'บิ๊กนครบาล' ขานรับปฏิรูปสอบสวน ทนายหนุนอัยการคุมตรวจสอบ

'บิ๊กนครบาล' ขานรับปฏิรูปสอบสวน ทนายหนุนอัยการคุมตรวจสอบ

อัยการโชว์โมเดลร่วมสอบสวน 4 ระดับ ขณะที่ "รอง ผบช.น." ขานรับปฏิรูป ทนาย-ภาคสังคม หนุนอัยการคุมตรวจสอบปิดช่องโหว่สอบสวนไม่ฟ้องคนบริสุทธิ์ - หลักฐาน100%ลงโทษคนผิด

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน วันที่ 12 พ.ย.60 เวลา 10.00 น. พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์ ”เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ”และที่ปรึกษา Police Watch , พล.ต.ต.มนตรี ยิ้มแย้ม รอง ผบช.น. และ รองโฆษก ตร. , นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ และนายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแสดงความคิดเห็นในงานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ปฏิรูปงานสอบสวน ? ให้ยุติธรรมกับประชาชน”

'บิ๊กนครบาล' ขานรับปฏิรูปสอบสวน ทนายหนุนอัยการคุมตรวจสอบ

โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษา Police Watch กล่าวถึงปัญหาว่า การแจ้งข้อหาการดำเนินคดีที่จะแค่เพียงมีมูล พยานหลักฐานพอฟ้องไม่ได้ สุดท้ายเมื่อศาลยกฟ้องจากพยานหลักฐานไม่แน่นหนาความเดือดร้อนเสียหายก็มากทั้งผู้ที่ถูกจับกุม ถูกคุมขังแม้สุดท้ายจะได้รับเงินชดเชย แต่ถ้าผู้ที่ถูกยกฟ้องนั้นเกิดเป็นผู้กระทำจริงแต่ศาลยกฟ้องจากหลักฐานที่ไม่แน่นหนาไม่พอลงโทษเขาจะถูกฟอกไปด้วยคำพิพากษาของศาลเลย ถามว่าเราไม่เอาผู้บริสุทธิ์ขึ้นศาลได้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราเรียกร้องให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมดูการสอบสวนตั้งแต่เริ่มคดี มาตรวจสอบเพื่อที่จะทำให้พยานหลักฐานมันแน่หนาทั้งในชั้นสอบสวน ลดขั้นตอนเวลาที่อัยการจะไปสั่งสอบเพิ่มเติม ซึ่งการส่งสำนวนไปส่งมาแล้วสุดท้ายศาลยกฟ้องต้องไม่มีคดีที่ยกฟ้องถือว่าเป็นความเสียหายร้ายแรง ประเทศที่เจริญเขาไม่เอาใครไปฟ้องโดยที่ไม่แน่ใจว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ประเทศเราใช้หลักฟ้องเอาไปพิสูจน์เอา ถ้าเธอไม่ได้กระทำผิด ไม่ต้องกลัวไปพิสูจน์เอา หลักสันนิษฐานว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์นั้นสำคัญตนคิดว่านักกฎหมายประเทศเราไม่ว่าชั้นใดระดับใดก็ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดแต่ว่าที่บอกว่าคุณไม่ได้ทำ วันนั้นคุณอยู่ที่ไหน บอกไปบอกมาสับสนคลาดเคลื่อนระยะเวลา ระยะห่างอย่างคดีนักข่าวกลายเป็นพิรุธไปอีก

