ทางรอด ‘เอสเอ็มอี’ บนการค้าไร้พรมแดน

ทางรอด ‘เอสเอ็มอี’ บนการค้าไร้พรมแดน

แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เพิ่มความเป็นไปได้ให้กับการค้าขายแบบไร้พรมแดนบนโลกออนไลน์ ทั้งเปิดทางสู่ความสำเร็จได้โดยไม่ยากเกินความสามารถมนุษย์ ทว่าทุกการทำงาน ทุกธุรกิจย่อมมีข้อจำกัดที่จำเป็นต้องก้าวข้าม

สำหรับธุรกิจ เอสเอ็มอี” ต้องยอมรับว่ากว่าจะประสบความสำเร็จต้องผ่านเรียนรู้ เผชิญหลากหลายปัญหาและอุปสรรค หนึ่งในนั้นคือ การจัดการศุลกากรในการส่งสินค้าระหว่างประเทศ

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย กล่าวว่า กระบวนการและกฎระเบียบศุลกากรในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป เอสเอ็มอีจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหาความล่าช้าและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไม่ปฏิบัติตามกฏระเบียบ

ต้องเข้าใจกระบวนการ

ทุกวันนี้ สินค้าที่จัดส่งข้ามพรมแดนของไทยจะต้องผ่านการตรวจสอบและชั่งน้ำหนักที่ด่านศุลกากร รวมถึงการจัดทำเอกสารและชำระค่าธรรมเนียมและภาษี รายละเอียดของกระบวนการเหล่านี้มีความแตกต่างและหลากหลาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจัดส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยที่ยังไม่ชินกับกระบวนการทางศุลกากรที่ซับซ้อน

คำถามคือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจยังไม่เข้าใจกระบวนการเหล่านี้ที่ผ่านมาการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบจะนำไปสู่ปัญหาความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าและค่าปรับที่สูงมาก ทั้งยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อลูกค้า 

ดังนั้นธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยที่ดำเนินการนำเข้าและส่งออกสินค้าควรเข้าใจทั้งกระบวนการทางศุลกากรในประเทศของตนและประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของสินค้าด้วย

“เอสเอ็มอีจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางศุลกากรสำหรับสินค้าแต่ละประเภท เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคในการจัดส่งสินค้า”

ก้าวให้ทันกฏ

ชนัญญารักษ์แนะว่า เพื่อก้าวให้ทันกับกฏระเบียบทางศุลกากร ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถปรับใช้แนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้ ประการแรก “จำแนกประเภทของสินค้าที่จัดส่งอย่างถูกต้อง 

ด้วยปัญหาสำคัญที่สุดที่ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยต้องเผชิญในการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศคือ ความรู้ที่ไม่เพียงพอเกี่ยวกับการจำแนกประเภทของสินค้าตามกฎระเบียบศุลกากร การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นที่ต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized Commodity Description and Coding Systems หรือ HS Code)

ทั้งนี้ HS Code เป็นระบบจำแนกประเภทที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยกำหนดมาตรฐานสำหรับการจำแนกประเภทของสินค้าบางอย่าง รวมถึงอัตราภาษีอากรที่จะต้องชำระ

แม้ว่ารหัสสินค้า HS Code ครอบคลุมรหัส 6 ตัวแรก แต่บางประเทศอาจใส่รหัสเพิ่มเติมเพื่อระบุอัตราภาษีท้องถิ่นสำหรับสินค้าบางประเภท หากเอสเอ็มอีไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว เช่น จ่ายภาษีในอัตราต่ำกว่าที่ควรจะเป็นก็อาจถูกลงโทษหากมีการตรวจพบ

ความรู้เกี่ยวกับระบบ HS Code ตอกย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการทางศุลกากรที่ถูกต้อง และเอสเอ็มอีควรใช้เครื่องมือผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

รู้รอบก่อนเสียหาย

อีกประการสำคัญ ระบุมูลค่าทางศุลกากรที่ถูกต้องสำหรับสินค้าที่จะส่งออก หลังจากที่ระบุรหัส HS Code ที่ถูกต้องสำหรับสินค้าแล้ว เอสเอ็มอีต้องดำเนินการประเมินมูลค่าทางศุลกากร เพื่อระบุอัตราภาษีสำหรับสินค้านั้นๆ ชนิดของภาษีไม่ว่าจะเป็นแบบเฉพาะเจาะจงหรือตามมูลค่าขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและประเทศปลายทาง

มูลค่าทางศุลกากรของสินค้าที่จัดส่งไม่ใช่ราคาที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้า เพราะจะต้องคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและปัจจัยอื่นๆ ด้วยเช่นกัน มีหลายวิธีในการประเมินมูลค่าทางศุลกากรอย่างเหมาะสม และเอสเอ็มอีควรจะตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญทางศุลกากรและโลจิสติกส์ เพราะการประเมินมูลค่าสินค้าอย่างไม่ถูกต้องจะทำให้ต้องเสียค่าปรับที่สูงมาก ทำให้สินค้าถูกระงับและไม่สามารถส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้

นอกจากนี้ ระบุประเทศต้นทางที่ถูกต้องของสินค้า การจัดส่งสินค้าผ่านหลายประเทศก่อนจะถึงปลายทางทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำเป็นที่จะต้องระบุประเทศต้นทางของการจัดส่งสินค้าไว้ในเอกสารศุลกากรอย่างชัดเจน และข้อมูลนี้จำเป็นสำหรับเอสเอ็มอีในการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าและสิทธิพิเศษสำหรับสินค้าบางประเภท ซึ่งอาจช่วยลดหรือยกเว้นอัตราภาษีศุลกากร

ในทำนองเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประเทศต้นทางของการจัดส่งสินค้า เพื่อตรวจสอบโควต้า การติดฉลาก หรือมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดภายในประเทศ เอสเอ็มอีที่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดสำหรับสินค้าที่จะจัดส่ง หรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับเอกสารควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทันที

เดินอย่างถูกต้อง

เธอกล่าวต่อว่า ด้านอื่นๆ ควรมีความเข้าใจ "ข้อกำหนดของประเทศปลายทาง ปัจจัยอื่นๆ ในประเทศปลายทางอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการและการเดินพิธีการศุลกากร ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดการออกใบอนุญาตจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งเอสเอ็มอีสามารถเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศปลายทางโดยอาศัยความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ

การระบุข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสินค้าที่จัดส่งแทนที่จะใช้คำอธิบายทั่วไปจะช่วยลดความกำกวมระหว่างการตรวจสอบและประเมินมูลค่าทางศุลกากร

ตัวอย่างเช่น แทนที่จะระบุฉลากสินค้าว่าเป็น “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์” เอสเอ็มอีควรจะระบุว่าเป็น “สินค้าที่ประกอบด้วยชิปคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์” ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรในการตรวจสอบเอกสาร เช่น รหัสสินค้า HS Code ฯลฯ สินค้าบางอย่างเช่น อาหาร และพืช ถูกระบุว่าเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงและจะต้องมีการเปิดให้ตรวจสอบ (Red Line) การระบุฉลากอย่างเหมาะสมจะช่วยสร้างความโปร่งใส และเร่งกระบวนการตรวจสอบและการออกสินค้า

โลกของการค้าระหว่างประเทศอาจเปรียบเสมือนระเบิดเวลาสำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่ปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับอย่างถูกต้อง แต่หากเมื่อมั่นใจได้ว่าการจัดส่งสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรอย่างราบรื่น ก็จะสามารถให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจสู่ช่องทางใหม่ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