‘ฟโล’ดีไซน์ลูกผสม แบรนด์เล็กรุกตลาดใหญ่

‘ฟโล’ดีไซน์ลูกผสม  แบรนด์เล็กรุกตลาดใหญ่

“ฟโล” (Flo) เฟอร์นิเจอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการผสมผสานงานไม้และเหล็ก ล่าสุดดึงดีไซเนอร์ญี่ปุ่นสร้างคอลเลคชันใหม่ปูพรมตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้จนถึงราวแขวนเสื้อ หวังตอบโจทย์ลูกค้าครอบคลุมทั้งที่อยู่อาศัยและโคเวิร์กกิ้ง สเปซ

“ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์มีตั้งแต่ 18 ปีไปจนถึง 60 ปี ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นช่วงอายุที่กว้าง เพราะไม่ได้นำตัวเลขอายุมาเป็นกรอบ แต่เป็นกลุ่มคนที่สนใจงานออกแบบพร้อมเปิดรับแนวความคิดใหม่ๆ เป็นกลุ่มคนที่ใส่ใจในรายละเอียดของการดำเนินชีวิต ต้องการความแตกต่าง และสนใจชิ้นงานที่สามารถสื่อสารความเป็นตัวตนของตนเอง จากประสบการณ์ในการพบปะลูกค้า ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าไลฟ์สไตล์และความต้องการเหล่านี้ไม่ได้เป็นเฉพาะคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่สามารถพบได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยเกษียณ” นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการออกแบบฟโล เฟอร์นิเจอร์

ผสมผสานวัสดุไม้-เหล็ก

จุดเริ่มต้นแบรนด์ฟโลมาจากการต่อยอดวิทยานิพนธ์ปริญญาตรี ในสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยนรุตม์ ทายาทโรงงานเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่ของเมืองไทย ที่ตัดสินใจสร้างแบรนด์เฟอร์นิเจอร์นี้ตั้งแต่ปี 2557 หลังจากศึกษาข้อมูล พบว่า เฟอร์นิเจอร์ในไทยกำลังถูกตีตลาดจากประเทศจีนและไม่สามารถแข่งขันทางราคาจึงขยับไปหาตลาดเซกเมนต์ใหม่ ที่ลูกค้าพร้อมจ่ายให้กับเฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์รูปแบบใหม่และ ใช้วัตถุดิบดีขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งที่มีวัตถุดิบไม้ เหล็กและเบาะอยู่ในโรงงานเดียวกัน รวมทั้งทีมช่างที่มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ผสมผสานระหว่างวัสดุไม้กับเหล็กได้อย่างลงตัว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาทำงานที่บ้านมากขึ้นโดยเน้นรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ที่นิยมใช้ในโคเวิร์คกิ้งสเปซ โฮมออฟฟิศ ร้านกาแฟ ที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี

4 ปีที่ผ่านมา ผลการตอบรับจากลูกค้าดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการร่วมงานแสดงสินค้า การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ เป็นผลมาจากการค้นหาความต้องการของผู้บริโภค ทำให้สามารถออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักมาจากกลุ่มที่พักอาศัย 40% ร้านกาแฟ 20 % โคเวิร์คกิ้งสเปซ 20% ที่เหลือ 10% มาจากการส่งออกและร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ความท้าทายในการทำงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ คือเมื่อขนาดเล็กลง ความแข็งแรงจะยังคงอยู่หรือไม่ ต้องเรียนรู้ ทดสอบและพัฒนาจนเกิดความมั่นใจในโรงงาน ก่อนนำออกไปจำหน่าย แต่ในอนาคตจะใช้บริการทดสอบของหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้น”

สำหรับแนวทางการทำตลาดจะจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบ หลังจากที่ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ Ecole Cantonale d’art de Lausanne(ECAL) สวิตเซอร์แลนด์ ทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์และโรงงานที่มีชื่อเสียง เรียนรู้เทคนิคจากช่างฝีมือที่เก่าแก่ และดีไซเนอร์จากทวีปยุโรปในการพัฒนาทักษะด้านการออกแบบ พร้อมนำเทคนิคที่ได้มาปรับใช้กับแบรนด์ฟโลให้แข็งแกร่งและยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตในโรงงาน 50% จาก 30% ในปัจจุบัน

ดีไซน์นอกสร้างความเด่น

นรุตม์ยังให้ความสำคัญกับการเลือกดีไซเนอร์มาทำงานให้กับแบรนด์ มีทั้งมาจากฝรั่งเศสและอิตาลี ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ล่าสุดได้ “ฮิโรยูกิ โมริตะ” ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมงาน เพื่อสร้างความหลากหลายของงานออกแบบแทนการออกแบบงานเพียงคนเดียว โดยให้นักออกแบบคนอื่นร่วมตีความคอนเซปต์ของแบรนด์แล้วออกแบบ

คอนเซปต์คอลเลคชันล่าสุดใช้ชื่อว่า ออฟเซ็ต ประกอบด้วย เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด 12 ชิ้นครบ ตั้งแต่เก้าอี้ โต๊ะ ม้านั่งยาวจนถึงราวแขวนเสื้อ ผสมผสานกลิ่นอายไม้โอ๊คและไม้แอชที่ตัดกับโครงสร้างเหล็กเคลือบพาวเดอร์โค้ดสีดำทำให้ดูโดดเด่น

“ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะร่วมงานกันต่อไปในอนาคต ในการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ พัฒนาและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง ที่สำคัญทำให้แบรนด์มีดีไซน์ที่แตกต่าง ทั้งสามารถลดการทำงานออกแบบแล้วใช้เวลากับการบริหารจัดการเรื่องอื่น และเป็นการสร้างคอนเนคชันเพื่อที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับลูกค้าในอนาคต”

ปัจจุบันมีตัวแทนจากญี่ปุ่นนำสินค้าไปจำหน่ายในโอซาก้า อีกทั้งส่งออกไปฮ่องกง เกาหลี อินเดียและเนเธอร์แลนด์ นรุตม์ยังต้องการขยายฐานตลาดส่งออกด้วยการร่วมงานแสดงสินค้าในสิงคโปร์ เพื่อเปิดตัวสร้างการรับรู้ในลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น ส่วนตลาดในประเทศกำลังจะขยายไปสู่โครงการอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมที่สัดส่วนรายได้มาจากช่องทางออนไลน์ถึง80%