'บิ๊กนครบาล' ขานรับปฏิรูปสอบสวน ทนายหนุนอัยการคุมตรวจสอบ

“หลักการลงโทษทางอาญา หมายถึงว่าท่านต้องพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดอย่างสิ้นสงสัย เราต้องตั้งหลักใหม่ รัฐต้องกล่าวหาโดยมีหน้าที่รวบรวมหลักฐานพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เราต้องทำให้แน่นหนา ไม่ต้องรีบแจ้งข้อหา ถ้าฟ้องแล้วศาลลงโทษเขาได้ไหม ต้องแน่ใจว่าฟ้องแล้วศาลลงโทษได้ 100 % ถ้าระหว่างนั้นหลักฐานยังไม่ถึง ก็ยังไม่ต้องจับไม่ต้องแจ้งข้อหาได้หรือไม่ ไม่กลัวจะถูกว่าติดสินบน ไม่ใช่ยอมไปตายเอาดาบหน้าแล้วแต่ดวง ไม่ใช่ให้หลุดในชั้นศาล นี่คือปัญหาเชิงระบบ” พ.ต.อ.วิรุตม์ ที่ปรึกษา Police Watch กล่าวและว่า สิ่งที่ควรแก้ไข 2 ส่วน คือ พนักงานอัยการต้องเข้ามาตรวจสอบควบคุมการสอบสวนได้ตั้งแต่เกิดเหตุในคดีสำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกคดีไม่ใช่มาแข่งกับตำรวจ แต่เข้ามาตรวจสอบส่วนหนึ่งเพื่อช่วยตำรวจในการจะทำคดีรวบรวมพยานให้ครบถ้วนเพราะอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี ส่วนตำรวจคนทำสำนวนก็ต้องทำให้อัยการอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้ตำรวจหวงสำนวนไม่ให้อัยการเห็น กลัวอัยการจะเห็นตั้งแต่เกิดเหตุ กลัวอัยการจะมาเห็นที่เหตุ มันแปลกหรือไม่เพราะอัยการจะเป็นผู้ฟ้องตำรวจไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้นหลักคิดตรงนี้ต้องเปลี่ยน ประชาชนต้องการให้มาเห็นหลายฝ่าย เวลามีคนตายต้องมาเห็นหลายฝ่าย เห็นตั้งแต่พนักงานสอบสวน กองพิสูจน์หลักฐาน อัยการต้องมาเห็น เมื่อมาเห็นทุกฝ่ายแล้วจะทำไม่ครบถ้วนได้ก็ไม่ได้แต่ทุกวันนี้ตำรวจเห็นฝ่ายเดียว เรื่องการสอบสวน จริงๆ ก็เป็นเรื่องระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการซึ่งอัยการมีอำนาจต้องสั่งคดีอยู่แล้ว

ขณะที่ พล.ต.ต.มนตรี ยิ้มแย้ม รอง ผบช.น. และ รองโฆษก ตร. ก็กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยการทำงานของตำรวจปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะไปจุดเกิดเหตุที่ไหนก็ต้องพิสูจน์หลักฐานไปด้วยทุกครั้งเป็นคำสั่งแล้ว โดยการพิสูจน์หลักฐานนั้นก็ขยายทั่วถึงทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เพราะศาลก็ไม่ได้ฟังพยานบุคคลเพียงอย่างเดียวแต่พยานนิติวิทยาศาสตร์ก็มีความน่าเชื่อถือฟังได้ด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลเสริมผู้เชี่ยวชาญมาประจำสถานีตำรวจเพื่อช่วยพนักงานสอบสวนด้วยเพราะบางครั้งมีบางเรื่องที่เป็นเทคนิคเฉพาะ พอมาแจ้งความตำรวจก็ยังไม่เข้าใจทันที รวมถึงมีทนายมาประจำที่สถานีตำรวจด้วย ส่วนเรื่องของการแยกหรือไม่แยกพนักงานสอบสวนเป็นนโยบายของรัฐบาลว่าเห็นควร เห็นดีอย่างไร ตำรวจเดินตามทั้งภาครัฐ , ประชาชนและเวทีโลก แต่ที่ตนอยากให้ข้อมูลคือ เรื่องการกระทำความผิดนั้นต้องแยกแยะว่ามี 3 ประเภท คือ 1.เจตนากระทำความผิด เช่น ฆ่าข่มขืน ราชายาเสพติด จับตัวเรียกค่าไถ่ ปล้นร้านทองอย่างนี้แสดงออกถึงเจตนาแน่นอน ตำรวจจะติดตามไม่ปล่อยแน่นอน 2.ทำผิดโดยไม่เจตนา เช่น ยิงปืนจะยิงคนหนึ่ง แต่กระสุนกลับไปโดนอีกคนหนึ่งแทน อย่างนี้ก็ไม่เจตนา และ 3.กระทำผิดโดยประมาท เช่น ขับรถชนเด็กหรือคนเดินตัดหน้ารถ ถ้าตายตามกระบวนการยุติธรรมก็ต้องดำเนินคดี

