ขีดเส้น31มี.ค.ปีหน้า ปลอดต่างด้าวผิดกฎหมาย

ขีดเส้น31มี.ค.ปีหน้า ปลอดต่างด้าวผิดกฎหมาย

"ปลัดแรงงาน" ยันหลัง31มี.ค.61 ต่างด้าวผิดกฎหมายไม่มีในไทย ย้ำรัฐบาลตั้งใจนำแรงงานเข้าสู่ระบบ ให้ความคุ้มครองตามกฎหมายไทยและระหว่างประเทศ ทุกหน่วยเกี่ยวข้องพยายามทำงานร่วมอย่างเต็มที่ หวังลดระดับเทียร์ สามารถส่งออกสินค้าประมงได้ราบรื่น

วานนี้ (15พ.ย.) นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายปีเตอร์ เฮมอนด์ อัครราชทูตที่ปรึกษาและคณะ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ณ ห้องประชุมปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 7อาคารกระทรวงแรงงาน ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานด้านแรงงาน เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งในสัปดาห์หน้าสภาสหรัฐจะส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทย แรงงานประมง และแรงงานบังคับ

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งภายหลังวันที่ 31 มี.ค.2561 แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจะไม่มีในประเทศไทย ทุกคนจะได้รับการเข้าสู่ระบบการพิสูจน์ตัวตนและได้รับสัญชาติจากประเทศต้นทางซึ่งได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เมื่อแรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องแล้วก็จะสามารถให้ความคุ้มครองตามกฎหมายไทยได้ รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานประมง เนื่องจากสภาพการทำงานในปัจจุบันค่อนข้างล่อแหลม ซึ่งกระทรวงแรงงานจะให้การดูแลแรงงานอย่างดีที่สุด อาทิ ให้มีการทำสัญญาการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงผ่านบัญชีธนาคาร รวมทั้งกำหนดสวัสดิการบนเรือที่ควรจะได้รับ เป็นต้น

นอกจากนี้การดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไทย ไม่เพียงแค่กระทรวงแรงงานหน่วยเดียวยังมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นความพยายามที่ต้องการปลด Tier เพื่อลดข้อจำกัดด้านสิทธิในการส่งออกสินค้าประมงของไทยให้ราบรื่นและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

"กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มุ่งเน้นขับเคลื่อนและบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งด้านการบังคับใช้นั้นได้บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด โดยให้น้ำหนักกับการตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยงในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ นอกจากนี้ยังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยเน้นการจัดระเบียบ ป้องกันเยียวยา บังคับใช้กฎหมาย ให้ความคุ้มครองอำนวยความสะดวกนายจ้างและแรงงาน ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการออกกฎหมายลำดับรอง 10 ฉบับ" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว