ชาวบ้านคิดอย่างไร กับ '6 คำถาม' เช็คเรทติ้ง

ชาวบ้านคิดอย่างไร กับ '6 คำถาม' เช็คเรทติ้ง

จับประเด็นร้อน! ชาวบ้านคิดอย่างไร กับ "6 คำถาม" เช็คเรทติ้ง

“ทีมล่าความจริง” ลงพื้นที่สอบถามความเห็นของพี่น้องประชาชน เกี่ยวกับการตั้งคำถามทั้ง 6 ข้อของ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งล่าสุดเพิ่งถูกบรรดานักการเมือง ทั้งวิชาการ รวมทั้งอดีตกรรมการองค์กรอิสระ ออกมารุมสับรอบทิศว่า เป็นคำถามขยายปมขัดแย้ง สร้างความแตกแยก และส่งสัญญาณสืบทอดอำนาจ แถมยังสุ่มเสี่ยงขัดกฎหมาย เพราะทำท่าจะครอบงำพรรคการเมืองที่ คสช.เตรียมสนับสนุน

นั่นเป็นเสียงวิจารณ์จาก “กลุ่มคนเสียงดัง” ซึ่งมีพื้นที่ข่าวในสื่อสารมวลชน แต่ประชาชนทั่วไปที่เป็นชาวบ้านร้านตลาดคิดอย่างไร ย่อมน่าสนใจไม่แพ้กัน

เริ่มจาก คุณป้าศิริวิมล ฤชาสุนทร อาศัยอยู่ย่านอุดมสุข บอกว่า 6 คำถามที่รัฐบาลถาม ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และทำให้ประเทศชาติดีขึ้น ยืนยันว่าจะจะไปลงทะเบียนเพื่อตอบคำถามของนายกฯอย่างแน่นอน

“ทุกวันนี้ประเทศชาติก็ดีอยู่แล้ว ส่วนตัวไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้งมักจะได้แต่นักการเมืองที่โกงกินเข้ามา คนเหล่านี้ไม่สนใจประเทศชาติ มุ่งแต่หาประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง” คุณป้าศิริวิมล ระบุ

ขณะที่มุมมองของคนรุ่นใหม่อย่าง พีชญา แถบหอม ซึ้งกำลังศึกษาในระดับวิทยาลัย บอกว่า อยากไปลงทะเบียนเพื่อตอบคำถามทั้ง 6 ข้อของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายด้านการศึกษาและนโยบายสำคัญอื่นๆ เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลมักตอบสนองเฉพาะกลุ่มคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุเท่านั้น เนื่องจากเป็นนโยบายเดิมๆ ที่ใช้มานานแล้ว

สองคนแรกที่ “ทีมล่าความจริง” ไปสุ่มถาม ปรากฏว่าต้องการไปตอบคำถามนายกฯทั้งคู่ แต่คนที่ไม่อยากไปตอบคำถามก็มีเช่นกัน อย่าง ลุงเฉลิม จิตสงบ โชเฟอร์รถรับจ้างสาธารณะ บอกว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่รู้จะไปตอบคำถามทำไม

“การเมืองก็ยังไม่ปลดล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหว รัฐบาลก็มุ่งแต่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างเดียว ขณะที่การเลือกตั้งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เคยประกาศว่าจะให้มีเลือกตั้งในปีหน้า แต่ป่านนี้ยังไม่ปลดล็อกทางการเมือง ทำให้ประชาชนอย่างผมทำมาหากินลำบากมาก” ลุงเฉลิม กล่าว

การปลดล็อกพรรคการเมือง และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มตัวนั้น จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น โดยในมุมมองของอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า บอกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำในช่วงโค้งสุดท้ายแบบนี้ คือให้ความรู้ประชาชนในเรื่องระบบการเลือกตั้ง เพราะเป็นระบบใหม่ และการกากบาทเพียงครั้งเดียว ส่งผลต่อเนื่องถึง 3 เรื่องสำคัญ

“เราต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง และเรียนรู้วิธีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะคนที่จะเลือกตั้งครั้งแรก ต้องรีบให้ความรู้เขา เพราะระบบเลือกตั้งได้เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องให้ความรู้ควบคู่ไปกับการทำงานของพรรคการเมืองที่จะหาเสียง เนื่องจากบัตรเดียวมันหมายถึง 3 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกผู้แทนในระบบเขต ระบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงมีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งประชาชนจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ทั้งหมดเป็นโค้งสุดท้ายในการสร้างความรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่าง กกต. รวมถึงภาคประชาชนที่ต้องตรวจสอบการเลือกตั้ง เพราะแค่การกากบาทครั้งเดียว จะสร้างผลในระยะไกลในทางการเมือง” ดร.ถวิลวดี ระบุ

ไม่ว่าคำถาม 6 ข้อจะถูกใจใครหรือไม่ถูกใจใครก็ตาม แต่วิธีการของ “นายกฯลุงตู่” ครั้งนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “เช็คเรทติ้ง” ทั้งของตัวเองและรัฐบาล คำถามที่น่าสนใจก็คือเมื่อทราบเรทติ้งของตัวเองแล้ว จะกำหนดทิศทางการเมืองต่อไปอย่างไร

นั่นก็คือสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการคำตอบจากนายกฯเหมือนกัน!