แอ๊บโซลูทเสริมแกร่งเชนโรงแรมผนึก“เทรเวลลอดจ์-เวียนนาเฮาส์”

แอ๊บโซลูทเสริมแกร่งเชนโรงแรมผนึก“เทรเวลลอดจ์-เวียนนาเฮาส์”

การขยับรุกธุรกิจโรงแรมของกลุ่ม “บีทีเอส” ผ่านบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ที่ปิดดีลใหญ่ซื้อโรงแรมและธุรกิจการบริหารจัดการโรงแรม “เวียนนา เฮ้าส์” จากยุโรป รวมกว่า 35 โรงแรมรวดเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา 

ส่งผลให้ แอ๊บโซลูท โฮเต็ล เซอร์วิส (AHS) อีกหนึ่งธุรกิจของบีทีเอสที่เป็นเรือธงด้าน “การรับบริหารโรงแรม” มีบทบาทโดยตรงในการเข้ารับช่วงขับเคลื่อนธุรกิจโรงแรมในเครือทั้งหมด

ไม่เพียงแค่ดีลของเวียนนา เฮ้าส์ เท่านั้น แต่ยังมีความร่วมมือครั้งใหญ่กับ เทรเวลลอดจ์ เอเชีย ในการเข้ามาเป็นพันธมิตรหลักเพื่อพัฒนาและขยายกิจการในไทย โดยเฉพาะในนามของ เทรเวลลอดจ์ ประเทศไทย มีเป้าหมายใหญ่เปิดตัว 50 โรงแรมภายในปี 2563

โจนาธาน วิกลีย์ ประธานบริหาร เทรเวลลอดจ์ ประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอ๊บโซลูท โฮเต็ล เซอร์วิส (AHS) กล่าวว่า หลังควบรวมแบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ เข้ามาแล้ว มีโครงการทั้งที่เปิดให้บริการและระหว่างพัฒนา 96 แห่งทั่วโลกกว่า 1.4 หมื่นห้อง แต่หากนับเฉพาะแบรนด์ของ AHS เดิม 62 แห่ง รวมกว่า 9,000 ห้อง ซึ่งยังไม่รวมถึงเป้าหมาย 50 โรงแรมที่รวมมือกับเทรเวลลอดจ์ เพื่อเจาะตลาดระดับกลาง

จำนวนโรงแรมในพอร์ตดังกล่าว ทำให้ AHS เป็นเชนใหญ่ของไทยที่ต้องจับตามอง ด้วยขนาดที่ใกล้เคียงกับกลุ่มธุรกิจเก่าแก่อย่าง ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ และ เซ็นทารา

โจนาธาน ซึ่งนั่งแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหารภาคพื้นเอเชีย เวียนนา เฮ้าส์ อีกตำแหน่ง กล่าวว่า การขยายกิจการของ AHS เองในปีนี้ จะเห็นการนำแบรนด์ภายใต้กลุ่มเวียนนา เฮ้าส์ ในยุโรปมาบุกเบิกในไทยครั้งแรกที่ กรุงเทพฯ ภายใน 6 เดือน รวมถึงจะแลกเปลี่ยนด้วยการนำ ยู โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ท ซึ่งเป็นแบรนด์ที่พัฒนาด้วยตัวเอง ไปรีแบรนด์ให้กับโรงแรมที่มีในยุโรป เบื้องต้นพิจารณาบูดาเปสต์, ฮังการี และโคโลญจน์ 

การขยายแบรนด์ของ AHS ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะการรับบริหารให้เครือบีทีเอสเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันขยายฐานตลาดไปครอบคลุมทั้งเอเชีย โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ในฮ่องกง, อินโดนีเซีย, อินเดีย, ยุโรป รวมถึง เวียดนาม ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายใหญ่ ด้วยจำนวนโรงแรม 17 แห่ง กว่า 3,000 ห้อง ซึ่งหากนับเฉพาะจำนวนห้อง จะมากกว่าไทย เนื่องจากแต่ละโครงการมีขนาดใหญ่กว่า  แต่หากนับจำนวนโรงแรมในไทยมีมากกว่า และก็มีโครงการขนาดใหญ่ที่ได้เข้ารับบริหารเช่นกัน เช่น การเซ็นสัญญารับบริหารโรงแรมอีสตินใหญ่ที่สุดในไทย 456 ห้อง ใกล้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จะเปิดบริการต้นปี 2562

