พบ 'หนอนตัวแบนนิวกินี' ทุกภาคทั่วไทย

พบ 'หนอนตัวแบนนิวกินี' ทุกภาคทั่วไทย

พบแพร่ระบาดของ "หนอนตัวแบนนิวกินี" ทุกภาคทั่วไทย

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) และผู้พบหนอนตัวแบนนิวกินี คนแรกของประเทศไทย ให้สัมภาษณ์เรื่องสถานการณ์ หนอนตัวแบนนิวกินี ล่าสุดว่า ขณะนี้มีรายงานการพบหนอนตัวแบนนิวกินี ที่มีการพิสูจน์ชัดเจนจากรูปภาพชัดเจนแล้ว 20 จังหวัด คือ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ชุมพร ระนอง สงขลา กรุงเทพ ปทุมธานี นนทบุรี จันทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น นราธิวาส ภูเก็ต สระบุรี อุดรธานี และ ชัยภูมิ เรียกได้ว่า ครบทุกภาค ทุกมุมของประเทศแล้ว พื้นที่ ที่พบนานที่สุดคือ เขตบางเขต กรุงเทพ จากประวัติภาพถ่ายพบเมื่อ 7 ปีก่อน

ทั้งนี้ จากการที่ข่าวการแพร่ระบาดของหนอนตัวแบนนิวกินี ทำให้มีการตื่นตัวของประชาชนและหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี นายปิยะ สมัครพงษ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ รักษาราชการแทน เกษตรจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ได้นำสื่อมวลชนดูหนอนตัวแบนที่ประชาชนพบเห็นแล้วจับส่งให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อพิสูจน์ ว่าใช่ หนอนตัวแบนนิวกินีที่เป็นข่าวหรือไม่ ซึ่งหนอนดังกล่าวมีลักษณะคล้ายหนอนตัวแบนนิวกินีที่เป็นข่าว มีสีดำอีกทั้งมีการกินหอยทากเป็นอาหารเช่นกัน โดยเกษตรกรพบในที่ชื้นบริเวณแปลงปลูกผัก ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงฤดูฝนเกษตรกรและประชาชนก็เคยมีคนพบเห็น หนอนตัวแบนสีดำลักษณะดังกล่าวอาศัยอยู่บริเวณที่ชื้นใต้กระถางต้นไม้หรือใต้เศษวัสดุในสวนผลไม้ที่มีความชุ่มชื้น และพบเห็นมานานหลายปีแล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าใช่หนอนตัวแบนนิวกินีที่มีอันตรายหรือเปล่า

โดยนายปิยะ สมัครพงษ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ รักษาราชการแทน เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การพบหนอนตัวแบนดังกล่าว มีเกษตรกรและประชาชนพบเห็นมานานหลายปีแล้วแต่ไม่มาก และไม่มั่นใจว่าใช่หนอนนิวกินี หรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ขอเกษตรกรอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่วิจัยว่าเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์ อีกทั้งหนอนตัวแบนไม่เป็นศัตรูพืช และ ยังไม่ชัดเจนเรื่องพาหะนำโรค ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรพบเห็นก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง และหากจะกำจัดก็สามารถนำน้ำร้อน หรือเกลือโรยลงที่ตัวหนอน หนอนก็จะตาย อย่าสับหรือแยกชื้นส่วนเพราะหนอนตัวแบนมี 2 เพศในตัวเดียวกันและสามารถขยายพันธุ์ได้อีก