เดินหน้าลง 'สนามการเมือง' คสช.ปรับลุคเตรียมพร้อม?

เดินหน้าลง 'สนามการเมือง' คสช.ปรับลุคเตรียมพร้อม?

จับประเด็นร้อน! เดินหน้าลง 'สนามการเมือง' คสช.ปรับลุคเตรียมพร้อม

การเมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากมีความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาฝากคำถามถึงประชาชนใน 6 ข้อประกอบด้วย

1.วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่หรือนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่? และการที่มีแต่พรรคการเมืองและนักการเมืองหน้าเดิมแล้วได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?

2.การที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็เป็นสิทธิของคสช.และสิทธิของตนใช่หรือไม่? 3.สิ่งที่คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่?และเห็นด้วยกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมเป็นเวลานานด้วยการรื้อใหม่? และการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนหรือไม่?

นอกจากนี้เห็นด้วยให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูป เพื่อให้การเมืองไทยในอนาคตมีประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาลและมีความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศหรือไม่? อีกทั้งการทำงานของทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศไม่ใช่ทำตามเพียงนโยบายพรรคที่หาเสียงไว้ หรือดูแลเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงใช่หรือไม่?

4.การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตมาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ? 5.รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพมีธรรมาภิบาลและมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่?

และ6.เหตุใดพรรคการเมืองและนักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหวด้อยค่าคสช.รัฐบาล และนายกฯ บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติจึงขอฝากถามประชาชนว่าเพราะอะไร?

หากอ่านทั้ง6คำถามโดยละเอียด ค่อนข้างชัดว่าเป็นการหยั่งเสียงและเช็คคะแนนความนิยมของรัฐบาล!

ถัดมาใน ประเด็นการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดตัว “พรรคพลังชาติไทย” ที่มี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตนายทหารพระธรรมนูญ ที่แม้จะดู “โนเนม” แต่ว่ากันว่ามีความใกล้ชิดกับคสช.เป็นหัวหน้าพรรค

จนมีการมองว่าเป็นพรรคนอมินีที่คสช.เตรียมไว้หลังจากการเมืองกลับเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ในส่วนของพล.ต.ทรงกลด เองได้ออกตัวปฏิเสธเรื่องนี้ว่า ไม่ถนัดการเมืองและยังไม่ได้จดทะเบียนพรรคเพียงแต่ทำหน้าที่จิตอาสาในนามของพรรค

พร้อมเลี่ยงบาลีการจากใช้คำว่า “พรรคพลังชาติไทย” เนื่องจากขณะนี้คสช.ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เป็นการทำกิจกรรมในรูปแบบของ“ศูนย์ประสานงานจิตอาสาพลังชาติไทย” ในการเดินสายทำกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆในขณะนี้

ขณะที่ท่าที่จากทางฝั่งรัฐบาลและคสช.เองได้ออกมาปฏิเสธ ในเรื่องดังกล่าวว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับคสช.โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ไม่รู้จักพล.ต.ทรงกลด ไม่จำเป็นต้องพึ่งใคร รวมทั้งอยู่ระหว่างให้กลาโหมไปตรวจสอบในเรื่องนี้

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ปฏิเสธในเรื่องนี้ พร้อมยืนยันว่าคสช.จะไม่ยุ่งกับการเมือง และยังไม่คิดตั้งพรรคยกเว้น “มีความจำเป็น”

โยงไปถึงการเดินทางเยือนประเทศจีนของ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ.และ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรากฏภาพของอดีตนักการเมืองอาทิ ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ และ กรพจน์ อัศวินวิจิตร แกนนำพรรคชาติพัฒนาร่วมคณะไปด้วย ซึ่งโดยมีชัยเอง ได้ออกมาปฏิเสธกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าเป็นการทาบทามพูดคุยเพื่อร่วมงานการเมืองว่า “ไม่เป็นความจริง และทั้งสองก็ไม่ได้เล่นการเมืองแล้ว”

ขณะเดียวกันเรื่องนี้ยังมีการออกมาเปิดประเด็นโดย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ขณะนี้พรรคทหารเริ่มเดินสายหาเสียงและมีการเปิดตัวอย่างเปิดเผยในพื้นที่ภาคใต้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการเกษียณอายุ

ประเด็นการตั้งพรรคการเมืองนั้นตามที่พล.อ.ประวิตรระบุเงื่อนไขนำไปสู่การตั้งพรรค “เมื่อมีความจำเป็น” นั้นก็สามารถตีความไปได้หลายทาง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้เห็นพรรคการเมืองใหม่ภายใต้การนำของคสช.ก็เป็นได้

ไม่แปลกที่ในอนาคตคสช.อาจมีการตั้งพรรคและลงสู่สนามการเมืองเพราะในอดีตที่ผ่านมา หลายครั้งเมื่อมีการรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็มักจะมีการตั้งพรรคภายหลังจากการเมืองกลับเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง และหากย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่มีการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ในขณะนั้นก็ได้มีการตั้ง “พรรคมาตุภูมิ” ขึ้นมาภายหลังการลงจากอำนาจ

ดังนั้นประเด็นการตั้งพรรคการเมืองจึงไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า หลังการตั้งพรรคทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร? รวมทั้งพรรคที่ตั้งจะสามารถคุมเสียงและได้รับการยอมรับจากประชาชนมากน้อยเพียงใด?
อีกประเด็นที่น่าติดตามไม่แพ้กันนั้นคือ หน้าตา “ครม.ประยุทธ์5” ที่ได้วางโจทย์สำคัญในการ “ลดสัดส่วนทหารเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอก” โดยการมองว่าจะเป็นโอกาสสำคัญกู้ภาพลักษณ์เพื่อเรียกกระแสคะแนนความนิยมของรัฐบาลและคสช.ให้กลับมา

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าจะตกลงเนื่องจากปัญหาสำคัญคือประเด็นเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถือเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีถูกโฟกัสเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากสาเหตุราคาพืชผลและสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำ รวมถึงรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ว่ากันว่าอาจจะมีการปรับครั้งสำคัญอีกด้านหนึ่ง

ในประเด็นการปรับครม.นั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นการ “ปรับลุค” เพื่อ“สลัดภาพ”ความเป็นรัฐบาลทหารก่อนลงจากอำนาจเพื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีผลไปถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลและคสช.หากในอนาคตจะมีการตั้งพรรคและลงสู่สนามการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ!!

สำรวจ‘พรรคทหาร’ในตำนาน
ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดตั้งพรรคทหารอาทิ พรรคเสรีมนังคศิลา ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2498 มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าพรรค ,พรรคสหภูมิ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2500 มีนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลา เป็นหัวหน้าพรรคโดยได้รับการสนับสนุนจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น
รรคชาติสังคม ก่อตั้งขึ้นวันที่ 21 ธ.ค.250 ภายหลังหลังการรัฐประหารในปีเดียวกันโดยเป็นการยุบรวมระหว่างพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลา โดยมีจอมพลสฤษดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค, พรรคสหประชาไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2511มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค
พรรคสามัคคีธรรม ก่อตั้งเมื่อวันที่3 ม.ค.2535 มาจากการรวบรวมนักการเมือง และมีบุคคลใกล้ชิดกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และครั้งล่าสุดคือ พรรคมาตุภูมิ ก่อตั้งเมื่อวันที่3 พ.ย.2551 ภายหลังการรัฐประหารปี 2549 มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าพรรคและยังเป็นพรรคที่จดทะเบียนอยู่ในปัจจุบัน