ผนึกกำลังกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงิน ปชช.

ผนึกกำลังกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงิน ปชช.

ปปง.จับมือสถาบันการเงิน 36 แห่ง ค่ายมือถือ ตั้งศูนย์ปฎิบัติพิเศษสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกปชช.โอนเงิน งัดกม.อายัดทรัพย์-เอาผิดฟอกเงินยกแก๊ง ระบุปชช.ตกเป็นเหยื่อสูญเงินแล้วกว่า 100 ลบ.

เมื่อวันที่15 พ.ย.60 ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการเฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาการเลขาธิการปปง. เปิดเผยหลังจากประชุมร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 36 แห่ง ชมรมบัตรเครดิตแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ทั้ง 5 เครือข่าย เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังพบพฤติการณ์กลุ่มอาชญากรเหล่านี้ยังมีแนวโน้มรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีขบวนการกระทำความผิดที่สลับซับซ้อน เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งใน และต่างประเทศ ถือเป็นองค์กรอาชญากรรม และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยที่ประชุมมีมติที่จะปฏิบัติงานร่วมกันเป็นมาตรการพิเศษที่เน้นการป้องกัน และการเฝ้าระวัง (Monitor) เพื่อยับยั้งความเสียหายและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวด้วย

การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปก.ปปง.)เพื่อประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เบื้องต้น ปปง.กับธนาคารพาณิชย์ จะร่วมกันการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของธนาคารทั้ง 36 แห่ง ว่าเป็นบัญชีที่มีความเสี่ยงสูงจนเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นบัญชีที่มีการรับจ้างเปิดบัญชีหรือเป็นบัญชีที่จะนำมาใช้ในการประกออาชญากรรมหรือไม่

รักษาการเลขาธิการปปง. ระบุด้วยว่า หากพบว่าบัญชีใดอยู่ในข่ายต้องสงสัย ธนาคารแต่ละแห่งก็จะมีการเฝ้าระวังบัญชีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันปปง.จะประสานกับสตช.และดีเอสไอ เพื่อสืบสวนขยายผลรวบรวมพยานหลักฐานหากพบว่าบัญชีใดเกี่ยวข้องกับแก๊งมิจฉาชีพก็จะดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว และเครือข่าย

รักษาการเลขาฯปปง. กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีผู้เสียหายร้องเรียนต่อศูนย์คอลเซ็นต์เตอร์ ปปง.จำนวน 149 รายมูลค่าความเสียหายกว่า 61 ล้านบาท แต่ถ้ารวมเรื่องร้องเรียนกับหน่วยงานอื่นๆ มูลค่าความเสียหายโดยรวมประมาณ 100 ล้านบาท เมื่อประชาชนถูกหลอกขอให้รีบแจ้งมาที่สายด่วน 1710 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุพร้อมประสานข้อมูลไปยังธนาคารเพื่อยับยั้งการถอนเงินไว้เป็นการชั่วคราว และเพื่อให้ธนาคารและปปง.ตรวจสอบหรือพิสูจน์ว่าบัญชีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ ขณะเดียวกัน ศปก.ปปง.ก็จะประสานข้อมูลไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวว่าเบอร์โทรดังกล่าวมาจากต่างประเทศ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP หรือไม่ หลังจากได้ข้อเท็จจริงว่าเกิดจากฝีมือของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะประสานกับพนักงานสอบสวนของตำรวจหรือดีเอสไอเพื่อให้สืบสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

“แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีม้าเร็วทำหน้าที่ถอนเงินออกจากบัญชี หากไม่สามารถยับยั้งการถอนหรือโอนเงินในบัญชีก็จะใช้มาตรการต่อเนื่องด้วยการตรวจสอบอายัดทรัพย์ของผู้ต้องหา และใช้มาตรการคุ้มครองสิทธิเยียวยาผู้เสียหายต่อไป ขอเตือนว่าการรับจ้างเปิดบัญชี ถือเป็นภัยร้ายแรง เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา 831/2559ระบุว่า การสนับสนุนการกระทำความผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาจเป็นความอาญาผิดฐานฟอกเงินอีกฐานหนึ่ง โทษจำคุกสูงถึง 10 ปี และหากพบเห็นหรือสงสัยว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์ดังกล่าวขอให้แจ้งเบาะแสมายัง ศปก.ปปง. สายด่วน ฮอตไลน์ 1710 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ” พล.ต.ต.รมสิทธิ์ กล่าว