เชนไทยลุย'เวียดนาม-ฟิลิปปินส์'ปั้นฐานตลาดใหม่

เชนไทยลุย'เวียดนาม-ฟิลิปปินส์'ปั้นฐานตลาดใหม่

กลุ่มทุนและกลุ่มการท่องเที่ยวต่างเริ่มมองหาจุดหมายใหม่ และ “ไทย” ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ได้รับอานิสงส์ แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีตลาดใหม่มาแรงที่ต้องจับตา โดยเฉพาะ "เวียดนาม" และ "ฟิลิปปินส์" กำลังเนื้อหอมสำหรับกลุ่มทุนโรงแรมจากไทย

กมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ประกอบการแถวหน้าของไทยที่บุกเบิกตลาดไปฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงแรมในฟิลิปปินส์่เปิดบริการ 2 แห่ง กำลังจะเปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง โฟกัสพื้นที่กรุงมะนิลา และ เซบู ที่ต่างมีจุดเด่น คือ ตลาดผสมผสานทั้งนักเดินทางเชิงธุรกิจและนักท่องเที่ยว ภายในเมืองมีการจัดโซนนิ่งชัดเจน ทำให้สามารถเปิดโรงแรมได้หลายสาขาแม้จะอยู่ในเมืองเดียว เมื่อผสานกับจุดแข็งของฟิลิปปินส์ที่มีประชากรกว่า 100 ล้านคน ทำให้โอกาสในการลงทุนสดใส

แม้ช่วงที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์จะมีกระแสความไม่สงบทางการเมืองในดาเวา แต่ไม่กระทบต่อพื้นที่ที่เข้าไปขยายกิจการ เนื่องจากภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะและมีความห่างไกลจากเมืองหลวงที่เป็นหลักทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คล้ายกับสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย ที่ไม่มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของทั้งประเทศ

การเปิดธุรกิจโรงแรมในฟิลิปปินส์ ลูกค้า  60-65% เป็นตลาดในประเทศ จึงไม่ได้รับความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ขณะที่ตลาดต่างประเทศเริ่มขยายตัวแข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นจุดหมายการลงทุนที่มาแรง โดยเฉพาะเกาหลีใต้ อเมริกา และจีน ที่เข้ามาขยายธุรกิจรองรับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต

ดังนั้น อัตราเข้าพักเฉลี่ยโรงแรมในฟิลิปปินส์ที่ผ่านมาจึงอยู่ในเกณฑ์สูงถึง 80% เช่นเดียวกับการตั้งราคาเฉลี่ยที่ได้ "สูงกว่า" โรงแรมในระดับเดียวกันของไทย ตามแผน 5 ปีของบริษัทที่จะสิ้นสุดในปี 2563  คาดว่าจะมีโรงแรมในฟิลิปปินส์ 10-12 แห่ง ภายใต้แบรนด์หลัก ฮ็อป อินน์ ที่ใช้เจาะตลาดระดับกลาง ซึ่งเมื่อสำเร็จตามแผน จะช่วยผลักดันสัดส่วนรายได้จากโรงแรมต่างประเทศให้ถึง 10% และสัดส่วนกำไร 13% เนื่องจากพื้นที่ฟิลิปปินส์สามารถทำรายได้และกำไรได้ดีกว่าไทย

“จากการสำรวจก่อนลงทุนทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์น่าสนใจ ขณะนี้เวียดนามเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจ ธุรกิจโรงแรมจึงเริ่มดีขึ้น แต่ในระยะ 3 ปี ดิ เอราวัณ มุ่งไปฟิลิปปินส์ เพราะโรงแรมขาดแคลนมากในทุกเซ็กเมนต์ เหมาะที่จะนำความเชี่ยวชาญตลาดระดับกลางไปเปิดตลาด เพราะสามารถตอบสนองลูกค้าในประเทศที่เป็นฐานใหญ่ได้ดีที่สุด”

ขยับมาที่ “เวียดนาม” ซึ่งไม่เพียงแต่มีเชนใหญ่จากไทยอย่าง ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล, เซ็นทารา, ไมเนอร์ โฮเทลส์ กรุ๊ป หรือ ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ เท่านั้น แต่ตลาดที่เริ่มกลับมาแข็งแกร่ง ยังเปิดกว้างให้กับบริษัทในทุกระดับเข้าไปแสวงหาโอกาสทั้งนี้

เควิน บูเวส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินวิชั่น ฮอสพิทาลิตี้ กล่าวว่า ได้เซ็นสัญญาเข้ารับบริหารจัดการโครงการ Scenia Bay Complex ที่นาตรัง ของเวียดนาม มูลค่าการลงทุนกว่า 93.4 ล้านดอลลาร์ ราว 3,000 ล้านบาท เป็นคอมเพล็กซ์มีพื้นที่กว่า 7,666 ตร.ม. ห้องพักคอนโด 700 ห้อง และห้องพักโรงแรมอีก 270 ห้องที่ต้องใช้แบรนด์ “โกลว์” ในเครืออินวิชั่นเข้าบริหาร คาดว่าจะเปิดบริการได้ภายในปี 2563

ทั้งนี้ถือเป็นโครงการลำดับที่ 5 ในเวียดนาม ต่อจากโรงแรมอีก 4 แห่งในดานัง, โฮจิมินห์ ซิตี้, ฮอยอัน หลังจากที่วางกลยุทธ์การขยายธุรกิจ สร้างฐานเติบโตจากไทยตั้งแต่ปี 2550 แล้วกระจายสู่อาเซียน โดยมีเวียดนามและมาเลเซียเป็นเป้าหมายหลักขณะนี้

อย่างไรก็ตาม การรุกตลาดทำเลใหม่ๆ ผู้รับบริหารต้องศึกษาตลาดและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบคอบ

อัญชลิกา กิจคณากร ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ อัคริณโฮเทลกรุ้ป กล่าวว่า ขณะนี้มีแผนจะเพิ่มการรับบริหารโรงแรมในเวียดนาม 2 แห่ง ที่ ฮอยอัน และดานัง  ขนาดเฉลี่ย 300 ห้อง มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2563 ทั้งนี้ ยังคงพิจารณาเรื่องปัจจัยด้านจำนวนห้องพักในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจจะล้นเกินปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไป

“ตลาดคอนโดเทลในเวียดนามกำลังเติบโตขึ้นมาก แต่ละแห่งพัฒนาด้วยจำนวนยูนิตสูง แต่ความเสี่ยงที่สังเกตและต้องจับตา คือ การวางโปรแกรมบริหารโดยให้เจ้าของห้องปล่อยเช่านักท่องเที่ยว และการันตีผลตอบแทนไว้ด้วย ในอนาคตอาจมีปัญหาหากซัพพลายล้นตลาด ราคาห้องพักจะตกต่ำลง และทำให้ยากที่จะได้ผลตอบแทนเท่าที่สัญญาไว้”

สิ่งที่ต้องจับตาอีกเรื่อง คือ ธนาคารปล่อยกู้บริษัทที่พัฒนาโครงการและลูกค้าที่มาซื้อในอัตราสูง ยิ่งกลายเป็นความเสี่ยงในแง่การเงินมาก ขณะที่เจ้าของโครงการยังขาดความชำนาญในด้านการบริหารโรงแรม จึงทำให้ต้องการบริษัทรับบริหารจากต่างประเทศเข้าไปช่วยทำให้โครงการอยู่รอดได้