โจทย์ท้าทาย...นโยบายการเงิน เมื่อพลวัต ‘เงินเฟ้อ’ เปลี่ยนไป

โจทย์ท้าทาย...นโยบายการเงิน  เมื่อพลวัต ‘เงินเฟ้อ’ เปลี่ยนไป

กระทรวงการคลังยืนยันชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้ตีกลับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เสนอเข้ามา เพียงแต่ขอให้ ธปท. อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ไม่สามารถดูแลเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้

และยังขอให้ ธปท. ชี้แจงด้วยว่า ที่ผ่านมา ได้ใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่หรือยัง ในการผลักดันเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2561 ที่ ธปท. เสนอไปยังกระทรวงการคลัง ยังคงเป็นกรอบเป้าหมายเดิม โดยยึด “เงินเฟ้อทั่วไป” ในการทำนโยบาย มีค่าเฉลี่ยตรงกลางที่ 2.5% บวก ลบ ไม่เกิน 1.5% หรือมีกรอบเป้าหมายอยู่ที่ 1-4% ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีมานี้ ธปท. ยังไม่สามารถบริหารเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เลย

ที่ผ่านมา ธปท.อธิบายสาเหตุที่เงินเฟ้อไทยหลุดกรอบเป้าหมายว่า เป็นผลจากราคาพลังงานที่ปรับลดลง ซึ่งมาจากฝั่งของ “ซัพพลาย” อันเกิดจากการค้นพบ “เชลล์ออย” และ “เชลล์แก๊ส” ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันโลกต่ำลง ราคาน้ำมันตลาดโลกจึงลดลงตามไปด้วย และ ธปท. ยังบอกด้วยว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงจากฝั่งของ "ซัพพลาย” แบบนี้ การใช้ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลประสิทธิผลที่ได้มีน้อย

ประเด็นเงินเฟ้อที่หลุดกรอบเป้าหมายถึง 3 ปีซ้อน ในขณะที่เครื่องมือ “ดอกเบี้ยนโยบาย” ไม่สามารถ “ทำอะไร” ได้มาก จึงมีคำถามว่า.. แล้วแบบนี้จะมีเครื่องมือการเงินใดเพิ่มเติมที่เข้ามาช่วยดูแลเงินเฟ้อให้กลับสู่กรอบเป้าหมายได้บ้าง แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น อาจต้องย้อนกลับมาดูว่า “ต้นกำเนิด” หรือ “พลวัต” ที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ แท้จริงแล้วมาจากไหนกันแน่

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ หนึ่งในนั้น คือ งานวิจัยของสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “พลวัตเงินเฟ้อภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์” เขียนโดย “พิม มโนพิโมกษ์” ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า สาเหตุที่เงินเฟ้อไทยต่ำ แท้จริงแล้ว ไม่ได้มาจากราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว

ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยมี “ความเชื่อมโยง” กันมากขึ้น ผ่านกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปี 2543 ทำให้เงินเฟ้อไทย “อ่อนไหว” กับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น

ที่เห็นได้ชัดคือ การที่ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น ประเทศจีน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีการค้าโลกมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปี 2543 ส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อในประเทศที่ค้าขายกับประเทศเหล่านี้ลดลงตามราคาสินค้านำเข้าที่ถูกลง

นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัตน์ยัง “สร้างแรงกดดัน” ต่อเงินเฟ้อผ่านการปรับลดลงของราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้านำเข้าได้อีกด้วย เพราะการเปิดการค้าเสรีประกอบกับการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตทั่วโลกที่มีความคล่องตัวมากขึ้น ย่อมส่งเสริมการถ่ายโอนเทคโนโลยี และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ

งานวิจัยชิ้นนี้ ยังชี้ด้วยว่า กระแสโลกาภิวัฒน์มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อมาก โดยจากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เงินเฟ้อไทย เริ่มเคลื่อนไหวไปกับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น และอ่อนไหวต่อปัจจัยภายในน้อยลง และงานวิจัยชิ้นนี้ ยังสรุปด้วยว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ ประเทศไทยคงต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อต่ำไปอีกนาน แม้ว่าอนาคตราคาน้ำมันโลกจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร เขียนบทความตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ข้อมูลสำคัญที่ หน่วยงานทางการ น่าจะนำมาประกอบการพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทย คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “เงินเฟ้อไทย” กับ “เงินเฟ้อโลก” ว่าช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์กันมากขึ้นน้อยลงเพียงใด

ศุภวุฒิ ระบุว่า ข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปในไทย และประเทศเศรษฐกิจหลักแสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อไทย ปรับตัวไปด้วยกันกับเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างเห็นได้ชัด ยกเว้นญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่เปิดมากขึ้น

“จริงอยู่ ความสัมพันธ์ทางสถิติอาจไม่ได้หมายความว่า ตัวแปรตัวหนึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนตัวแปรอีกตัวหนึ่ง แต่น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า เงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยมากกว่าเงินเฟ้อของไทยเป็นตัวกำหนดเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก”

จากข้อมูลเหล่านี้ มีคำถามว่า เมื่อปัจจัยภายนอกมีผลต่อเงินเฟ้อไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ “ดอกเบี้ยนโยบาย” ไม่สามารถคุมให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้ จะมีนโยบายการเงินอื่นใด หรือไม่ ที่จะช่วยควบคุมเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

คำถามนี้นำไปสู่การตั้งคำถามในอีกขั้นหนึ่งว่า เมื่อปัจจัยภายนอกมีผลต่อเงินเฟ้อในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การใช้ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุม ประสิทธิผลดูเหมือนจะน้อยลง หากเป็นเช่นนั้น การใช้นโยบายการเงินโดยใช้ “อัตราแลกเปลี่ยน” เป็นตัวกำหนดเป้าหมาย หรือ Exchange rate targeting จะมีประสิทธิภาพในการดูแลเงินเฟ้อได้ดีกว่าหรือไม่

เรื่องนี้มีงานวิจัยที่ใช้กันภายใน ธปท. เช่นกัน โดยศึกษาผลกระทบของ “อัตราแลกเปลี่ยน” ที่มีต่อ “เงินเฟ้อ” จากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ซึ่งพบว่า เงินบาทที่ “แข็งขึ้น” 1% มีผลช่วย “ลดเงินเฟ้อ” ได้เพียง 0.05% เท่านั้น ..ด้วยเหตุนี้ทำให้ ธปท. มองว่า การใช้นโยบายการเงิน ด้วยการควบคุมผ่าน “อัตราแลกเปลี่ยน” จึงไม่น่ามีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะดูแลเงินเฟ้อ

โจทย์เรื่องการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อ จึงยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่จบสิ้นว่า ปัจจุบันมีเครื่องมืออื่นใดหรือไม่ที่สามารถนำมาใช้ดูแลเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งข้อถกเถียงนี้ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ธนาคารกลางอื่นทั่วโลกก็กำลังหาคำตอบในเรื่องนี้อยู่