'บิ๊กนครบาล' ขานรับปฏิรูปสอบสวน ทนายหนุนอัยการคุมตรวจสอบ

อย่างไรก็ดี ในส่วนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตนเห็นด้วย แต่ระบบกฎหมายไม่มีระบบใดดีที่สุด ซึ่งในโลกนี้จะมี 3 ระบบ คือ 1.ระบบกล่าวหาที่บ้านเราทำอยู่ คือ ใครเห็นการกระทำความผิดขึ้นมาก็ไปกล่าวหา ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เช่น เห็นคนยิงกัน ก็ไปแจ้งตำรวจแต่คนแจ้งไม่ใช่เจ้าทุกข์ที่ถูกยิง ตำรวจก็รวบรวมพยานหลักฐานส่งอัยการก็ส่งฟ้องไป ถ้าไม่มีพยานขึ้นศาลก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องไปแก้กัน 2.ระบบไต่สวนที่ใช้อยู่หลายที่ ซึ่งให้อำนาจศาลเรียกพยานเพิ่มเติมได้ เช่นมีการส่งหลักฐานมา 10 ชิ้น แต่มีการร้องศาลว่ายังมีอีก 5 ชิ้นที่ไม่ได้สู่ศาล ศาลก็เรียกมาได้เลย เรียกมาประกอบได้เลย และศาลมีอำนาจตัดสินใจและไต่สวนในชั้นศาลได้เลย ถ้าไม่มั่นใจตำรวจ หรืออัยการก็เอามาผสมกันดีหรือไม่ในกระบวนการยุติธรรม ถ้าคิดว่าระบบกล่าวหาอาจจะฟ้องไปโดยที่หลักฐานอ่อน ก็ให้อำนาจศาลเรียกพยานหลักฐานอื่นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณามาได้ 3.ระบบลูกขุน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือจะให้มีระบบนี้ ที่นอกจากผู้พิพากษา 2-3 ท่านแบบบ้านเราแล้ว ก็ยังให้มีบริบททางสังคมด้วยคือลูกขุนใช้คนที่มีวุฒิภาวะทางสังคมที่จะดูแลเรื่องทางสังคมด้วยนอกเหนือจากเรื่องกฎหมาย นิติศาสตร์ที่มีผู้พิพากษาดูอยู่แล้วก็เป็นการแก้ทั้งระบบ

ถ้าถามว่ามีข้อบกพร่องกันบ้างหรือไม่ก็ต้องตอบว่ามีทั้งที่เกิดจากระบบงบประมาณ การแบ่งสันปันส่วนและหลายๆ ระบบที่รู้กันอยู่ แต่เราต้องมีจิตใจมุ่งมั่นและทำหน้าที่ของเราให้ได้ ขณะที่ลักษณะที่เกิดขึ้นก็แบ่งได้เป็น 1.คดีสด คือ คดีที่เกิดขึ้นต่อหน้า เช่น ลัก วิ่ง ชิงปล้น ที่ตำรวจจะต้องติดตามจับกุมตัวให้ได้ 2.คดีแห้ง คือเหตุที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว เช่น คดีเช็ค ฉ้อโกง ยักยอก ดังนั้นคดีไหนที่เป็นคดีสดเรารับเลยแล้วรีบสอบสวนติดตาม ส่วนคดีแห้งที่ยังไม่รู้ว่าคนร้ายทำอะไรบ้างก็ต้องมาสืบสวนให้ได้ความก่อนว่ามีการกระทำผิดขึ้นจริงหรือไม่ถ้ามีก็จะกลายเป็นคดีสด ซึ่งการสืบสวนตาม ประมวลวิธีพิจารณาความอาญาก็ทำได้ทั้ง 3 ส่วนคือก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ตัวอย่างคดีรถหาย ก็ต้องสืบสวนก่อนว่าหายจริง หรือจอดลืม หรืออีก 2 วันเจอรถหรือทรัพย์สินหาย ตำรวจก็ต้องทำทั้งหน้าที่กระบวนการยุติธรรมและบริการประชาชน เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน ถ้าจะแยกการกระทำออกจากกันก็ต้องดูว่าประชาชนจะดีขึ้นหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมดีขึ้นหรือไม่ ส่วนคดีที่มีเพิ่มขึ้นต้องเข้าใจเกิดจากคนด้วยที่ขาดศีลธรรมจรรยา ไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปด้วยก็ทำให้สังคมวุ่นวาย วันนี้ทุกคนรียกร้องแต่สิทธิ แต่หน้าที่ทำให้ดีกันด้วยหรือยัง หลักสำคัญที่ตนยึดถือ คือการจับผู้ร้ายเป็นกระทำการครบถ้วนในหน้าที่ แต่การจะทำความชอบคือทำให้คนและประชาชนในชุมนุมสังคมสงบสุข ตนจึงยึดถือว่างานป้องกันเป็นหลักถ้าป้องกันดีแล้วไมให้ตกอยู่ในอันตราย ความมืดดำที่จะทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งร่างกายและทรัพย์สินก็จะไม่มีปัญหา สังคมจะสงบสุขแล้วการปฏิรูปต่างๆ ก็ไม่มีปัญหา

