ส่อง "บิ๊กดาต้าภาครัฐ" บริบทใหม่สู่ดิจิทัล4.0

ส่อง "บิ๊กดาต้าภาครัฐ" บริบทใหม่สู่ดิจิทัล4.0

หนทางการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลโดยมีรูปแบบการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน และเป็นอี-กอฟเวอร์เมนท์แบบเต็มรูปแบบนั้น จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานกลางสำหรับการผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม

ภายในงานสัมมนา “Digital Government Summit2017 ” ที่ผ่านมา มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง โดย “นายศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เปิดเผยว่า ผลการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในภาพรวมของประเทศไทยประจำปี 2560 เบื้องต้นพบว่าหน่วยงานภาครัฐระดับกรมได้ค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 57.2 

โดยคะแนนสูงสุดอยู่ที่มิติด้านศักยภาพเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิทัลและหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัดได้ค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 36.9 มิติด้านการบริหารจัดการภายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ค่าคะแนนสูงสุด เป็นความท้าทายของรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล

ขั้นต่อจากนี้ สรอ.เองจะเร่งสร้างความชัดเจนในการนำประเทศไทยเข้าสู่ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นทั้งในด้าน คน กระบวนการ และกฎหมาย อาทิ การนำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โปรแกรม ของสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ ปรับเปลี่ยนบุคลากรภาครัฐ ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในทักษะทางด้านดิจิทัล 2 ประการคือต้นแบบบริการใหม่โดยใช้หลักการออกแบบกระบวนการความคิด (Design thinking )

พร้อมก้าวสู่บทบาทใหม่

ด้านบทบาทใหม่ของ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามมีมติค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 เป็น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร.สำหรับขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลคล่องตัวยิ่งขึ้น ภายในปีหน้าจะมีโครงการใหม่เกิดขึ้น อาทิ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล ศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลแห่งชาติจะเปลี่ยนเป็นระบบโครงข่ายภาครัฐที่มีความปลอดภัยสูง

เขากล่าวว่า ทั้งหมดนี้จะมีการสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิด (โอเพ่น แพลตฟอร์ม) ที่มีความเสถียรและฉลาด ก็จะทำให้ปีของข้อมูลกลายเป็นความเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่อย่างจริงจังมากขึ้น การเปลี่ยนให้นั้น สพร.มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนา บริหารจัดการ และให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการให้บริการหรือแอพพลิเคชันพื้นฐาน จัดทำมาตรฐาน มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการทางเทคโนโลยีดิจิทัล และกระบวนการดำเนินงาน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ

“ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการทำงานเดิมของกระทรวงดีอี เนื่องจากสพร.นอกจากจะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล แล้ว รัฐมนตรีดีอีก็ยังเป็นคณะกรรมการในชุดนี้ด้วย ดังนั้นการทำงานทุกอย่างจะยังคงเหมือนเดิม”

ดึงโมเดลจากต่างประเทศ

นายศักดิ์ กล่าวอีกว่า การขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นจะช่วยทำให้ลดขั้นตอนการประสานงานและการบูรณาการข้อมูลระหว่างภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลได้เร็วขึ้น โดยสพร.จะเป็นหน่วยงาน วัน สต็อป เซอร์วิส ที่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐได้คล่องตัว ซึ่งรูปแบบองค์กรด้านนี้เป็นเรื่องที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ หรือ ออสเตรเลีย ต่างก็ทำกัน เพราะบทบาทของสพร.จะต้องดูทุกเรื่องที่เกี่ยวกับดิจิตอลไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ สพร.ยังสามารถเข้าถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน หรือเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสพร.ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนฉบับใหม่ที่ระบุเนื้อหาดังกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้