‘อาลีบาบา’ปฏิวัติโลกค้าปลีกชู“เอไอ-เออาร์”เสริมแกร่ง

‘อาลีบาบา’ปฏิวัติโลกค้าปลีกชู“เอไอ-เออาร์”เสริมแกร่ง

วนมาอีกครั้งสำหรับมหกรรมช้อปปิ้งระดับโลก “11.11” ของ “อาลีบาบา” ซึ่งปีนี้ยกระดับความยิ่งใหญ่ด้วยกลยุทธ์ค้าปลีกยุคใหม่ หรือ “New Retail” ซึ่งมีการผสมผสานประสบการณ์ช้อปปิ้งบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้กลายเป็นหนึ่งเดียว

ภายใต้ธีม “2017 Tmall Double 11 Global Shopping Festival” หรือ “Happy Double 11” ความทรงพลังของยักษ์อีคอมเมิร์ซโลกไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าปีที่ผ่านๆ มา เพียง นาทีแรกยอดขายทะยานสูงถึง พันล้านหยวน จากนั้นทำ “นิวไฮ” ในนาทีที่ 3 ด้วยมูลค่า 1 หมื่นล้านหยวน จากปีก่อนหน้า 1 หมื่นล้านหยวนในนาทีที่ 5 สัดส่วนมาจากช่องทางโมบายกว่า 94%

โดยสรุปมูลค่าการซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมงของเทศกาลประจำปี 2560 สูงถึง 1.68 แสนล้านหยวน (2.53 หมื่นล้านดอลลาร์หรือประมาณ 8.39 แสนล้านบาท สัดส่วนมาจากช่องทางโมบาย 90%

สถิติที่น่าสนใจ ภายในเวลาเพียง 2 นาที 1 วินาที ยอดขายที่ชำระผ่านอาลีเพย์มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (6.6 พันล้านหยวน)

ภายใน 2 ชั่วโมง ยอดขายพุ่งสูงขึ้นถึง 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์ (7.88 หมื่นล้านหยวน) อัตราการสั่งซื้อและชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึง 91% และ มูลค่ายอดขายรวม(จีเอ็มวีทะลุยอดของปี 2559 เมื่อเวลา 13.09 ของประเทศจีน หรือหลังจาก 13 ชั่วโมงที่เปิดเทศกาล

ช่วง 1 ชั่วโมงแรกของมหกรรม “อาลีบาบา คลาวด์” ประมวลผลคำสั่งซื้อสูงสุดถึง 325,000 ครั้งต่อวินาที “อาลีเพย์” ประมวลผลคำสั่งชำระเงินสูงสุดถึง 256,000 ครั้งต่อวินาที ภายในชั่วโมงเดียว มีแบรนด์กว่า 60 รายที่ทำยอดขายได้สูงกว่า 100 ล้านหยวน (15.1 ล้านดอลลาร์)

หมวดการท่องเที่ยว ประเทศไทยรั้งอันดับ จุดปลายทางต่างประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และมาเลเซียตามลำดับ

นายแดเนียล จาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า อาลีบาบาไม่ได้โฟกัสเพียงแค่ตัวเลขมูลค่าการซื้อขาย แต่หวังเข้าใจถึงพัฒนาการการซื้อขายสินค้าของผู้บริโภค ไลฟ์สไตล์ สามารถทำนายล่วงหน้าว่าพวกเขาต้องการอะไร การจะไปถึงจุดนั้นหมายความว่างานสำคัญไม่ใช่เพียงเข้าถึงดีมานด์ แต่ต้องเป็นผู้สร้างดีมานด์ให้กับตลาดด้วย

ปัจจุบัน ฐานลูกค้าของบริษัทนอกประเทศจีนขยายไปกว้างมากขึ้นตามลำดับ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ไม่เพียงการสร้างค้าปลีกยุคใหม่ เราต้องการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสู่ดิจิทัล เรื่องนี้สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด”

โกลบอล ช้อปปิ้ง เฟสติวัล จัดขึ้นทุกปีในวันที่ 11 พ.ย. นับเป็นงานช้อปปิ้งออนไลน์ 24 ชั่วโมงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จากความร่วมมือระดับโลกในภาคธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งผู้บริโภค ผู้ค้าปลีก บริษัทโลจิสติกส์ สถาบันทางการเงิน ร้านค้าทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และศูนย์การค้า

แน่นอนว่างานปีนี้ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยมีมาด้วยโปรโมชั่นและข้อเสนอจากกว่า 140,000 แบรนด์ สินค้าจำหน่ายจำนวนกว่า 15 ล้านรายการ อาลีบาบามองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะอย่างมากสำหรับการออกมาจับจ่ายก่อนเทศกาลวันหยุด ทั้งตลาดยิ่งมีความน่าสนใจจากที่ผู้เล่นรายอื่นๆ ออกมาจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกัน

สู่“ค้าปลีกยุคใหม่”

นายคริส ถัง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด(ซีเอ็มโอ) อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจของอาลีบาบาขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ “ค้าปลีกยุคใหม่” หรือ “New Retail” เพื่อสร้างนิยามใหม่ให้แก่การค้าปลีก ด้วยการเชื่อมต่อการซื้อขายระหว่างออนไลน์และออฟไลน์เป็นหนึ่งเดียวอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้จุดยืนบริษัทไม่ใช่แค่ “อีคอมเมิร์ซ คอมพานี” แต่ยังเป็น “ดาต้า เซอร์วิส คอมพานี” ที่มุ่งนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล สร้างการเติบโต และเพิ่มฐานลูกค้า

โดยการนำดาต้าที่เก็บได้แบบเรียลไทม์จากภายในอีโคซิสเต็มส์มาประมวลผล พร้อมพัฒนามิติใหม่ๆ ด้านการบริการ การตลาด การดูแลลูกค้า การพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า รวมถึงการสร้างความภักดีต่อแบรนด์

“การช้อปปิ้งทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เพียงการซื้อสินค้า แต่คือส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ ความบันเทิง การแสดงออกต่อคนรัก ครอบครัว”

สำหรับกุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ “ดิจิทัล บิซิเนส ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ประกอบด้วย การบริหารจัดการลูกค้าดิจิทัล, ร้านค้าดิจิทัล, คำสั่งซื้อดิจิทัล, เพย์เมนท์ดิจิทัล และระบบสมาชิกดิจิทัล

ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซจีนคิดเป็น 18% ของธุรกิจค้าปลีกโดยรวม ด้วยแนวคิดดังกล่าวอาลีบาบาจะผสานศักยภาพเชิงข้อมูลและเทคโนโลยีทั้งหมด เพื่อทำงานร่วมกันและปรับโฉม 82% ของร้านค้าแบบดั้งเดิม

เป้าหมายไม่ใช่เพียงการรุกเข้าสู่ตลาดร้านค้าแบบดั้งเดิม แต่เพื่อช่วยเจ้าของกิจการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งรวมไปถึงการสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้า การบริหารจัดการสินค้าคงคลังและพื้นที่ค้าปลีก 

สำหรับกลยุทธ์ระดับโลก ให้ความสำคัญกับ 5 โครงการประกอบด้วย การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อระดับโลก การขายระดับโลก เพย์เมนท์ระดับโลก โลจิสติกส์ระดับโลก และการท่องเที่ยวระดับโลก โดยจะนำความสำเร็จที่ได้จากตลาดจีนไปช่วยพัฒนาอีคอมเมิร์ซอีโคซิสเต็มส์ในประเทศอื่นๆ รวมไปถึงยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปี จะเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกจำนวนไม่น้อยกว่า 2 พันล้านคน จัดส่งสินค้าได้ภายใน 72 ชั่วโมง สนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างน้อย 10 ล้านราย

ดึง“เอไอ-เออาร์” เสริมแกร่ง

อาลีบาบาเผยว่า มหกรรมช้อปปิ้ง 11.11 ทำให้มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างมหาศาล ส่งผลให้ระบบของอาลีบาบาต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่แข็งแกร่ง รองรับงานได้หลายรูปแบบ นับตั้งแต่การเปิดดูสินค้า สั่งสินค้า ชำระเงิน ไปจนถึงจัดส่งสินค้า ด้วยเหตุนี้เอง อาลีบาบาจึงเลือกใช้เทคโนโลยีคลาวด์และเอไอมาสนับสนุน

ปีนี้ยังเป็นเวทีที่บริษัทได้แสดงถึงศักยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี “เอไอ (Artificial Intelligence)” และ “ออคเมนเต็ด เรียลิตี้ (เออาร์)” เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น มอบประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าให้กับผู้บริโภค ทั้งอาลีบาบายังได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของตนเองขึ้นมารองรับการจัดมหกรรมช้อปปิ้งขนาดมหึมานี้ด้วย

ตัวอย่างเช่น การเสริมศักยภาพผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมอัจฉริยะ “แชทบอท” เพื่อการบริการลูกค้า บอทดังกล่าวสามารถตอบคำถามจากลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยบอทตัวนี้มีชื่อว่า “Store Xiaomi” ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จำนวนมาก สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันนี้ มีร้านค้าบนแพลตฟอร์มเถาเป่าและทีมอลล์ในกว่า 50 ประเภทสินค้าที่เลือกใช้บริการ