ส่วนการร่วมมือกับ เทรเวลลอดจ์ จะช่วยผลักดันให้แบรนด์เติบโตเร็ว เนื่องจากจะเข้ามาตอบรับความต้องการนักท่องเที่ยว “ตลาดระดับกลาง” ที่เป็นฐานสำคัญของตลาดท่องเที่ยวในไทย ตามแนวโน้มธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ที่กำลังเฟื่องฟู 

จุดแข็งอีกด้านคือ “การบริหารจัดการต้นทุน” และสามารถทำกำไรออกมาได้ดีที่เชื่อว่าจะดึงดูดให้นักลงทุนที่กำลังคิดจะสร้างโรงแรมขึ้นมาใหม่ หรือคนที่มีโรงแรมอยู่แล้ว และต้องการปรับเปลี่ยนการบริหาร ให้มาสนใจพิจารณาแบรนด์เทรเวล ลอดจ์ มากขึ้น

ทั้งนี้ เทรเวลลอดจ์ เป็นแบรนด์เก่าแก่จากยุโรปที่มีโรงแรมในเครือข่ายกว่า 1,000 แห่งปัจจุบันปรับกลยุทธ์รุกสู่ตลาดเอเชียด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งสาขาใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์ และมอง “ไทย” เป็นหนึ่งในเป้าหมายเฟสแรกร่วมกับ ฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์ โดยใช้วิธีการเลือก “พันธมิตร” ที่มีความเชี่ยวชาญและรู้จักลู่ทางธุรกิจโรงแรมในท้องถิ่นนั้นๆ 

การลงทุนของเทรเวล ลอดจ์ อาจจะต่ำกว่าโรงแรมในระดับเดียวกัน 20-25% เฉลี่ยเฉพาะห้องพัก 1.2-1.5 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) ขณะที่จำนวนห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 200 ห้อง ซึ่งอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้แบรนด์นี้น่าสนใจคือ การปรับภาพลักษณ์ทันสมัย และครองใจตลาดคนรุ่นใหม่อายุ 20-35 ปี 

โรงแรมในเทรเวล ลอดจ์ เปิดบริการในไทยแล้ว 2 แห่งในพัทยา และ สุขุมวิท 11 และมีโครงการที่เซ็นสัญญา 6 แห่ง

ด้าน สตีเฟ่น เบิร์ท ประธาน เทรเวลลอดจ์ เอเซีย กล่าวว่า โครงการในเอเชียที่เซ็นสัญญาแล้ว 15 แห่ง โดยการเลือก AHS เป็นพันธมิตร เนื่องจากต้องการเข้าไปทำตลาดในแต่ละประเทศด้วยความเข้าใจและเข้าถึงตลาดอย่างแท้จริง ปรับบริการให้สอดคล้องกับ “กำลังซื้อในประเทศ” 

“การขยายมาเอเชีย แน่นอนว่าตลาดท่องเที่ยวต่างชาติถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ แต่กลุ่มที่มองข้ามไม่ได้คือ ตลาดในประเทศ ดังนั้น จึงใช้กลยุทธ์การร่วมมือกับบริษัทรับบริหารท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อทำตลาดครอบคลุมทั้ง 2 ด้าน”

ทั้งนี้ มองว่าสิ่งที่อาเซียนมีเหมือนยุโรปคือ แม้จะรวมกลุ่มกันเหนียวแน่น  แต่ทุกประเทศจะมีความแตกต่างหลากหลายในสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งต้องการความเข้าใจเฉพาะไปจับ จึงพร้อมทำงานกับพันธมิตรท้องถิ่น เพราะต้องการให้เป็นแบรนด์ที่มีความยืดหยุ่น

ภายในปี 2563 มีความเป็นไปได้ว่าจะขยายแบรนด์เทรเวลลอดจ์ ในเอเชียให้ถึง 200 แห่ง