เจาะเบื้องลึก! 'เพื่อไทย' ปรับทัพใหญ่ 5ประธานคัดผู้สมัครส.ส.

เจาะเบื้องลึก! 'เพื่อไทย' ปรับทัพใหญ่ 5ประธานคัดผู้สมัครส.ส.

วิเคราะห์เกมรอปลดล็อก เจาะเบื้องลึก "พรรคเพื่อไทย" ปรับทัพใหญ่ เผย5ประธานคัดผู้สมัครส.ส.

เวลาผ่านมากว่า 3 ปีที่ "คสช." ยึดอำนาจ พรรคการเมืองทุกพรรคถูกล็อคแช่แข็ง ไม่ให้ทำกิจกรรมใดๆทางการเมือง ภายหลังเริ่มมีสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศผ่านสื่อเสียงดังฟังชัดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นอย่างแน่นอน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561

ถึงแม้จะมีการประกาศอย่างชัดเจน แต่บรรดานักการเมืองหรือพรรคการเมือง ก็ยังคงขยับเขยื้อนอะไรไม่ได้ เพราะคสช. ก็ยังไมได้ปลดล็อคคำสั่งเรื่องห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมใดๆ

พรรคการเมืองต่างๆ จึงเริ่มมีการขยับขับเคลื่อนออกมาเริ่มกดดันส่งเสียงดังๆ ไปยังผู้มีอำนาจเป็นระยะ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคการเมืองใหญ่อย่าง "พรรคเพื่อไทย" ก็ได้ออกแถลงการณ์จี้ให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งเพื่อปลดล็อคให้พรรคการเมืองให้เริ่มทำกิจกรรม โดยยกเหตุผลว่า ไม่ใช่เพราะนักการเมืองต้องการที่จะเลือกตั้ง แต่เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องพรรคการเมืองได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคการเมืองต้องปฎิบัติตามกฎหมายใหม่

เพราะภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองใหม่ พรรคการเมืองต่างๆ ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เรียกว่าต้องยกเครื่องโครงสร้างพรรคกันใหม่กันเลยทีเดียว เลยต้องมีการเตรียมความพร้อมและในกฎหมายใหม่มีการเขียนกรอบเวลาไว้อย่างชัดเจน เรื่องการจัดการพรรคการเมืองการ หาสมาชิก สาขาพรรค เงินสนับสนุนพรรค กรรมการต่างๆจึงต้องเร่งดำเนินการ

โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่อย่าง พรรคเพื่อไทย ซึ่งหากดูตามกฎหมายใหม่แล้ว อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องความพร้อม แต่ก็ต้องมีการเตรียมหรือวางโครงสร้างไว้เพื่อดำเนินการได้ทันที หาก คสช. ปลดล็อคพรรคการเมือง
ซึ่งขณะนี้โครงสร้างของพรรคเพื่อไทยที่ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ หาก คสช. ปลดล็อค นอกจากกรรมการบริหารพรรคในส่วนกลางแล้ว ในส่วนของภาคก็ได้แบ่งโครงสร้างใหญ่เป็นแต่ละภาค ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือและกรุงเทพฯ

โดยในแต่ละภาค จะมีประธานภาค เลขาฯภาค และกรรมการภาค ซึ่งว่ากันว่า ทีมงานภาคเหล่านี้ หากมีการปลดล็อคพรรคการเมือง กรรมการแต่ละภาคนี้ จะมีหน้าที่ลงพื้นที่พบปะประชาชน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นสะท้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่

เพื่อเอาเสียงของประชาชนมาดำเนินการ ทำเป็นนโยบายเสนอกลับมายังส่วนกลาง เพื่อจะได้ดำเนินการ นำไปทำเป็นแนวนโยบายต่อไป นอกจากนี้ ยังคอยทำหน้าที่หาสมาชิกพรรคในแต่ละจังหวัด แต่ละภาค เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่

ช่วยสรรหา ผู้สมัคร สกรีนผู้สมัครในพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยกันทำงาน แต่กรรมการภาคนี้ก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรเป็นพิเศษและรายชื่อทั้งหมดก็ต้องเข้าสู่กรรมการบริหารพรรคและหากผ่านขั้นตอนการปลดล็อคพรรคการเมืองก็ต้องมีการเลือกกรรมการบริหารอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ขณะนี้ตัวแทนที่ทำหน้าที่ประธานในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือ นายสามารถ แก้วมีชัย เป็นประธาน, นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ เป็นประธาน, นายวิทยา บุรณศิริ เป็นประธาน, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ เป็นประธานภาคใต้ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานกทม.

แต่ตำแหน่งเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการเลือกเป็นทางการ เพราะไม่ได้สามารถประชุมหารืออย่างเป็นทางการแต่เป็นเพียงการพบปะพูดคุยกันเป็นการภายในเท่านั้น โดยเป็นการเลือกกันเองภายใน ซึ่งในบางภาคเลือกกันเองและบางภาคมีผู้ใหญ่ขอให้มาช่วยงานเพราะยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้

ซึ่งว่ากันว่า เป็นโครงสร้างคร่าวๆที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่มีการปลดล็อคพรรคการเมืองเพราะหากมีการปลดล็อคก็จะสามารถดำเนินการได้ทันทีและโครงสร้างนี้ก็เป็นการสลายมุ้งสลายขั้วกลุ่มก้อนต่างๆในพรรคเพื่อไทยไปในตัวอีกด้วย

ต้องอย่าลืมว่า พรรคการเมือง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ ก็ต่างมีมุ้งซุ้มต่างๆเพื่อเอาไว้ต่อรองกันเองภายในพรรคการเมือง

หากย้อนดูพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่าง พรรคเพื่อไทย ผู้ตัดสินใจหรือผู้เคาะจะเป็น "นายใหญ่" แต่ก็มีมุ้งซุ้มหรือมีการร่วมกลุ่มก้อนของส.ส.ที่รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆหรือมีความสนิทสนมกันส่วนตัวแล้วก็เอาไว้เพื่อต่อรองตำแหน่งหรือเก้าอี้รัฐมนตรี หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาล

เขาว่ากันว่า หากมาดูในส่วนของพรรคเพื่อไทย ก็จะมีกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือจะมี "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายใหญ่ , ภาคอีสานบางส่วนหรือกลุ่มเสื้อแดงจะมี "เฮียเพ้ง" พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล , อีสานใต้ จะมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อีสานเหนือจะมี พายัพ ชินวัตร ส่วนกรุงเทพฯและภาคกลางบางส่วน "เจ๊หน่อย" สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ , ภาคกลาง วิทยา บุรณสิริ แต่สิ่งนี้ก็เป็นในอดีตที่ผ่านมา

นอกจากการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งแล้วอีก นัยยะหนึ่งก็จะเป็นการสลายกลุ่มก๊วนต่างๆอีกด้วย
แต่หากจะพูดกันในตอนนี้คงจะเร็วเกินไป เพราะในตอนนี้ยังขยับยังทำอะไรไม่ได้ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการพูดคุยหรือการจับมือกันหลวมๆ ซึ่งต้องรอความชัดเจนมากขึ้นหลังการปลดล็อคพรรคการเมืองเรื่องการปรับโครงสร้างพรรคและคงต้องกันหลังการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งออกมาเรื่องการสลายกลุ่มก๊วน

เพราะตอนนี้ เชื่อว่าบรรดานักการเมืองไม่ว่าพรรคไหน กลุ่มไหน ซุ้มไหน ก๊วนไหน มุ้งไหน ก็ต้องต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยวันที่ผู้มีอำนาจในมือปลดล็อคพรรคการเมืองให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เสียที