้อหา “เมาแล้วขับ” ที่ตำรวจยื่นฟ้องผู้ขับขี่เพราะไม่ยอมให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ จึงสันนิษฐานว่าเมาแล้วขับ สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทันทีหลังเกิดเหตุ

ประเด็นนี้น่าสนใจ “ล่าความจริง” ได้สอบถามไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ความว่า การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย หากไม่ได้ตรวจหลังเกิดอุบัติเหตุทันที แม้จะมีการตรวจในเวลาต่อมาก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะค่าแอลกอฮอล์แปรผันตามร่างกายของแต่ละคน กราฟค่าแอลกอฮอล์จะค่อยๆ พุ่งขึ้นจนถึงจุดสูงสุดที่ร่างกายดูดซึมเอาไว้ หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง

ยกตัวอย่างง่ายๆ บางคนดื่มเหล้าแล้วไปขับรถทันที ก็จะอยู่ในจังหวะที่ค่าแอลกอฮอล์กำลังขึ้น แต่บางคนดื่มเหล้าแล้วนั่งพักดื่มน้ำอยู่เป็นชั่วโมง แล้วค่อยขับรถ ก็จะอยู่ในช่วงที่ค่าแอลกอฮอล์กำลังลง ค่าแอลกอฮอล์ในร่างกายจึง “ไม่นิ่ง” ฉะนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงต้องตรวจในเวลานั้นทันที

สมมติเกิดอุบัติเหตุแล้วไปโรงพัก ตำรวจสั่งให้คนขับตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แล้วผู้นั้นปฏิเสธ พอถึงเวลาสู้คดี ตำรวจก็เขียนเข้าไปในสำนวนเลยว่าได้แจ้งข้อหาเมาแล้วขับเรียบร้อยแล้ว โดยสันนิษฐานเอาตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าพอคดีถึงชั้นศาล ศาลจะดูหลักฐาน แต่ตำรวจแจ้งปากเปล่า ไม่มีหนังสือ ไม่มีผลการตรวจ ก็ถือว่าไม่สามารถเอาผิดในข้อหาเมาแล้วขับได้ เหมือนกับคดีเบนซ์ชนฟอร์ด

น่าคิดว่า เมื่อกฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่ต้องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เหตุใดจึงเปิดช่องให้ปฏิเสธการตรวจได้อีก และนี่อาจเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้ผู้ขับขี่โดยประมาทเพราะมึนเมา หลุดคดีอีกก็เป็นได้!