'บิ๊กนครบาล' ขานรับปฏิรูปสอบสวน ทนายหนุนอัยการคุมตรวจสอบ

ด้านนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ กล่าวถึงความมีอิสระของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า การปฏิรูปไม่ควรจะหมายถึงแค่งานสอบสวนเพียงประการเดียว ควรหมายถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แต่ด้วยข้อเท็จจริงว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นต้องผ่านขั้นตอนต้นน้ำ คือ พนักงานสอบสวนแล้วจะทำอย่างไรให้ส่งผลต่อเนื่อง เรื่องการแยกพนักงานสอบสวนให้เป็นอิสระนั้น ตนตั้งข้อสังเกตว่าจะอิสระอย่างไร ถ้าอยู่ สตช. อิสระจริงหรือไม่ หรือว่าแยกออกมาแล้วยังมีผู้บังคับบัญชาก็จะไม่ต่างจากเดิม คือแค่เปลี่ยนหัวหน้าเท่านั้นเอง ถ้า สตช.ไม่ได้ควบคุมแล้วจะไปอยู่หน่วยงานไหนสุดท้ายก็ต้องมีสายบังคับบัญชาอยู่ จะมีอิสระที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งคำว่า “อิสระ” ที่แท้จริง ขอบเขตคือแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ตามกฎหมายพนักงานสอบสวนก็ถือว่ามีอิสระระดับหนึ่งว่ามีดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน แต่อย่างไรแล้วถ้าจะกล่าวถึงการแยกเป็นอิสระก็ต้องพูดถึงการตรวจสอบควบคุมความเป็นอิสระด้วยหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีการตรวจสอบควบคุมจะเป็นอิสระแบบไหนจะใช้ดุลพินิจเองตามอำเภอใจหรือไม่

ยกตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งตนเคยทำคดีมามีตำรวจท้องที่ และตชด. ร่วมจับกุมยาเสพติด แต่มีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาก็ร้องเรียนหน่วยงานแต่การสอบบอกไม่มีมูล จนฟ้องเองศาลก็รับไว้หมดเลยจึงมีข้อสังเกตหลายอย่างระหว่างถูกทำร้ายถูกคุมตัวในโรงพักแจ้งพนักงานสอบสวนก็ไม่รับ ซึ่งตามกฎหมายให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักทุกส่วน สุดท้ายเมื่อคดีมาถึงศาลแล้วศาลก็สั่งงดการพิจารณาคดีแล้วลงเผชิญสืบในโรงพักนั้นให้จำเลยยืนแสดงจุดในห้องขังแล้วก็เป็นหนึ่งในเหตุที่ท่านยกฟ้อง ดังนั้นพนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้เท่าที่จะพิสูจน์ว่าความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ไม่ใช่จะรวบรวมหลักฐานพิสูจน์ความผิดอย่างเดียว ถ้าในส่วนของพนักงานสอบสวนมีคณะหรือชุดเจ้าพนักงานร่วมตรวจดูและทัดทาน เช่น ถ้ามีอัยการ หรือชุดใดที่ตำรวจรับได้ว่าไม่ได้มาควบคุมหรือครอบงำ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะถ้าการสอบสวนบกพร่องก็ส่วนหนึ่ง แต่ต้องไม่จงใจ ดังนั้นการเป็นอิสระก็ต้องตรวจสอบได้ด้วย

