'รมช.คมนาคม' ลงตรวจเส้นทางเดินรถไฟสายภาคใต้

'รมช.คมนาคม' ลงตรวจเส้นทางเดินรถไฟสายภาคใต้

"รมช.คมนาคม" ลงพื้นที่ตรวจเส้นทางเดินรถไฟสายภาคใต้ ระหว่างสถานีรถไฟเขาหัวควาย - เขาพลู จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเส้นทางเดินรถไฟสายภาคใต้ ระหว่างสถานีรถไฟเขาหัวควาย - เขาพลู จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 โดยมี นายเจริญรัฐ ฉิมสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุพจน์ มัฆวิบูลย์ ผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า และนายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ร่วมตรวจราชการ

นายพิชิต อัคราทิตย์ ได้รับฟังบรรยายสรุปจากนายบรรหาญ โกบยาหยัง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 4 เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นบริเวณ กม. 646/1-2 ระหว่างสถานีรถไฟเขาหัวควาย - เขาพลู ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งทางรถไฟสู่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย มีลักษณะโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางเดี่ยว ขนาดราง 100 ปอนด์เอ ชนิดเครื่องยึดเหนี่ยวแบบหมอนคอนกรีตโมโนบล็อกสปริงแพนดอล สภาพทางเป็นทางตรง มีระดับความลาดเอียง 0% สภาพพื้นที่บริเวณรอบข้างมีถนนทางรถยนต์วิ่งขนานทางรถไฟทั้ง 2 ด้าน สำหรับสภาพภูมิประเทศบริเวณโดยรอบอยู่ใกล้เนินเขา สภาพภูมิอากาศ มีฝนตกชุก มีน้ำป่าไหลหลาก ประกอบกับระบบการระบายน้ำบริเวณทางรถไฟที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลหลากอย่างรวดเร็วได้ทันการณ์ ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายกับทางรถไฟ บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 ระยะ ดังนี้

1. การแก้ไขระยะสั้น จะต้องเร่งดำเนินการซ่อมทางในทันที เสริมความมั่นคง เพื่อให้ขบวนรถวิ่งผ่านได้โดยเร็วและปลอดภัย และป้องกันไม่ให้ทางรถไฟเสียหายมากกว่าเดิม โดยใช้กระสอบที่บรรจุหินโรยทางสอดเข้าไปรองรับไว้ใต้ท้องหมอน กั้นไม่ให้กระแสน้ำกัดเซาะหินโรยทางออกจากคันทาง เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักจากขบวนรถที่วิ่งผ่าน เมื่อดำเนินการปรับปรุงทางเสริมความมั่นคงของทางแล้ว ได้ลงหินโรยทางเพิ่มและอัดหินใต้ท้องหมอนให้มั่นคงแข็งแรง

2. การแก้ไขระยะยาว จากเหตุการณ์การดังกล่าว การระบายน้ำของช่องระบายน้ำไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจำนวนมากได้ ส่งผลกระทบให้น้ำกัดเซาะดินคันทางและหินโรยทาง เป็นสาเหตุทำให้ทางรถไฟขาดกลายเป็นช่องน้ำใหม่ ซึ่งมีแนวทางการแก้ไขแบบมั่นคงระยะยาว โดยเปิดช่องระบายน้ำให้มีขนาดที่กว้างขึ้น ซึ่งผู้รับผิดชอบพื้นที่ได้สำรวจ วางแผน จัดเตรียมเอกสาร และของบประมาณฉุกเฉินเพื่อก่อสร้างช่องระบายน้ำท่อคอนกรีตสำเร็จรูปสี่เหลี่ยม ชนิด BC 2 - (2.00 X 2.00) เมตร จำนวน 1 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ไหลหลากได้ทันและมีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งสามารถรองรับน้ำหนักกดเพลา DL.20 ของตัวรถไฟ