สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 6 -10 พ.ย. 2560

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 6 -10 พ.ย. 2560

“เงินบาททรงตัวกรอบแคบ ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงปลายสัปดาห์”

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่ในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ หลังจากที่ร่างกฎหมายของวุฒิสมาชิกเสนอให้เลื่อนเวลาในการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงสู่ 20% ออกไป จนถึงปี 2562  นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในปีหน้า ซึ่งจะมีคณะกรรมการ FOMC ปรับเปลี่ยนหลายตำแหน่ง (ล่าสุด นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กประกาศว่าจะเกษียณในช่วงกลางปี 2561ก่อนครบกำหนดวาระในช่วงปี 2562)

- สำหรับในวันศุกร์ (10 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 33.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 พ.ย.)  

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องติดตามสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ จากเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ย. ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคานำเข้าและส่งออก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้านและการขออนุญาตก่อสร้างเดือนต.ค. สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ และข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เดือนก.ย. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/60 ของญี่ปุ่นและยูโรโซนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,689.28 ลดลง 0.72% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 6.67% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 56,361.73 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 557.75 จุด ลดลง 2.27% จากสัปดาห์ก่อน

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ได้รับปัจจัยหนุนเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน รวมถึงยังมีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มการเงินเข้ามาช่วยประคองตลาด ขณะที่ SET ช่วงปลายสัปดาห์ ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผลประกอบการของบจ.งวดไตรมาส 3/60 ออกมาไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ ประกอบกับแรงขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติและกลุ่มสถาบัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติมในประเด็นกระแสข่าวเกี่ยวกับแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจถูกชะลอกระบวนการเริ่มบังคับใช้ออกไป

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,675 และ 1,665 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ แผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ และการปรับน้ำหนักหุ้นที่ใช้ในการคำนวน ดัชนี MSCI ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดค้าปลีกเดือนต.ค. ตลอดจนดัชนีการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/60 (เบื้องต้น) และอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของประเทศในแถบยุโรป รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/60 ของญี่ปุ่น และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของจีน