ปัญหาการเมืองซาอุฯหนุนราคาน้ำมันดิบปิดบวก

ปัญหาการเมืองซาอุฯหนุนราคาน้ำมันดิบปิดบวก

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าตลาดสหรัฐ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี(9พ.ย.)ตามเวลาท้องถิ่น ปรับตัวขึ้น เพราะได้ปัจจัยบวกจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และปัญหาการเมืองในซาอุดิอาระเบีย

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดไนเม็กซ์  เพิ่มขึ้น 36 เซนต์ หรือ 0.6%  ปิดตลาดที่ราคา 57.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้น 39 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดตลาดที่ราคา 63.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่กรุงเวียนนาในวันที่ 30 พ.ย. นี้  ซึ่งจะมีการหารือกันเกี่ยวกับการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน

ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียต่างก็สนับสนุนให้มีการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือนจนถึงสิ้นปีหน้า จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในไตรมาสแรกของปีหน้า

นักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า หากโอเปกและประเทศนอกโอเปกสามารถบรรลุข้อตกลงขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปีหน้า ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งแตะระดับ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีหน้า

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน รวมทั้งการที่กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลาซิส อัล ซาอุด แห่งซาอุดิอาระเบีย ประกาศกวาดล้างการทุจริตครั้งใหญ่ ซึ่งนำไปสู่การจับกุมตัวมกุฎราชกุมารอัลวาลีด บิน ทาลาล และเจ้าชายคนอื่นๆ รวมทั้งรัฐมนตรี มหาเศรษฐี และอดีตเจ้าหน้าที่อีกหลายคน

ทางการซาอุดิอาระเบีย ออกประกาศเตือนประชาชนมิให้เดินทางเข้าสู่เลบานอน พร้อมกับสั่งชาวซาอุดิอาระเบียที่อยู่ในเลบานอนให้รีบเดินทางออกจากประเทศโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียกล่าวหาเลบานอนว่าได้ทำการประกาศสงครามต่อซาอุดิอาระเบีย หลังการรุกรานของกลุ่มฮิสบอลลาห์ในเลบานอน ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน

นายเธเมอร์ อัล-ซาบาน รมว.ฝ่ายกิจการอ่าวอาหรับของซาอุดิอาระเบีย กล่าวว่า รัฐบาลเลบานอนจะต้องถูกจัดการในฐานะรัฐบาลที่ได้ประกาศสงครามต่อซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่ได้ละเลยในการกวาดล้างกลุ่มฮิสบอลลาห์

นายอัล-ซาบานกล่าวว่า เลบานอนจะต้องรู้ถึงความเสี่ยงเหล่านี้ และแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินไป

ทั้งนี้ เลบานอน ถูกดึงเข้าสู่ปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน นับตั้งแต่ที่นายซาอัด อัล-ฮารีรี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอาระเบีย ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลบานอนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่ได้กล่าวหาอิหร่าน และกลุ่มฮิสบอลลาห์ในแถลงการณ์ลาออกจากตำแหน่งของเขา