คุกไทย...ไม่แบ่งชั้น

คุกไทย...ไม่แบ่งชั้น

อย่าปล่อยให้ความจนทำลายอิสรภาพ…อีกความเคลื่อนไหวของการเพิ่มสิทธิผู้ต้องหาเพื่อความเท่าเทียม

ถ้าลองเสิร์ชคำว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” คุณจะพบผลลัพธ์นับพันนับหมื่น ในจำนวนนั้นมีนับร้อยที่อ้างถึงคดีเก่าๆ ซ้ำยังเป็นข้อมูลผสมอารมณ์ จนต้องตั้งคำถามถึงระบบยุติธรรมของประเทศ

ตายายเก็บเห็ดติดคุก 15 ปี, คนรวยขับรถยนต์ชนคนตายไม่ติดคุก, หนุ่มไฮโซขับรถพุ่งชนกระเป๋ารถเมล์ แล้วอ้างว่ามีอาการป่วย, ครบ 5 ปี เลื่อนคดีมาราธอน ทายาทธุรกิจดัง และอีกฯลฯ ที่มีคนเคยรวบรวมไว้

“คุกมีไว้ขังคนจน” ถูกตีความได้ว่า หนึ่ง…เพราะคนจนไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ หากกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าทำผิดจริง แม้จะมีโทษปรับเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อจำเลยไม่เสียค่าปรับ ก็ต้องติดคุกเเทน

สอง…ระหว่างที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาและรอคำพิพากษาตัดสิน หากไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว ไม่มีตำแหน่ง เมื่อนั้นมันก็เป็นไปตามกฎหมายซึ่งต้องถูกยึดอิสรภาพผู้ต้องหาไว้ก่อนชั่วคราว

คนจนมีสิทธิไหมครับ

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนโดยคณะนิติศาสตร์ และกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดแคมเปญรณรงค์ในหัวข้อ “ขอ 6 หมื่นชื่อแสดงพลังเปลี่ยนระบบเงินประกัน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ต่อคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ผ่านแพลตฟอร์ม Change.org

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ตั้งคำถามว่า “ทราบไหมครับว่าในบรรดาผู้ต้องขัง 300,000 คน มีอย่างน้อย 66,000 คน ที่ต้องติดคุก ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่พิพากษา เหตุเพราะว่าไม่มีเงินประกันตัว”

“คดีที่มีโทษประหารชีวิต วงเงินประกันคือ 800,000 บาท จำคุกตลอดชีวิตคือ 600,000 บาท โทษจำคุกปีละ 20,000 บาท ถ้าข้อกล่าวหานั้นมีโทษสูงสุด 20 ปี ก็ต้องมีเงิน 400,000 บาท”

“คำถามคือ เงินประกันเป็นหลักประกันได้จริงหรือว่าจำเลยจะไม่หนี คำตอบคือไม่ใช่ ถ้ามีเงินประกันตัวได้ ก็หนีได้ ผลคือคนจะติดคุกหรือไม่ อยู่ที่มีเงินหรือไม่ ทั้งๆ ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติไว้เลยว่าต้องใช้เงิน นอกจากนี้ยังระบุว่าในบรรดาความเหลื่อมล้ำทั้งหลายในสังคมไทย ไม่มีเรื่องใดจะเลวร้ายไปกว่าเรื่องการประกันตัวที่ต้องใช้เงินอีกแล้วครับ” หนึ่งในผู้พลักดันตั้งคำถาม

มันเป็นข้อสงสัยที่ถูกโยนไปหาสังคมเพื่อหาแนวร่วมเพื่อนำไปสู่การแก้กฎหมาย ซึ่งจนถึงวันนี้ (13 พ.ย.) มีผู้สนับสนุนแคมเปญใน change.org กว่า 27,564 คน อย่างไรก็ตามท่ามกลางผู้เห็นด้วย ยังมีบางกลุ่มที่แม้จะไม่ได้คัดค้านประการใด หากแต่ขอตั้งคำถามว่า หากไม่ใช่เงินประกันแล้ว เราควรใช้หลักประกันใดเพื่อป้องกันการหลบหนี?

ตัวช่วยกองทุนยุติธรรม

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุว่า ทันทีที่มีการตั้งข้อกล่าวหา ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากสอบปากคำผู้ต้องหาหรือพยานยังไม่แล้วเสร็จในกำหนดเวลาตำรวจจะต้องพาตัวผู้ต้องหาไปที่ศาลเพื่อขออำนาจจากศาลฝากขัง

ถ้าศาลเห็นว่า ยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องขังไว้ในชั้นนี้ศาลอาจสั่งให้ปล่อยตัวแล้วนัดวันรายงานตัว แต่หากศาลเห็นว่ามีเหตุให้ฝากขัง ศาลก็จะสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน ซึ่งผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะวางเงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นตั้งแต่เงินสด โฉนดที่ดิน ตำแหน่งข้าราชการ เพื่อประกันตัวเองออกไป

คนไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวก็ต้องทำใจรับชะตากรรมที่จะต้องสูญเสียอิสรภาพ และในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่ามีผู้ถูกคุมขังเพราะไม่มีเงินประกันจำนวนมาก และนี่จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะ “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” โดยจากสัดส่วนเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ 143 แห่ง รองรับผู้ต้องขังได้ราวแสนคน แต่ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทะลุกว่า 3 แสนคน ทั้งนี้จึงเป็นที่มาของการตั้งกองทุนยุติธรรม เพื่อสนับสนุนผู้ต้องหาที่ไม่มีเงินประกันขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2549

เว็ปไซต์กองทุนยุติธรรม ระบุว่า จากสถิติในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 มีเรื่องเข้ารับการพิจารณา 7,785 เรื่อง ในจำนวนนี้ได้รับการอนุมัติวงเงินประกันแล้ว 2,512 เรื่อง หรือคิดเป็น ร้อยละ 32.27 ไม่อนุมัติ 3,073 เรื่อง หรือร้อยละ 39.47 อยู่ระหว่างดำเนินการ 594 เรื่อง หรือร้อยละ 7.63 นอกนั้นได้ขอยุติเรื่องจำนวน 1,606 เรื่อง หรือร้อยละ 20.63 (ที่มา: http://jfo.moj.go.th/TH/Stat.html)

“วัตถุประสงค์หลักของกองทุนนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายให้กับประชาชน ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในสังคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กองทุนยุติธรรม สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาค” (‘ลดภาษี’บริจาคกองทุนยุติธรรม-กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 ตุลาคม 60)

ถ้าการได้มาซึ่งความยุติธรรมมีราคาต้องจ่าย ในวันนี้กองทุนยุติธรรมจึงเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้ต้องหาที่ต้องการสู้คดีแต่มีเงินไม่พอ

ปฏิรูปเพื่อความเสมอภาค

แม้ว่าจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา แต่ มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาล ก็มองว่า นั่นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ดี อีกทั้งพฤติกรรมการหลบหนีของผู้ต้องหาไม่ได้เชื่อมโยงใดๆ กับจำนวนวงเงินประกัน ดังนั้นถึงจะวางเงินมากน้อย ก็คงไม่ได้การันตีว่าผู้ต้องหารายได้จะหลบหนีหรือไม่

“เงินหลักแสนหลักล้าน บางคนมองว่ามาก แต่บางคนก็มองว่าเล็กน้อย ต่อให้วงเงินประกันหลายสิบล้าน ถ้าเขาจะหนี เขาก็หนีอยู่ดี แต่ถ้าเขาไม่หนีเขาก็ยังอยู่ เมืื่อเงินไม่มีผล การสนับสนุนให้ยกเลิกวงเงินประกันคือการเอาปัจจัยเรื่องเงินออกจากระบบ” มุขเมธิน นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งศึกษาประเด็นนี้บอกกับจุดประกาย

เขาย้ำว่า จากการวิจัย ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าอะไรคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของพฤติกรรมการหลบหนี แต่ที่แน่ๆ เรื่องการหลบหนีไม่สามารถสะท้อนได้จากจำนวนเงิน ไม่สัมพันธ์กับอัตราโทษ และผู้ที่เคยมีประวัติตการหนี มีความเสี่ยงที่จะหนีอีกมากกว่าคนที่ไม่เคยหลบหนีราว 17 เท่า ส่วนคนที่ผูกพันกับท้องถิ่น เกิดและเติบโตในท้องถิ่น มีอายุพอสมควร ทำงานในท้องถิ่น คนเหล่านี้แม้จะทำผิดด้วยโทษใดก็ไม่หลบหนีง่ายๆ

“ในขั้นตอนการวิจัย เราเอาแบบประเมินความเสี่ยงไปวัด หากมีชาวบ้านถูกจับก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบถาม และสังเกตดูตามปัจจัยที่มีการศึกษา และนำปัจจัยดังกล่าวมาคำนวน เพื่อเสนอเป็นคะแนนความเสี่ยงให้กับศาล ซึ่งจะประกอบไปด้วยความเสี่ยงมากที่สุดก็ควรจะขังโดยไม่มีเงื่อนไข ระดับความเสี่ยงมากก็อาจจะมีการควบคุมโดยให้มีการใส่กำไลหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการรายงานพิกัด เสี่ยงปานกลางก็จะให้มีการปล่อยและมารายงานตัวต่อศาลเป็นระยะ แต่ถ้าเป็นเสี่ยงน้อยกับน้อยมาก ก็จะให้มีการสาบานตัวต่อศาลและปล่อยเลย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาเป็นหลักประกัน”

“เราค่อยๆ ทดลองใช้นำร่องใน 5 ศาล คือศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธ์ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทั้ง 5 ศาลได้ผลตรงกันว่าจำนวนเงินประกันไม่มีความสัมพันธ์กับการหลบหนี และจากนี้จะเพิ่มอีก 8 ศาล เป็น 13 ศาลนำร่องงานวิจัย ทั้งนี้เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า ปัจจัยใดส่งผลถึงการหลบหนีมากที่สุด เพื่อเชื่อมโยงงานด้านกฎหมายกับพฤติกรรมของมนุษย์มาช่วยพัฒนางานวิจัย”

นี่ไม่ใช่การผ่อนปรนให้กับผู้ต้องหาแน่ๆ เพราะถ้าศาลพิจารณาแล้วว่าผู้ต้องหารายนั้นไม่เข้าเกณฑ์ หรือมีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับพยาน มีความเสี่ยงสูงที่จะหลบหนี อย่างไรเสียก็จะไม่ได้สิทธิการประกันตัวอยู่ดี เป้าหมายของแคมเปญนี้จึงเป็นผู้ต้องหาในระดับความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงน้อยที่ควรมีหลักประกันอื่นที่เหมาะสม และสอดคล้องกับพฤติกรรมจริง เพื่อลดจำนวนผู้ต้องหาที่ต้องติดคุก ลดจำนวนประชากรในเรือนจำ

“ผมทำวิจัย ได้ผลสำรวจ และเชื่อในหลักการนี้ เรากำลังพูดถึงมาตรการอื่นที่ได้ผลมากกว่า”

ยิ่งเมื่อเงิน-ทรัพย์สิน เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ นั่นก็ควรจะตัดออกไปจากกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีมาตรฐานเดียว ใช้กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่มีการแบ่งชั้นทางเศรษฐกิจ

อย่าให้ความจนต้องทำลายอิสรภาพ

แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานนักก็ตามที