สรุปประเด็นคำพิพากษา คดี 'ยิ่งลักษณ์' จำนำข้าว

สรุปประเด็นคำพิพากษา คดี 'ยิ่งลักษณ์' จำนำข้าว

(รายงาน) สรุปประเด็นคำพิพากษา คดี “ยิ่งลักษณ์” จำนำข้าว

         เว็บไซต์ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เผยแพร่คำพิพากษาฉบับเต็มในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริตเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว โดยคำพิพากษาดังกล่าวมีความยาวถึง 95 หน้า โดยคำพิพากษามีคำวินิจฉัยทั้งสิ้น  6   ประเด็น ดังนี้

 ประเด็นแรก โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้

จำเลยต่อสู้ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นนโยบายของรัฐบาล คณะกรรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน

แต่ศาลฎีกาฯเห็นว่า แม้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก จะเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แต่หากปรากฏว่าในขั้นตอนปฏิบัติตามโครงการมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็ย่อมถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้ โดยเฉพาะคดีนี้เป็นกล่าวหาจำเลยซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้

ประเด็นที่สอง คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

จำเลยอ้างว่า คำฟ้องโจทก์เป็นการตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล และการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นการใช้อำนาจทางการบริหาร เป็นการใช้ดุลพินิจทางการเมือง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

แต่ศาลฎีกาฯ เห็นว่า คดีนี้เป็นการกล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ประเด็นที่สาม  คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยอ้างว่า โจทก์บรรยายฟ้องไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

แต่ศาลฎีกาฯเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ ได้บรรยายถึงฐานะและอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก รวมทั้งการละเลยไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งระงับยับยั้งโครงการ เพื่อระงับยับยั้งความเสียหาย  จึงเป็นการบรรยายฟ้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ประเด็นที่สี่ จำเลยได้ออกมาตรการ ป้องกันความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว สมเหตุสมผลแล้ว

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าว พบปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติและการรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ, ขั้นตอนการนำข้าวไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก และขั้นตอนการสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร ,การสวมสิทธิชาวนา, การนำข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิจำนำ, ข้าวสูญหาย ,การออกใบประทวนเท็จ, การใช้เอกสารปลอม, การขนข้าวสารโดยไม่ได้รับอนญาต 

แต่ความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตดังกล่าวที่เกิดขึ้นในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวแต่ละขั้นตอนนั้น เป็นกรณีการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน กขช. และคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ก็ได้ออกมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการในแต่ละขั้นตอนได้อย่างสมเหตุสมผลแล้ว 

ประเด็นที่ห้า พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการระบาย“ข้าวถุง”ที่ส่อไปในทางทุจริต

ศาลฎีกาฯเห็นว่า ในส่วนการระบาย“ข้าวถุง” ได้ความว่า หลังจากคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบของวุฒิสภาได้ทำการตรวจสอบในเรื่องการระบายข้าวถุง พล.ต.ท. ยุทธนา ได้เข้าพบนายนิวัฒน์ธำรง รมว.พาณิชย์และประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และแจ้งผลการตรวจสอบ พบการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตให้รับทราบ 

 หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ได้เรียกประชุมครั้งที่ 2/2556 และมีมติให้ อคส.ยุติการดำเนินการจัดทำข้าวสารบรรจุถุง และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อนายนิวัฒน์ธำรง และกระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานของ อคส.

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าฝ่ายการเมืองสั่งยุติการดำเนินการจัดทำข้าวบรรจุถุงทันทีที่ได้รับแจ้ง และต่อมาสั่งการให้มีการตรวจสอบ  จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกระทำความผิดเกี่ยวกับการระบาย“ข้าวถุง” กรณียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริต หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ

ประเด็นที่หก จำเลยละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริต เอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรงกับพวก แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวในขั้นตอนการระบายข้าว 

ศาลฎีกาฯเห็นว่า ในส่วนความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว โดยการแอบอ้างทำสัญญาขายแบบรัฐต่อรัฐ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยรับรู้การแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง, การตั้งกระทู้ถามสด ,กระทู้ทั่วไป, การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายการเมือง และข่าวสารจากสื่อมวลชน ยิ่งกว่านี้ก่อนเริ่มโครงการรับจำนำข้าว ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน  ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งเตือนและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเอานโยบายรับจำนำข้าวไปดำเนินการปฏิบัตินั้น จะมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน และการทุจริตในขั้นตอนต่างๆให้จำเลยทราบเป็นระยะๆ 

แต่จำเลยกลับไม่ได้ติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากจำเลยในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุม กขช. เพียงการประชุมครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนการประชุมอีก 22 ครั้ง ไม่ได้เข้าประชุม

โดยเฉพาะขั้นตอนการระบายข้าวนั้น จำเลยในฐานะประธาน กขช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พ.ต.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ และดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ในเวลาต่อมา ซึ่งภายหลัง พ.ต.วีระวุฒิ ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี  และหลบหนีในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว และยังเป็นอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว, อนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ,อนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว รวมทั้งอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งให้ พ.ต.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง เป็นอนุกรรมการชุดต่างๆ ดังกล่าว ล้วนให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวทั้งสิ้น

นอกจากนี้หลังจากที่นายวรงค์ เดชกิจวิกรม อภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการทุจริตการระบายข้าว ปรากฏว่ายังมีการส่งมอบข้าวตามสัญญาขายข้าวถึง 4 สัญญา ทั้งที่ยังมีระยะเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่นายวรงค์  อภิปราย และจำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะระงับยับยั้งการส่งมอบข้าวตามสัญญาที่ยังไม่ได้ส่งมอบไว้ก่อน 

แต่จำเลยในฐานะนายกฯและประธาน กขช.  ซึ่งมีอำนาจในการระงับยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว กลับมีพฤติการณ์ในการละเว้นหน้าที่ตามกฎหมาย ส่อแสดงเจตนาออกโดยแจ้งชัดอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรงกับพวก แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว โดยการแอบอ้างนำบริษัทGSSG และบริษัท Hainan grain เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริต ได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับ อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศและเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรง ถือได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่

ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง และประเทศชาติ  เป็นความผิดตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พิพากษาจำคุก 5 ปี