'ผู้ว่าฯธีธัช'ปัดลาออก รมว.เกษตรฯชง'บิ๊กตู่'ใช้ม.44สั่งปลด

'ผู้ว่าฯธีธัช'ปัดลาออก รมว.เกษตรฯชง'บิ๊กตู่'ใช้ม.44สั่งปลด

"ผู้ว่าฯกยท." ปัดแสดงสปิริตลาออก ด้าน "รมว.เกษตรฯ" ชงนายกฯใช้ม.44สั่งปลดพ้นตำแหน่ง หวังยุติศึกยางพารา

แกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ยังคงร่วมชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์วานนี้ (13พ.ย.) ตามนัดหมาย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากนโยบายการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และการจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพารา จำกัด แม้ว่าแกนนำบางส่วนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้จะงดการเข้าร่วมชุมนุมกะทันหัน หลังจากถูกทหารนำตัวเข้าหารือในค่ายทหารก็ตาม

ในการชุมนุมครั้งนี้แกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จากหลายจังหวัด กว่า 50 คน ร่วมกันนำพวงหรีด 3 พวงมาวางเพื่อไว้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไว้อาลัยต่อการบริหารยางที่ล้มเหลวของกระทรวงเกษตรฯ และบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด มีทั้งตำรวจ และทหารจากกองทัพภาค1 กว่า 100 นาย มายืนเป็นแนวขวางบันได เพราะเกรงว่าเกษตรกรจะขึ้นไปชั้นบน ขณะเดียวกันมีความพยายามห้ามสื่อมวลชนถ่ายภาพ โดยอ้างว่าหากมีการนำเสนอภาพการวางพวงหรีดจะมีความผิดถึงติดคุก 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ได้เดินลงมารับหนังสือและรับฟังข้อเรียกร้องจากแกนนำเครือข่าย ที่นำโดยนายสุรัตน์ เทือกสุบรรณ แกนนำเครือข่ายฯ จ.สุราษฎร์ธานี และนายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขาธิการเครือข่ายฯ โดยนายสุรัตน์ กล่าวว่าเป็นการมาบอกให้ทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนชาวสวนยาง ยืนยันว่ากลุ่มของตนเองไม่ได้มาไล่รัฐมนตรี แต่มาขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบอร์ดและผู้ว่าการกยท. ทำงานมา 2 ปี แต่ไม่สนองตอบการแก้ไขปัญหา หรือมีมาตรการช่วยเหลือ เกษตรกรเข้าถึงยากมาก จัดการเรื่องยางล้มเหลว จึงขอเรียกร้องให้รมว.เกษตรฯสั่งพักงาน บอร์ดกยท. และให้ยกเลิกบริษัทร่วมทุนกับเอกชน วงเงิน 1.2 พันล้านบาท ที่อาจนำเงินไปแทรกแซงหรืออาจไม่มีการหมุนเวียนยางจริง ซึ่งเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ รวมทั้งอยากขอให้นายกฯใช้อำนาจมาตรา 44 นำยางไปใช้ในประเทศ ตามที่ตั้งเป้าไว้ 1 แสนตัน จะดึงยางออกจากตลาดได้ 20% ทำให้เกิดสมดุลในตลาด

ขณะที่ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท) พร้อมตัวแทนเกษตรกรสวนยางภาคใต้ตอนบน ได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ปลดบอร์ดและผู้ว่าฯกทย.เช่นกัน พร้อมนำ 50,000 รายชื่อ สนับสนุน และเสนอให้นายกฯใช้มาตรา44 สั่งให้ทุกหน่วยงานใช้ยางยกระดับราคายาง
ขณะที่นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศพ.ศ.2558 ขึ้นมาโดย กยท.เป็นผู้กำกับดูแล ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การบริการจัดการเรื่องยางถือว่าล้มเหลว เพราะการออกนโยบายแก้ไขปัญหายางพาราต่างๆ ไม่ตรงจุด ราคายางพาราดิ่งลงเรื่อยๆ และอำนาจการกำหนดราคาไปอยู่กับพ่อค้า ฉะนั้นจึงมาเสนอข้อเรียกร้องเพื่อให้ พล.อ.ฉัตรชัย ช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตร โดยการสั่งพักงานผู้ว่ากยท. และให้กยท.ยกเลิกบริษัทร่วมทุนกับผู้ส่งออกยางรายใหญ่ 5 บริษัท เงินทุนทั้งหมด 1,200 ล้านบาท

