ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลัก เพียงพอใช้ในฤดูแล้ง

ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลัก เพียงพอใช้ในฤดูแล้ง

ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพียงพอใช้ในฤดูแล้ง


เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทานเผยถึงสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(6 พ.ย. 60) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช้านี้วัดได้ 2,515 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำลดลงเมื่อวาน(5 พ.ย. 60) 10 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.04 เมตร ส่วนปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 2,147 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนไปจนถึงบริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงตามไปด้วย

สำหรับการนำน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเริ่มจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นทุ่งแรก นั้น ปัจจุบันทุ่งบางระกำมีปริมาณน้ำคงค้างในทุ่งเหลือ 431 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระบายออกจากทุ่งรวม 69 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำในทุ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าประมาณต้นเดือนธันวาคม 2560 จะคงเหลือปริมาณน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรเตรียมแปลงเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งต่อไป ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 12 ทุ่ง ขณะนี้ได้มีการนำน้ำออกจากทุ่งไปแล้วรวม 40.55 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำในทุ่งรวมกันประมาณ 1,305 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้จะสามารถนำน้ำออกได้ตามแผนที่วางไว้

ในส่วนของสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ณ วันที่ 1 พ.ย. 60 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2560/61 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 20,883 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 84 ของปริมาณน้ำทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 78 ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามที่กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนจัดสรรน้ำให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมการใช้น้ำตลอดในช่วงฤดูแล้ง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะได้แจ้งให้ทราบในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดี และสามารถจัดสรรน้ำได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างเพียงพอตลอดไป