กก.ปฏิรูปยุติธรรมวางเป้าปฏิรูปฯ 5ด้าน ใน 5ปี

กก.ปฏิรูปยุติธรรมวางเป้าปฏิรูปฯ 5ด้าน ใน 5ปี

กก.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม วางเป้าปฏิรูปฯ 5 ด้าน ใน 5 ปี ก่อนส่งไม้ต่อให้ กก.ยุทธศาสตร์ชาติ 24 ธ.ค.60

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.60 ที่รัฐสภา นายอัชพร จารุจินดา ประธานคณะกรรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม แถลงว่า เป้าหมายของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ทางคณะกรรมการได้วางแผนไว้ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า และจะต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม มีทั้งหมด 5 ข้อ คือ

1.ต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของกระบวนการยุติธรรม คือเราจะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดและกระบวนการทำงานของระบบยุติธรรมใหม่ ให้สนองตอบความต้องการประชาชน ขั้นตอนต่างๆ ต้องง่าย และสามารถติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมได้ ต้องไม่ให้มีคำว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ หรือคดีไม่คืบหน้า สิ่งเหล่านี้ต้องหมดไป
2. การให้ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน หรือการลดความเลื่อมล้ำ ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมมีการปรับตัวสามารถช่วยเหลือประชาชนให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและรูปคดี การประกันตัวอาจต้องได้รับการปฏิรูปใหม่
3.การปฏิรูประบบการสืบสวนสอบสวนขึ้นใหม่ เพื่อให้ทุกคนเชื่อมั่นว่ากระบวนการสอบสวนมีความโปรงใสให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
4. สร้างสังคมให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน คือการปรับปรุงระบบการลงโทษใหม่ ต้องเปลี่ยนแนวความคิดว่าใครผิดจับเข้าคุกอย่างเดียว ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ โดยต้องดูการลงโทษที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำอีก
5.ให้กระบวนการยุติธรรมสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการคดีพาณิชย์ต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานสากล

ด้านพล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้จัดทำแผนปฏิรูปขั้นตนเสร็จแล้ว โดยมีแผนการปฏิรูป 10 ประเด็นคือ

1.การกำหนดระยะการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า 2.การสร้างกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 3.สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยใช้ระบบประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลหลังปล่อยตัว มาใช้แทนการเรียกทรัพย์สินเป็นหลักประกัน 4.สร้างกลไกเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัด สร้างความปลอดภัยในสั่งคม 5.ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา ให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการอย่างเหมาะสม 6.การบูรณาการความร่วมมือปรับปรุงระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสอบสวน เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ 7.การสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและอัยการในการสอบสวนคดีอาญา 8.การปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์ 9.เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมให้อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างสะดวกและรวดเร็ว และ 10. พัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

พล.ต.ท.อำนวย กล่าวต่อว่า แผนทั้ง 10 ข้อ จะมีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนที่มีต่อแผนปฏิรูปดังกล่าว เมื่อการรับฟังความเห็นเสร็จสิ้น คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะเสนอแผนที่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นแล้วไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติภายในวันที่ 24 ธ.ค. 2560 เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศตามแผนต่อไป