รับแนวคิดนายกฯ ผุด 'บช.ก.สอบสวน' ดึงนักกฎหมายร่วม

รับแนวคิดนายกฯ ผุด 'บช.ก.สอบสวน' ดึงนักกฎหมายร่วม

กรรมการปฏิรูปตำรวจ ขานรับแนวคิดนายกฯ แยกงานสอบสวน เล็งตั้งเป็นกองบัญชาการ เปิดทางผู้เชี่ยวชาญ-นักฎหมายร่วมทีม เตรียมเชิญ “วิษณุ-ประวิตร” ให้ข้อมูลเพิ่มเติม 13 พ.ย.นี้ ขณะที่ยืนยัน ก.ตร.ต้องมีผู้ทรงวุฒิทั้งตำรวจและบุคคลภายนอก

นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (8 พ.ย.) ถึงความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ ว่าตามที่คณะกรรมการมีข้อสรุปเบื้องต้นให้งานสืบสวนและสอบสวนอยู่ด้วยกันนั้น

ล่าสุดมีแนวโน้มอาจต้องมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากมีข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย มาประสานงานกับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้ทบทวนแนวทางเรื่องการแยกภารกิจด้านงานสอบสวนให้ชัดเจน

โดยอาจให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ตำรวจ แต่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์และการพิจารณาอรรถคดีมาทำหน้าที่ในงานสอบสวนได้ ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการฯจะประสานนายวิษณุและพล.อ.ประวิตรมาให้ข้อมูลและรายละเอียดอีกครั้ง ในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะแยกงานสอบสวนออกมาเป็นอีกหนึ่งกองบัญชาการต่างหาก แต่ยืนยันว่างานสอบสวนกับงานปราบปรามจะต้องประสานและสอดคล้องกัน

นายมานิจ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องของแนวทางการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจนั้น คณะกรรมการได้พิจารณาและเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเดิม เพื่อให้การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายมีความชัดเจน และสอดคล้องกับตามมาตรา 258 (ง) ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้หลักเกณฑ์วิธีการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องพิจารณาโดยมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติงานของตำรวจ หรือกระบวนการแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถหลักอาวุโส เพื่อให้การทำงานเป็นไปโดยอิสระ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งที่เคยเป็นตำรวจ และไม่เป็นตำรวจ รวมอยู่ด้วยอีกทั้งก.ตร.จะแต่งตั้งได้เฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ส่วนตำแหน่งอื่น ๆจะพิจารณาในสายบัญชาการของตนเอง โดยแบ่งเป็น 12 สาย คือ กองบัญชาการภาค 1 -9 ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และจเรตำรวจ

โดยจะมีการหารือให้ได้ข้อสรุปอีกครั้งภายในวันศุกร์ที่10 พ.ย.นี้ และจะส่งให้คณะอนุกรรมการไปรับฟังความคิดเห็นก่อนจะสรุปข้อเสนอทั้งหมดส่งให้นายกรัฐมนตรีภายในวันที่ 29 ธ.ค.