เกษตรฯเปิดแผนบริหารน้ำ เก็บ4เขื่อนหลักรับมือแล้ง

เกษตรฯเปิดแผนบริหารน้ำ เก็บ4เขื่อนหลักรับมือแล้ง

(รายงาน) เกษตรฯเปิดแผนบริหารน้ำ เก็บ4เขื่อนหลักรับมือแล้ง

หากยังจำกันได้ถึงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ในครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 จากภัยพิบัติที่เกิดทั่วโลก 78 ครั้งในรอบ 10 ปี (2551-2560)

มาถึงครั้งนี้ในปี 2560 ที่เกิดอุทกภัยตั้งแต่เดือนก.ค. มาจนถึงปัจจุบัน พบว่าพื้นที่การเกษตรเสียหายโดยสิ้นเชิง ด้านพืช ประมาณ 3.41 ล้านไร่ คิดเป็น 27.90% ของพื้นที่เสียหายในปี 2554 โดยเกษตรกรได้รับความเสียหาย 429,768 ราย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าในช่วงฤดูฝนปี 2560 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน ตาลัส เซินกา พายุไต้ฝุ่นทกซูรี และพายุดีเปรสชั่น ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนรวมสะสม 1,771 มิลลิเมตร จากข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2560

เมื่อเปรียบกับเวลาเดียวกันของปี 2554 พบว่ามีปริมาณน้ำฝนรวมสะสม ที่ 1,798 มิลลิเมตร นับว่ามีปริมาณใกล้เคียงกัน แต่รัฐบาลได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ล่วงหน้าแล้ว ในช่วงก่อนน้ำมา และระหว่างน้ำมา ทำให้ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดกับประชาชนไม่ขยายเป็นวงกว้าง

โดยในช่วงก่อนที่น้ำจะมา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้พัฒนาเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ แก้มลิง ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ จำนวน 5,016 โครงการ สามารถรับน้ำได้ 1,579 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง และขนาดกลาง 248 แห่ง วางแผนการระบายน้ำฤดูฝน ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกพืช ทุ่งบางระกำ ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างใต้ จ.นครสวรรค์ เตรียมให้เป็นทุ่งรับน้ำหลาก 12 ทุ่ง รับน้ำได้กว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม.

รวมทั้งระดมกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในทุ่งเจ้าพระยา 8.65 แสนตัน และเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกลเอาไว้อย่างทันการณ์

ขณะเดียวกันในระหว่างที่น้ำมา ได้บริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก ใช้เขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ หน่วงน้ำเอาไว้ พร้อมยกระดับน้ำเหนือเขื่อนเรศวรและเขื่อนเจ้าพระยาทดน้ำเพื่อหน่วงน้ำ การจัดจราจรน้ำ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำชี

แล้วตัดยอดน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งที่ปรับปฏิทินส่งน้ำ ทำให้พื้นที่เกษตรเก็บเกี่ยวหมดแล้ว และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 607 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 73 เครื่อง และเรือผลักดันน้ำ 64ลำ และบูรณาการร่วมกับกองทัพเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

สำหรับแผนระบายน้ำออกจาก 12 ทุ่ง ประกอบด้วย 1.ทุ่งบางระกำ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 -30 พ.ย. ระบายน้ำลงทางแม่น้ำยม-น่าน จำนวน 24.19 ล้านลบ.ม.ต่อวัน 2.ทุ่งเชียงราก เริ่มวันที่ 25 พ.ย.-10ธ.ค. ระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 5.36 ล้านลบ.ม.ต่อวัน 3. ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เริ่มตั้งแต่ 25พ.ย.-10ธ.ค. ระบายน้ำผ่านทางแม่น้ำลพบุรี ป่าสัก และเจ้าพระยา จำนวน 5.60 ล้านลบ.ม.ต่อวัน

4.ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก เริ่มตั้งแต่ 21 พ.ย.-5ธ.ค. โดยระบายน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก จำนวน 7.78 ล้านลบ.ม.ต่อวัน 5.ทุ่งบางกุ่ม เริ่มตั้งแต่ 25พ.ย.-10ธ.ค. ระบายน้ำผ่านแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก จำนวน 8.64 ล้านลบ.ม.ต่อวัน