นอกจากนี้ พัฒนาแพลตฟอร์มเอไอเพื่อการตลาดชื่อว่า “Lu Ban” ที่จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการในการออกแบบแบนเนอร์โฆษณาออนไลน์แบบอัตโนมัติ ด้วยเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านข้อมูล รวมถึงค้นหาข้อมูลเชิงลึกทั้งในรูปแบบข้อความและภาพ จึงมีความสามารถออกแบบแบนเนอร์ออกมานับล้านดีไซน์ ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 8,000 แบนเนอร์ต่อวินาที

เทคโนโลยี “ออคเมนเต็ด เรียลิตี้ (เออาร์)” เข้ามาเพิ่มสีสันใหม่ๆ เช่น เกมจับแมว “Catch the Cat” ของทีมอลล์ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถลุ้นคว้าคูปองส่วนลดและของรางวัลสุดพิเศษ เพียงเล่นเกมจับมาสคอตแมวแบบเสมือนจริงในแอพเถาเป่าและทีมอลล์ในบริเวณรอบๆ ร้านค้าที่ร่วมรายการ ปีนี้มีแบรนด์กว่า 65 รายที่เข้าร่วม

การนำไปใช้ที่น่าสนใจอื่นๆ ยังมี “Tmall Smart Choice” ระบบที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ได้ว่าสินค้าชิ้นใดจะกลายเป็นสินค้าขายดีได้ในอนาคต “Fashion AI” แพลตฟอร์มเอไอที่ทำการมิกซ์แอนด์แมทช์สินค้าแฟชั่นให้กับผู้บริโภคได้อย่างลงตัว รวมไปถึง “ห้องลองเสื้อเสมือนจริง” บนแอพเถาเป่าและทีมอลล์

อีกหนึ่งโมเดลต้นแบบ “เหอหม่า (Hema)” ร้านค้าแนวทดลอง ซูเปอร์มาร์เก็ตแนวใหม่ที่ผสมผสานประสบการณ์การช้อปทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ปัจจุบันมี 20 สาขาทั่วประเทศจีน โดย 13 สาขาตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ 3 สาขาในปักกิ่ง หนิงโป หังโจว กุ้ยหยาง และเซินเจิ้น

ย้อนความสำเร็จปี2559

สำหรับปี 2559 การซื้อขายผ่านอาลีเพย์มีมูลค่ากว่า 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 32% มูลค่าการซื้อขายบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ผ่านอาลีเพย์ 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 82% ของมูลค่าการซื้อขายโดยรวม โดยเพิ่มจากปี 2558 ราว 69%

เป็นสถิติที่สูงกว่ามูลค่าการซื้อขายจากเทศกาลช้อปปิ้งใหญ่ในสหรัฐ โดยมีขนาดใหญ่กว่างาน “อเมซอน ไพรม์ เดย์“ ถึง 18 เท่า และใหญ่กว่างาน “แบล็ค ฟรายเดย์” และ “ไซเบอร์ มันเดย์” รวมกันถึง 2.5 เท่า

ไฮไลต์ ยอดขาย 5 นาทีแรกทำสถิติเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ ก่อนจะทะยานสู่ 5.2 พันล้านดอลลาร์ภายใน 1 ชั่วโมง

ครั้งนั้น อาลีบาบา คลาวด์ ดำเนินการคำสั่งซื้อสูงที่สุด 175,000 ครั้งต่อวินาที อาลีเพย์ ดำเนินการชำระเงินมากกว่า 1 พันล้านครั้ง และมากที่สุดถึง 120,000 ครั้งต่อวินาที เครือข่ายไช่เหนี่ยว จัดส่งสินค้ามากกว่า 657 ล้านครั้ง

ส่วนไฮไลท์ระดับโลก พบว่า มีการซื้อขายข้ามประเทศ ครอบคลุมทั้งหมด 235 ประเทศทั่วโลก 37% ของผู้ซื้อทั้งหมด ซื้อสินค้าจากแบรนด์และผู้ขายระดับโลก

ขณะที่ ประเทศที่ขายสินค้าให้แก่ประเทศจีนเป็นมูลค่าสูงที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และเยอรมนี แบรนด์จากสหรัฐอเมริกาที่ทำมูลค่ายอดขายสูงที่สุด ได้แก่ แอ๊ปเปิ้ล, ไนกี้, นิว บาลานซ์, เพลย์บอย และสเก็ตช์เชอร์ส

แบรนด์จากยุโรปที่ทำมูลค่ายอดขายสูงที่สุด ได้แก่ ซีเมนส์, ฟิลิปส์, อาดีดาส, แจ็ค โจนส์ และโอนลี่