ด้านพล.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยภายหลังจากการรับฟังข้อเรียกร้องจากกลุ่มสวนยาง ว่าเกษตรกรที่เดินทางมี 2 กลุ่ม คือ สยยท. ได้เรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.การรับซื้อยางไม่ถูกต้องไม่โปร่งใส ซื้อเฉพาะของกลุ่มตัวเอง และซื้อในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง 2.การเก็บยางในสต็อกไม่ถูกวิธี และ3.ความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อปุ๋ยให้กับเกษตรกร แพงกว่าราคาท้องตลาดถึง 2 บาทต่อกิโลกรัม และมีความล่าช้า จึงอยากให้พิจารณาปลดนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ออกจากตำแหน่ง

ส่วนชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. เลิกดำเนินเข้าซื้อยาง ผ่านบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด และให้กยท.เป็นผู้ดำเนินการเอง 2.เน้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ 3.สั่งพักงานนายธีธัช

ทั้งนี้ ได้ชี้แจงกับตัวแทนเกษตรกรว่า กระทรวงเกษตรฯ จะได้เชิญนายธีธัช และพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท. เข้าหารือเป็นการด่วนในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งในส่วนข้อกล่าวหานายธีธัช เรื่องความโปร่งใส ในการปฏิบัติหน้าที่ ได้สั่งการให้พล.อ.ฉัตรเฉลิม จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของนายธีธัช โดยให้เวลาภายใน 7 วัน จากนั้นถึงจะมีการดำเนินการตามผลการตรวจสอบ

ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของนายธีธัช ถือว่าอยู่ภายในพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย การดำเนินการตรวจสอบจึงต้องผ่าน บอร์ดกยท. ซึ่งจะมีการประเมินผลงานเป็นประจำอยู่แล้ว หากไม่ผ่านการประเมินก็ต้องเลิกจ้าง

อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาพล.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยว่ากรณีเกษตรกรเรียกร้องให้ปลดนายธีธัช ออกจากตำแหน่ง จะนำไปหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าควรจะใช้มาตรา 44 ได้หรือไม่ เนื่องจากการปลดนายธีธัช เป็นหน้าที่ของบอร์ด กยท. ที่จะต้องตั้งคณะกรรมการประเมินผลการทำงานก่อซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน

พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าวภายหลัง เข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย ว่าได้ชี้แจงข้อเสนอของเกษตรกรใน 6 ข้อเกี่ยวกับการบริหารจัดการยางของ กยท. ที่เกษตรกรไม่พอใจ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 วันเท่านั้น เนื่องจากเป็นเรื่องเก่า ไม่ต้องใช้ระยะเวลาการพิจารณานาน

ขณะที่นายธีธัช กล่าวว่าในวันนี้การบริหารจัดการยางพาราทำได้ตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งหลักการ เหตุผล กลไกตลาดเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาได้ตลอดเวลา แต่เป้าหมายเพื่อพยุงราคายางพารานั้นยังคงดำเนินการต่อ และคงไม่ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมาการทำงานสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ และการประชุมล่าสุดของบอร์ด กยท. เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้กยท.ดำเนินงาน บริษัทร่วมทุนยางพารา ต่อไป

“ที่ให้แสดงสปิริตลาออก ผมคนทำงานไม่เข้าใจว่าจะทำเพื่ออะไร เพราะทุกอย่างยังคงดำเนินการได้ตามกลไก ที่ผ่านมา ผมก็ทำงานเป็นปกติดีทุกอย่าง แต่ต่อไปเมื่อมีข้อเรียกร้องจากเกษตรกรชาวสวนอาจมีการปรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการราคา และสต็อกยางพารา” นายธีธัช กล่าว

ภาพ-raot.co.th