พลิกปูม15อรหันต์กยท. ยุคราคายาง 'ดิ่งเหว'

พลิกปูม15อรหันต์กยท. ยุคราคายาง 'ดิ่งเหว'

จับประเด็นร้อน! พลิกปูม15อรหันต์กยท. ยุคราคายาง "ดิ่งเหว"

แม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก แต่กลับไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคายางพารา ตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ หากผู้ซื้อต้องการใช้ยางมากราคาก็สูงเป็นเงาตามตัว เห็นได้จากเมื่อครั้ง 8-9 ปีที่ผ่านมา ราคายางเคยพุ่งทะลุกิโลกรัมละ 150-160 บาทมากแล้ว ก่อนจะทยอยดิ่งเหวกราวรูดจนกระทั่งปัจจุบัน

พลันที่พ.ร.บ.การยางฯ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ จึงควบรวม 3 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) และองค์การสวนยาง 2 รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร หวังให้ทุกห่วงโซ่อุปทานอยู่ในสายบังคับบัญชาเดียวกันไล่ตั้งแต่การผลิต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสกย. การแปรรูปโดยสถาบันวิจัยยางและการตลาด องค์การสวนยางเป็นผู้ดูแล

รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยรับทราบปัญหานี้ดีว่าต้นตอของปัญหามาจากการตลาดที่ล้มเหลว!

12 ม.ค.2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาแต่งตั้ง พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานกรรมการฯและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(บอร์ดกยท.) จำนวน 8 คน ได้แก่ ประสิทธิ์ หมีดเส็น, สังข์เวิน ทวดห้อย, เสนีย์ จิตตเกษม, ธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์, สาย อิ่นคำ, ธนวรรธน์ พลวิชัย, พิชัย ถิ่นสันติสุข

และผู้แทนจากกรรมการโดยตำแหน่งอีก 6 คน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้ว่าฯกยท.“ธีธัช สุขสะอาด”เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่งอีก 1 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน

ถือเป็นคณะกรรการฯ(บอร์ด)ชุดแรกตามพ.ร.บ.ใหม่ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารงาน และวางแผนพัฒนายางพาราทั้งระบบอย่างครบวงจรเพื่อแก้ปัญหายางพาราให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างเร่งด่วนตามนโยบายรัฐ

เมื่อพิจารณาดูรายชื่อแต่ละคน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมบอร์ดกยท.ชุดแรกนี้ จึงเต็มไปด้วยมือการตลาดเกือบยกชุด เริ่มตั้งแต่ตัวประธานฯ พล.อ.ฉัตรเฉลิม ได้ชื่อว่ามือการตลาดที่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

พล.อ.ฉัตรเฉลิม จบการศึกษาจาก โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 15 เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยทูตทหารไทย กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี ต่อมาเป็นผู้อำนวยการกอง กรมยุทธการทหารบก จนเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ก่อนรั้งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการเป็นตำแหน่งสุดท้าย

ส่วนผู้ว่าฯกยท.ดร.ธีธัช สุขสะอาด คนนี้ก็ไม่ธรรมดา จบตรี-โท-เอก ด้านการบริหารจัดการโดยเฉพาะ ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากรั้วแม่โดม ก่อนเข้าศึกษาปริญญาโทด้านการบริหารงานระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นและปริญญาเอกด้านการจัดการธุรกิจจากมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย

ทั้งยังมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทยและเคยเป็นที่ปรึกษาโครงการให้แก่ บริษัทแอดว๊าน เวนเจอร์โซลูชั่น ประเทศไทยอีกด้วย

เรียกได้ว่ากูรูด้านบริหารการตลาดที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง ซึ่งยังไม่นับรวมกรรมการโดยตำแหน่งที่แต่ละคนระดับฝีมือชั้นครู

ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบการ สถาบันเกษตรกรและตัวแทนเกษตรกรก็ผ่านมางานบริหารมาอย่างโชกโชน เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติกรรมการแต่ละท่านแล้วการบริหารหน่วยงานที่รับผิดชอบพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศมากที่สุดอย่างยางพารา ไม่น่าจะมีปัญหา แต่กลับมีปัญหาและเป็นปัญหาซ้ำซากที่แก้ไม่ตกอีกด้วย นั่นก็คือปัญหาราคายางที่ตกต่ำ

จึงทำให้เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศนัดรวมพลครั้งใหญ่เพื่อปลดบอร์ดกยท.ยกชุด เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้

ขณะแกนนำบางคนได้ออกมาตั้งข้อสังเกตุการแต่งตั้งบอร์ดชุดนี้ผิดฝาผิดตัว และสัดส่วนของตัวแทนเกษตรกรน้อยเกินไป ขณะที่บางคนก็ไม่ใช่ตัวแทนเกษตรกรจริงๆ โดยเฉพาะตัวแทนจากภาคใต้ 2 คน ประสิทธิ์ หมีดเส็น อดีต ผอ.สกย.และ ธีรพงศ์ ตันติเพชรราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรกรแห่งชาติด้านยางพารา โดยมองว่าตั้งแต่มีวิกฤติราคายางตกต่ำอย่างผิดปกติ อันเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารงานของการยางแห่งประเทศไทยแต่ทั้งสองไม่เห็นออกมาแสดงความคิดเห็น ปลอบประโลมพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่เดือดร้อนหรือแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด

ในขณะที่บอร์ดภาคอื่น เช่น สาย อิ่นคำ จากภาคเหนือ ยังออกมาชนประธานบอร์ดว่าไม่ค่อยฟังเสียงเกษตรกร พร้อมเสนอล่ารายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางให้ยุบกยท. หรือสังเวิน ทวดห้อย จากภาคกลางและภาคตะวันออก ยังออกมาพูดถึงเรื่องสวัสดิการ

“ประสิทธิ์ไม่มีทัศนะเพื่อคนจนชายขอบอยู่แล้ว มันมาจากเกษตรโซตัส ออกจะดูถูกคนจนด้วยซ้ำ ทำแต่เรื่องพนักงาน ที่จริงเขาไม่อยากยุ่งแล้ว ทุกวันนี้เขามีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคหัวใจ ตอนนี้ไปไหนแกยังให้เมียขับรถให้ ถามว่าเอาประสิทธิ์มาทำไม ส่วนธีระพงศ์นั้น เขามาจากสายอำมาตย์เกษตร ไม่ทุกข์ร้อน ทำแต่เร่ื่องพาณิชย์ ไม่ยุงกับคนจน” แกนนำเกษตรกรรายหนึ่งให้ความเห็นทิ้งท้าย

ภาพ-raot.co.th