‘ไทย’ขึ้นเบอร์2รองอินโดฯตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียน

‘ไทย’ขึ้นเบอร์2รองอินโดฯตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียน

ตลาด“อีคอมเมิร์ซ”มีทิศทางเติบโตทั่วโลก รวมทั้งภูมิภาคอาเซียน  iPrice  บริษัทอีคอมเมิร์ซใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สำรวจการแข่งขันใน 3 ประเทศที่ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว  โดยศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ใน ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม

กันต์พจน์ สุริวงศ์  ซีเนียร์ คอนเทนท์ มาร์เก็ตติ้ง  iPrice Group กล่าวว่าวันนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ลาซาด้า (Lazada) ที่เข้ามาทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 5 ปีแล้ว ด้วยเงินทุนจำนวนมากและการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา ช่วงต้นปีที่ผ่านลาซาด้า ขึ้นเป็นเจ้าตลาดทั้ง 3 ประเทศ

 จากการศึกษาทราฟฟิกของยักษ์ใหญ่ 5 อันดับในแต่ละประเทศนั้น พบว่าไทยและมาเลเซีย ถูกลาซาด้าครองตลาดกว่า 50% กล่าวคือคนไทยและคนมาเลเซียเข้าใช้บริการลาซาด้าเป็นหลัก แสดงให้เห็นถึงการผูกมัดที่ ลาซาด้า มีต่อคนไทยและมาเลเซีย ทำให้มีตัวเลือกน้อยลง 

ในทางกลับกันที่เวียดนาม ถึงแม้ลาซาด้า จะมีทราฟฟิกเกือบ 20% เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ยังมีคู่แข่งเล็ก ๆ อีกมากมายที่ครองทราฟฟิกมากกว่า 10% อีกหลายราย แสดงให้เห็นว่าคนในเวียดนามมีตัวเลือกที่หลากหลายและมีคุณภาพ ตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้นเรียกตลาดแบบนี้ว่า perfect competition คือมีการแข่งขันสูง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่สามารถเลือกคุณภาพสินค้าและบริการได้ตามกำลังซื้อ

ส่องพฤติกรรมค้นหาข้อมูล

คนมาเลเซียจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโปรโมชั่นของสินค้ามากกว่าคนในสองประเทศ สำหรับคนเวียดนาม จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับราคาของสินค้าและตรวจสอบว่าสินค้าพร้อมวางจำหน่ายหรือไม่

ในยุคที่คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นผ่านสมาร์ทโฟน คนในยุคนี้จึงหันมาค้นหาข้อมูลผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะง่ายและสะดวก ไม่จำเป็นต้องสอบถามจากเพื่อน ครอบครัว หรือพนักงานขายเหมือนแต่ก่อน 

ถึงแม้พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลจะเปลี่ยนแปลงไป แต่คนในยุคนี้ยังให้ความสำคัญกับการได้เห็นสินค้า จับต้อง และทดสอบสินค้าก่อนซื้อ โดยเฉพาะคนไทยเมื่อเทียบกับคนอีกสองประเทศ คนไทยค้นหาข้อมูลออนไลน์มากขึ้น แต่ยังเดินทางไปห้างสรรพสินค้าเพื่อทดสอบสินค้าและซื้อสินค้าจากหน้าร้านอยู่ 

ปัญหานี้มาจากหลาย ๆ สาเหตุด้วยกัน เช่น คนไทยต้องการทดสอบสินค้าก่อนซื้อ พวกเขาไม่เชื่อระบบการซื้อขายออนไลน์ ไม่เชื่อถือระบบการจัดส่ง หรือพวกเขาไว้ใจห้างร้านและพนักงานที่สามารถพบเจอในชีวิตจริงมากกว่าการซื้อผ่านระบบคอมพิวเตอร์นั่นเอง

นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ตปท.

คนเวียดนามนิยมซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ เนื่องจากเชื่อว่าสินค้าจากต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่าสินค้าที่ผลิตและวางขายในเวียดนาม อีกทั้งคนไทยก็นิยมซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศเช่นกัน เหตุผลอันเนื่องมาจากสินค้ามีความหลากหลาย และคนไทยนิยมแบรนด์จากต่างชาติ รวมทั้งสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศมักมีราคาถูกกว่าสินค้านำเข้ามาขายในห้างร้าน

ถึงแม้ทั้งสองชาตินี้นิยมซื้อสินค้าจากต่างประเทศ หนึ่งเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บต่างชาติน้อยลงนั่น คือ ปัญหาในการสื่อสาร เนื่องจากเว็บไซต์ต่างชาตินิยมใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง ดังนั้นการซื้อสินค้าโดยใช้ภาษาอังกฤษ จะทำให้ผู้ซื้อไม่สะดวกใจที่จะทำธุรกรรมที่ยุ่งยากในภาษาที่ตัวเองไม่ถนัด 

ขณะที่คนมาเลเซีย ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสารในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาในการซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์จากต่างประเทศ

จากการศึกษาร่วมกับบริษัท Socialbakers ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านโซเชียลมีเดีย พบว่าคนไทยมี engagement กับ“เฟซบุ๊คเพจ” สูงกว่าคนในมาเลเซียและเวียดนาม กล่าวคือคนไทยผูกพันกับแฟนเพจร้านขายสินค้าออนไลน์สูงกว่าเพื่อนบ้าน คนไทยนิยมกดไลค์ กดแชร์ และคอมเมนท์โพสต์ที่ทางเว็บเพจได้นำเสนอ

โดย Interaction per 1000 fans ที่ใช้เป็นเครื่องมือวัดผล engagement นี้ไทยมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี2559-ไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ 237.6, มาเลเซีย 109 และเวียดนาม 208.9

ไทยรั้งเบอร์2อีคอมเมิร์ซ

Google และ Temasek ศึกษาตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าปี 2558 อีคอมเมิร์ซในไทย ถือเป็นตลาดเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับมาเลเซียและเวียดนาม จากการคาดการณ์ในอีก 8 ปีนับจากนี้ (ปี 2568) ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยอัตรา 29% ต่อปี จนมีขนาดใหญ่กว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของมาเลเซียและเวียดนาม 

โดยไทยจะเป็นที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซียอีกด้วย ซึ่งตลาดไทยจะมีขนาดอยู่ที่ 11.1 พันล้านดอลลาร์ มาเลเซีย 8.2 พันล้านดอลลาร์ และเวียดนาม 7.5 พันล้านดอลลาร์

จากแนวโน้มการเติบโตตลาดอีคอมเมิร์ซใน 3 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าถึงตัวเลือกที่มีมากขึ้นและคุณภาพของสินค้าและบริการที่ดีขึ้น เนื่องจากร้านค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซจะต้องแข่งขันมากขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในใจผู้บริโภค