ชี้ขอนแก่นไม่มีแผนแก้ปัญหาน้ำ เสนอทางออกแต่รัฐไม่สนใจ

ชี้ขอนแก่นไม่มีแผนแก้ปัญหาน้ำ เสนอทางออกแต่รัฐไม่สนใจ

นักวิชาการ มข. ชี้ขอนแก่นไม่มีแผนแก้ปัญหาน้ำที่เป็นระบบ เคยนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาตามหลักวิศวกรรมศาสตร์แล้ว แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่สนใจ ผ่านมาจึงทำได้เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

จากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดขอนแก่น ส่งผลให้พื้นที่ติดลุ่มน้ำพอง ลำน้ำชี มีน้ำล้นตลิ่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านน้ำเข้าท่วมบ้านเรือน ได้รับความเสียหาย จนกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขในระยะยาว

ทำให้สถาบันแหล่งน้ำและและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีพูดคุยเรื่องแนวทางการป้องกันน้ำม่วมในจังหวัดขอนแก่น ตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ขึ้น โดยมีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความสนใจ เรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำแล้ง และน้ำท่วมทั้งระบบ ทั้ง ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์, ผศ.ดร.กิตติเวช ขันติยวิชัย ผู้อำนวยการสถาบันแหล่งน้ำและและสิ่งแวดล้อม, ผศ.ดร.วิเชียร ปลื้มกมล ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยนายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมรับฟัง

ผศ.ดร.กิตติเวช กล่าวว่า สถาบันแหล่งน้ำและและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการมานานกว่า 30 ปีแล้ว มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษา การจัดการน้ำตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับการยอมรับและมีความร่วมมือจากนานาชาติ ที่ผ่านมากลับพบปัญหาเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วมใน จ.ขอนแก่น ส่วนหนึ่งมาจากภัยพิบัติตามธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ส่งผลทำให้แล้งจัด หรือน้ำท่วม ส่วนสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำไม่เป็นระบบ ขาดรูปแบบการจัดการน้ำที่ชัดเจน ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมาควบคุมสิ่งก่อสร้าง ซึ่งพบว่าการขยายตัวของเมือง ทำให้มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ทั้งบ้านเรือน ที่พักอาศัย การวางโครงข่ายการคมนาคมที่กีดขวางทางน้ำ ที่ส่งผลให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ เศรษฐกิจได้รับความเสียหาย มีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างขึ้น

“การแก้ปัญหาไม่มีการวางแผนระยะยาว มีเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะทีไป ทำให้รูปแบบการแก้ปัญหาเป็นแบบเดิมๆ ไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ปัจจุบันการแก้ปัญหาขาดหลักฐานทางวิชาการเชิงวิศวกรรมที่นำไปวางแผนตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำ ที่ผ่านมาได้มีการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ที่สามารถนมาคาดการณ์ผลกระทบและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยแบบจำลองจะสร้างเลียนแบบลักษณะการไหลของน้ำในสภาพจริง วิเคราะห์ลักษณะเส้นทางการไหลของน้ำ ว่าหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม จะมีการรับมือได้อย่างไรบ้าง รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็น ประเด็นที่ยากต่อการคาดเดา ที่ไม่สามารถรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อนแล้วจึงมารับมือ ที่ผ่านมาหลักฐานทางวิชาการนี้ไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่เพื่อประกอบการตัดสินใจแต่อย่างใด”ผศ.ดร.กิตติเวช กล่าว

ด้านนายเข็มชาติ กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทางจังหวัด เนื่องจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำต้องมีการวางแผนอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการพัฒนาเมือง ในโอกาสหน้าจะได้นำเสนอให้นักวิชาการ นักวิจัย เข้าร่วมประชุม กรอ. หรือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะให้จังหวัดได้ทำหนังสือเชิญเข้าร่วม เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไข การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีปัญหาในประเด็นใดที่ต้องได้รับหารการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มองเห็นแนวทางการแก้ปัญหา แล้วนำไปสู่การบรรเทาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้