ขณะที่นายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการร่วมสอบสวนว่า การจะเข้าช่วยเหลือหรือร่วมกัน ตนแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 พนักงานอัยการสามารถที่จะให้คำแนะนำหรือเป็นที่ปรึกษาให้กับพนนักงานสอบสวนตามที่ร้องขอมาในแต่ละเรื่อง เช่น พยานปากนี้มีปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือแล้วควรสอบพยานอะไรเพิ่มเติมอีก หรือพยานกลับคำให้การควรวินิจฉัยอย่างไร หรือการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย เช่นนี้พนักงานอัยการก็สามารถตอบให้พนักงานสอบสวนทราบได้และปัจจุบันก็เป็นภารกิจหนึ่งของอัยการอยู่แล้วที่จะต้องให้คำแนะนำช่วยเหลือภาครัฐรวมถึงพนักงานสอบสวนด้วย ระดับที่ 2 การเข้าร่วมสอบและให้คำแนะนำว่าควรจะเพิ่มเติมในประเด็นอะไร ควรจะสอบทิศทางไหน ก็จะทำให้สอบสวนรอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งระดับที่ 2 ปัจจุบันก็จะเป็นเรื่องความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ที่บางครั้งพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนไปแล้วสุดท้ายพบว่ามีการมีความผิดส่วนหนึ่งเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรก็ต้องยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดขออนุญาตสอบสวนแล้วอัยการสูงสุดก็มอบหมายให้อัยการเข้าร่วม ถ้าอัยการเห็นว่าสำนวนใกล้เสร็จสิ้นแล้วจะใช้วิธีการตรวจดูสำนวนว่าส่วนที่ดำเนินการไปแล้วควรจะเพิ่มเติมส่วนใดอีกหรือไม่ ก็อาจมีการแนะนำเพิ่มในประเด็นที่จำเป็นอีก ก็จะทำให้พนักงานสอบสวนรู้ทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ก็เป็นลักษณะการแนะนำก่อนที่จะรับสำนวนในรูปแบบปกติ

ระดับที่ 3 ที่ใช้เป็นโมเดลในหลายๆ ประเทศ คือ การเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการสอบสวนทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับคดีอาญาสำคัญ ซึ่งปัจจุบันในคดีอาญาสำคัญ เช่น คดีในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์บางประเภทที่เกี่ยวข้องผู้มีอิทธิพลหรือเป็นความผิดองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกฎหมายก็บังคับเลยให้มีพนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวน ซึ่งก็มีหลายรูปแบบเช่น การร่วมสอบปากคำด้วยกันเลย ตรงนี้ก็มีข้อดี คือการได้สัมผัส ถึงการให้ถ้อยคำด้วยวาจาของพยานบุคคล

“หลักการหนึ่งของการสอบพยานบุคคล ก็คือ หลักวาจาที่จะได้เห็นอากัปกิริยาของผู้ให้ถ้อยคำได้อย่างชัดเจน ได้เห็นอาการความมั่นใจในการให้ถ้อยคำ หรือพิรุธ หรือความลังเลของพยานเอง ตรงนี้จะช่วยประเมินความน่าเชื่อถือของถ้อยคำที่พยานให้ได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าเป็นกระบวนการปกติทั่วไปคือ เรารับมาเป็นสำนวนเอกสารกระบวนการชั่งน้ำหนักพยานจะถูกลดทอนความละเอียดรอบคอบจากสภาพแวดล้อมของพยานอย่างมากทีเดียว ดังนั้นการเข้าไปช่วยสอบสวนในสำนวน คือการวิเคราะห์พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และให้คำแนะนำการสอบพยาน รวมทั้งการช่วยสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆที่อยู่ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานด้วย”

ระดับสุดท้ายที่ 4 คือ การที่พนักงานอัยการรับมาทั้งสำนวนเลย คือ เริ่มคดีตั้งแต่ต้นเลย นี่ก็คืออีกโมเดลหนึ่งที่ต่างประเทศก็ดำเนินการด้วยเช่นกันแต่ใช้สำหรับบางคดีสำคัญเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคดี ไม่ใช่พยายามที่จะแย่งงาน ตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้เรื่องเรือล่มที่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย อัยการเกาหลีใต้ก็เข้าไปสอบสวนเองแล้วทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจนดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจเรือและลูกเรือที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย จากนั้นมีการขยายสเกลไปดำเนินการกับเรือสาธารณะอื่นๆด้วย และขยายสเกลจนไปถึงการบริการขนส่งสาธารณะอื่นๆด้วยในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่ในบ้านเราในปัจจุบันยังไปไม่ถึงขั้นนั้นคงมีเพียงระดับที่ 3 คือความผิดนอกราชอาณาจักรที่อัยการทำเองแต่ก็ยังค่อนข้างจะจำกัด จากปัญหาบุคคลากรของอัยการเองที่ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่ดูสำนวนแล้วฟ้องคดีนั้นแต่ตอนนี้อัยการก็เตรียมการเรียนรู้การร่วมสอบสวนและที่ผ่านมาก็มีหลายคดีที่ร่วมสอบสวน เช่น คดีฟอกเงินยาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ และยังได้ร่วมรับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานการเข้าร่วมสอบสวน