6.ทุ่งบางกุ้ง เริ่มตั้งแต่ 25พ.ย.-10 ธ.ค. ระบายน้ำเข้าเจ้าพระยา จำนวน 1.81 ล้านลบ.ม.ต่อวัน 7.โครงการฯรังสิตใต้ ใช้เป็นทุ่งสำรองยังไม่มีการระบายน้ำ 8.ทุ่งบางบาล-บ้านแพน เริ่มตั้งแต่ 20พ.ย.-5ธ.ค. ระบายผ่านแม่น้ำน้อย จำนวน 7.17 ล้านลบ.ม.ต่อวัน 9.ทุ่งบ้านโมก เริ่มตั้งแต่ 21พ.ย.-20ธ.ค. ระบายผ่านแม่น้ำน้อยและคลองบางหลวง จำนวน 1.40 ล้านลบ.ม.ต่อวัน

10.ทุ่งผักไห่ เริ่มตั้งแต่ 18พ.ย.-17ธ.ค. ระบายผ่านทุ่งเจ้าเจ็ด จำนวน 5.53 ล้านลบ.ม.ต่อวัน 11.ทุ่งเจ้าเจ็ด เริ่มตั้งแต่ 15พ.ย.-14 ธ.ค. ระบายผ่านแม่น้ำท่าจีนและเจ้าพระยา จำนวน 25.06 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และ12.โครงการโพธิ์พระยา เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.- 4ม.ค.2561 ระบายน้ำผ่านแม่น้ำท่าจีน จำนวน 46.66 ล้านลบ.ม.ต่อวัน
“เกษตรกรที่อยู่ในเขตแก้มลิงเหล่านี้จะรู้ตัวล่วงหน้า และมีการเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตรทั้งหมดก่อนน้ำมา ความเสียหายจึงน้อย แต่การดำรงชีวิตในช่วงที่น้ำท่วมก็มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล"

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว ทั้งในระยะเร่งด่วน การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้เห็นชอบให้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ครัวเรือนละ 3,000 บาท รวมวงเงินช่วยเหลือ 4,715.19 ล้านบาท

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือน้ำทวมในปีนี้ถือว่าทำได้ดี และทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มากใกล้เคียงกับปี 2554 ทำให้เกิดความเสียหาย

โดยผลจากการสำรวจพบว่าความเสียหายในเบื้องต้นจะมีมูลค่า รวม 14,198.21 ล้านบาท กระทบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 3,648.01 ล้านบาท หรือ 0.04% ของมูลค่าจีดีพีรวมทั้งประเทศ และ 0.59% ของมูลค่าจีดีพี โดยสาขาพืชมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3,593.17 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาประมง 53.47 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 1.38 ล้านบาท

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าในขณะที่ฝนเริ่มตกในภาคใต้ โดยตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.2560 วัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 136 และ 120 มิลลิเมตร ที่ต.แม่รำพึงและต.กำเนิดนพคุณ จ.ประจวบคีรีขันธุ์ ทำให้เกิดน้ำป่าจำนวนมากไหลหลากจากบริเวณพื้นที่ต้นน้ำเข้าสู่เขตชุมชนบางสะพาน แต่ไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วม เพราะปริมาณน้ำดังกล่าวได้ไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เนื่องมาจากการที่กรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกคลองบางสะพานอย่างเร่งด่วนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร จากปากอ่าว หรือ 85% ของแผนการขุดลอกทั้งหมด 4.50 กิโลเมตร ทำให้สามารถระบายน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันพื้นที่ชุมชนบางสะพานให้รอดพ้นจากน้ำท่วมในครั้งนี้ได้สำเร็จ

สำหรับการขุดลอกคลองบางสะพาน ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 19 กิโลเมตร จากเดิมก่อนทำการขุดลอกสามารถระบายน้ำได้เพียง 200 ลบ.ม.ต่อวินาที หากดำเนินการขุดลอกแล้วเสร็จตลอดคลองบางสะพานจะสามารถระบายน้ำได้มากถึง 525 ลบ.ม.ต่อวินาที

อย่างไรก็ตามในภาพรวมของไทยปัจจุบันได้เข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำฝนที่ตกเป็นปกติในปีนี้ทำให้ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 1 พ.ย. 60 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2560/61 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 20,883 ล้านลบ.ม. หรือ 84% ของปริมาณน้ำทั้งหมด

โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้าน ลบ.ม. หรือ 78% ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด มากกว่าปีที่ผ่านมากว่าเท่าตัว ซึ่งเป็นไปตามที่กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนจัดสรรน้ำให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมการใช้น้ำตลอดในช่วงฤดูแล้ง แม้ว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดี และสามารถจัดสรรน้ำได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างเพียงพอตลอดไป