ศุลกากรยึดงาช้าง-เกล็ดลิ่นลอบนำเข้ามูลค่ากว่า 11 ลบ.

ศุลกากรยึดงาช้าง-เกล็ดลิ่นลอบนำเข้ามูลค่ากว่า 11 ลบ.

ศุลกากรยึดงาช้าง-เกล็ดลิ่นลักลอบนำเข้าจากคองโก มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่กรมศุลกากร นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วยพล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายปฏิบัติการ 1 ร่วมกันแถลงผลตรวจยึดงาช้างจำนวน 4 กิ่ง 39 ท่อน น้ำหนักกว่า 116 กิโลกรัม และเกล็ดลิ่น จำนวน 15 กิโลกรัม ลักลอบนำเข้าจาก เมืองกินชาซา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มูลค่า 11,750,000 บาท

23331026_10155898011247855_4926073541405757549_o

นายกุลิศ เปิดเผยว่า กรมศุลกากรมีนโยบายด้านการควบคุมทางศุลกากร และปกป้องสังคมอย่างเคร่งครัด จึงเข้มงวดเป็นพิเศษในการสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า และซากสัตว์ป่าสงวนข้ามชาติ ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือผ่านประเทศไทยทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งมีแนวโน้มลักลอบสูงขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ศุลกากรพบว่า ขบวนการค้างาช้างจะลักลอบนำงาช้างเข้ามาในประเทศไทยในเที่ยวบินที่มาจากหรือผ่านประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงสูง ที่เครือข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยใช้วิธีการสำแดงชนิดสินค้าที่เห็นได้ว่าเป็นสินค้าประจำถิ่นในประเทศแถบแอฟริกา เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงเฝ้าระวังสินค้าที่มีต้นทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

23379985_10155898011372855_8409051105375121301_n

นายกุลิศ กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินค้าทางอากาศยาน (Manifest) พบข้อมูลการนำเข้าที่มีความเสี่ยงในการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ นำเข้ามาทางสายการบินเตอกิซแอร์ไลน์ (Turkish Airlines) เที่ยวบินที่ TK064 ขนส่งจากต้นทางท่าอากาศยานกินชาซา (N'Djili International Airport or Kinshasa International Airport) เมืองกินชาซา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย สำแดงชนิดสินค้าเป็น Fish maws หรือกระเพาะปลา จำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนักรวมประมาณ 120 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดสินค้าและตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์ ผลปรากฏพบภาพวัตถุคล้ายงาช้าง เจ้าหน้าที่จึงรอผู้รับตราส่งมาปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร เพื่อเตรียมทำการจับกุม แต่ก็ไม่มีผู้ใดมาแจ้งขอดำเนินพิธีการทางศุลกากรแต่อย่างใด จากการสืบสวนพบว่า การลักลอบนำเข้าในครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกับการลักลอบนำเข้างาช้าง จำนวน 1 กิ่ง 28 ท่อน ที่ถูกตรวจยึด เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 60 และเป็นการใช้ชื่อ-ที่อยู่ปลอม เพื่อปกปิดอำพรางไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบ

23472014_10155898011377855_4288831190280546121_n

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดตรวจสินค้า พบงาช้างจำนวน 4 กิ่ง 39 ท่อน น้ำหนักรวม 116 กิโลกรัม และเกล็ดลิ่น 15 กิโลกรัม ซุกซ่อนมาในกล่องกระดาษสีน้ำตาลและห่อหุ้มด้วยพลาสติกใสอีกชั้นหนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นการลักลอบนำเข้างาช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ได้ยึดงาช้างทั้งหมดไว้เป็นของกลาง และนำส่งให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เก็บรักษา ส่วนสำนวนคดีส่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า ได้ให้ทางเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมาเก็บราวละเอียดต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบในการติดตามต้นทางที่มาของงาช้างเหล่านี้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกวดขันเข้มงวดการลักลอบค้างาช้างอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการค้ากล้วยไม้ และจระเข้

ขณะที่ นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า หลายภาคส่วนได้ร่วมกันป้องกันการนำผ่าน หรือลักลอบนำเข้างาช้างเข้ามาภายในประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมสมัยสามัญประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาไซเตสได้มีการยกระดับประเทศไทยขึ้นมาดีขึ้นอยู่ในระดับ Secondary Concern อย่างไรก็ตามการตรวจยึดงาช้างดังกล่าวจะถูกนำไปตรวจสอบดีเอ็นเอเพื่อประกอบในสำนวนของเจ้าหน้าที่ โดยในช่วงปลายเดือนนี่ก็จะมีการประชุมเรื่องนี้ต่อไป

ทั้งนี้สำหรับสถิติการตรวจยึดสินค้าละเมิดอนุสัญญาไซเตส (CITES) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรสามารถจับกุมการลักลอบนำเข้า-ส่งออก-นำผ่าน สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งสิ้น จำนวน 46 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 350,000,000 บาท โดยในปีงบประมาณ 2559 คดีเกี่ยวกับงาช้าง 9 คดี จำนวน 401 ชิ้น/ท่อน เต่า 16 คดี จำนวน 6,913 ตัว ตัวลิ่น/เกล็ดลิ่น 1 คดี จำนวน 587 กิโลกรัม และสัตว์และซากสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ตัวนาก, นก ฯลฯ 28 คดี จำนวน 3,725 ตัว/ชิ้น ส่วนปีงบประมาณ 2560 คดีเกี่ยวกับงาช้าง 5 คดี จำนวน 510 ชิ้น/ท่อน นอแรด 4 คดี 49 ชิ้น เต่า 4 คดี จำนวน 236 ตัว ตัวลิ่น/เกล็ดลิ่น 5 คดี จำนวน 136 ตัว 4,416 กิโลกรัม ไม้ประดู่และไม้ชิงชัน 7 คดี จำนวน 3,036 ชิ้น/ท่อน และสัตว์และซากสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ตัวนาก, นก ฯลฯ 21คดี จำนวน 13,766 รายการ