เจาะข่าวร้อน! 'ป้าสมปองหาคู่' สะท้อนวิกฤติ 'สังคมผู้สูงอายุ'

เจาะข่าวร้อน! 'ป้าสมปองหาคู่' สะท้อนวิกฤติ 'สังคมผู้สูงอายุ'

"ทีมล่าความจริง" เจาะข่าวร้อน! "ป้าสมปองหาคู่" สะท้อนวิกฤติ "สังคมผู้สูงอายุ"

การติดป้ายประกาศหาคู่ของ ป้าสมปอง ชมพูประเภท วัย 65 ปี จนเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อสัปดาห์ก่อน ในมิติหนึ่งสะท้อนถึงจำนวนของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีมากขึ้น และเป็นผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพัง ไม่มีคู่ชีวิตคอยดูแล

ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มองว่า การหาคู่เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ผู้สูงอายุไม่เหงาในชีวิตบั้นปลาย แต่วิธีการที่จะทำให้ตัวเองมีเพื่อนนั้น มีมากมายหลายวิธี อาจจะทำได้โดยการออกมาพบปะผู้คนมากขึ้น ทั้งในชุมชนของตนเองและใกล้เคียง

ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” หรือ Ageing Society แล้ว โดยอ้างอิงจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ระบุว่าจำนวนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวนมากถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ เพราะอีกด้านหนึ่งอัตราการเกิดก็ลดต่ำลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีบุตรน้อย และบางคนเลือกที่จะไม่มีบุตร เพราะมองว่าเป็นภาระ บวกกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ล้ำหน้าขึ้น ทำให้คนไทยมีชีวิตยืนยาวมากยิ่งขึ้น อัตราการเสียชีวิตในแต่ละปีก็ลดลงตามไปด้วย

ปัญหาที่ตามมา คือ ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคล เพราะจำนวนคนวัยทำงานลดลง ประกอบกับอัตราการเกิดที่ต่ำ ทำให้สัดส่วนของประชากรวัยเด็กลดลง และจะไม่เพียงพอต่อการทดแทนจำนวนแรงงานที่จะปลดเกษียณในอนาคตในทุกอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นได้จากปัจจุบันเริ่มมีการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีเป็น 65 ปี ที่สำคัญคนวัยทำงานต้องมีภาระหนักขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ขนาดครอบครัวที่เล็กลง ย่อมหมายถึงผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่ลำพังมากขึ้น เช่นเดียวกับกรณีป้าสมปอง

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มีมาตรการรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น โดยมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ, ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุจำนวน 878 แห่งทั่วประเทศ มีโรงเรียนผู้สูงอายุ 1,156 แห่งที่ส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ ทั้งยังมีการจ้างงานผู้สูงอายุ, การสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุ, สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ รวมถึงเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได จำนวน 600 – 1,000 บาทที่รัฐสนับสนุนให้ทุกเดือน

แต่การรองรับปัญหาที่สำคัญที่สุด คือการขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ผู้สูงอายุดูแลกันในชุมชน
ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุอีกว่า จำนวนประชากรสูงอายุกว่า 10 ล้านคนในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งหมด โดยผู้สูงอายุไทยสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคม มีอยู่ประมาณ 8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 78.5 กลุ่มติดบ้าน ราว 2 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 19 และกลุ่มติดเตียง ราว 160,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.5

และยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” หรือมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในปี 2578 จะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” หรือ Super Aged Society คือมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

แน่นอนว่าวัยรุ่นในวันนี้จะกลายเป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้า ฉะนั้นหากเตรียมรับมือไม่ดี สังคมไทยย่อมต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่อย่างแน่นอน!