ส่งแรงใจเชียร์ตูนวิ่งถึงเป้าหมาย หมอวอนแฟนคลับร่วมถนอมตูน

ส่งแรงใจเชียร์ตูนวิ่งถึงเป้าหมาย หมอวอนแฟนคลับร่วมถนอมตูน

หมอสมศักดิ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชื่นชม “ตูน บอดี้สแลม” เป็นแบบอย่างที่น่ายกย่องในความเสียสละเพื่อประชาชนคนไทย เป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งเพื่อสุขภาพ และส่งกำลังใจให้ก้าวไปสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจ 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” นักร้องชื่อดัง ซึ่งได้เริ่มออกสตาร์ทวิ่งจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตามโครงการ "ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา โดยกำหนดแผนการวิ่งจากสุดเขตแดนใต้ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สู่สูงสุดแดนสยามที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร สำหรับการวิ่งในระยะไกลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงขอส่งความห่วงใยไปยังตูนและคณะที่แม้จะมีการฝึกซ้อมร่างกายมาเป็นอย่างดี แต่เมื่อเจอเหตุการณ์จริงที่แตกต่างจากการซ้อมเป็นอย่างมาก ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนและระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อ จึงอยากขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมส่งกำลังแรงใจเชียร์และถนอมสุขภาพร่างกายของตูนให้แข็งแรงด้วยการเคารพกฎกติกา เช่น ร่วมให้กำลังใจในจุดพักที่กำหนด งดถ่ายรูปร่วมหรือเซลฟี่ระหว่างทางหรือขณะกำลังวิ่ง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ตูนและคณะสามารถวิ่งได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในแต่ละวัน ลดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างวิ่ง และสามารถวิ่งสู่จุดหมายปลายทางตามที่ตั้งใจไว้ 

นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ  กรมการแพทย์ กล่าวว่า การวิ่งเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ร่างกายให้แข็งแรง และสามารถทำได้ในทุกวัย แต่การวิ่งระยะไกลหรือการวิ่งมาราธอนนั้น แฟนคลับหรือประชาชนที่ต้องการร่วมวิ่งกับคณะ ต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายเป็นอย่างดี โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายปรับแนวคิด สร้างวินัยในการฝึกซ้อม เสริมความแข็งแกร่งให้ร่างกาย และฝึกซ้อมให้ชินกับการวิ่งระยะทางยาวๆ ก่อน สำหรับการวิ่งช้าๆ ในระยะทางไกล (LSD) หรือ Long Slow Distance เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพื่อทำให้ทราบกำลังของตนเอง การฝึกซ้อมจริงเป็นสิ่งจำเป็นทำให้ร่างกายซึมซับประสบการณ์ทุกระยะทางที่ก้าว รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดโปรแกรมฝึกซ้อม สำหรับผู้ที่เริ่มวิ่งอาจตั้งเป้าหมาย 20 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ หรืออาจปรับระยะทางตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายแต่ละคน เมื่อร่างกายเกิดความเคยชินจึงค่อยๆ ปรับระยะทางเพิ่มไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญควรจัดสรรเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ควรเร่งรีบเพราะอาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บได้ 

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วง 3-4 ชั่วโมง ก่อนวิ่ง ควรทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง แต่ไฟเบอร์ต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ  หากต้องการพลังงานเพิ่มระหว่างวิ่งสามารถทานอาหารเสริมพลังงาน (Power Bar) และหลังจากวิ่งเสร็จประมาณ 30-60 นาที ควรทานอาหารประเภทโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ถือว่าจำเป็นมากเพราะเป็นการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาได้เร็วขึ้น ควรดื่มน้ำทั้งก่อน ระหว่าง และหลังวิ่งเสร็จ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ อาจเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ก็ได้  ควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิ่งมีความสำคัญ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า ควรคำนึงถึงคุณสมบัติการระบายเหงื่อ ลดการเสียดสี ไม่อับชื้นเหมาะสมกับสภาพอากาศ 

สำหรับโครงการ "ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” คณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมการแพทย์ ขอชื่นชม “ตูน บอดี้สแลม” ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของนักวิ่งที่มีวินัย มีใจมุ่งมั่น ฝึกซ้อมร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งเพื่อสุขภาพ และที่สำคัญมีความเสียสละเพื่อประชาชน จึงขอส่งแรงใจให้ตูนทำภารกิจวิ่งก้าวคนละก้าวจนถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยสวัสดิภาพ