อาภรณ์และลีลา มโนห์ราบัลเล่ต์รัชกาลที่ ๙

อาภรณ์และลีลา มโนห์ราบัลเล่ต์รัชกาลที่ ๙

งามสง่า ตระการตา สอดคล้องไปกับท่วงท่าของนักแสดงบัลเล่ต์ ถิอได้ว่าเป็นหัวใจหลักในงานออกแบบชุดบัลเล่ต์สำหรับการแสดงมหรสพสมโภช พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ศักดิ์สิทธิ์ พิศาลสุพงษ์ ดีไซเนอร์ ทูบว์ แกลลอรี (Tube Gallery) หนึ่งในทีมออกแบบชุดบัลเล่ต์ นักแสดงหลักได้แก่ มโนห์รา พระสุธน พรานบุญ กินรี และ งู กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานครั้งนี้ว่า
“ผมรู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของบัลเล่ต์ชุดนี้ เพราะว่าเป็นบัลเล่ต์เนื้อเรื่อง
ไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้คนไทยทุกคนเป็นสมบัติของชาติ นอกจากที่เรามีสมบัติของชาติเป็นนาฏศิลป์ไทยแล้ว เรายังมีนาฏศิลป์สากลเข้ามาด้วย”
สำหรับงานออกแบบในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกับ สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา ผู้กำกับการแสดง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวละครทั้งหมด อีกทั้งยังศึกษาข้อมูลจากเครื่องแต่งกายนักแสดงหลักที่ออกแบบโดย ปิแอร์ บัลแมง ในการแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2505 และผลงานออกแบบของ อีริค มอร์เทนเซ่น ที่ปรับปรุงเครื่องแต่งกายการแสดง (ยกเว้นชุดนกยูงและชุดพระสุธน) โดย ธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ในการแสดงปี 2535
“ในบรีฟที่คุณโจ้ (สุธีศักดิ์)ให้มาในเรื่องการออกแบบท่าเต้นเปลี่ยนแปลงแทบทั้งหมด ส่วนตัวโครงของละครใกล้เคียงเดิม เพราะฉะนั้นเรื่องเสื้อผ้าไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิมแต่ถ้ามีอะไรที่สวยงามน่าสนใจเราควรนำมาเป็นพื้นฐานในการคิดงานต่อไป อย่างน้อยต้องสวยให้ได้เท่าเขา ถ้าเป็นไปได้สวยให้มากกว่าเขาได้มั้ย ? โดยให้เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น”
ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบกินรี ว่า “มีความต่างไปเลย โปรดักชั่นเดิมมีความเป็นบัลเล่ต์สูง เป็นกินรีสีขาว เป็นผู้หญิงสวย เป็นนกสวย ของเราก็สวย
เราได้แรงบันดาลใจมาจากกินรีสีทองที่วัดพระแก้ว เป็นประติมากรรมกินรีสีทอง ตรงเชิงบันได
สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือ การออกแบบท่าเต้นของคุณโจ้ค่อนข้างมีเทคนิคมาก นางกินรีมีทั้งกระโดด
ทุกอย่าง เสื้อผ้าออกแบบแล้วต้องมาทำงานกับนักแสดงว่าเมื่อสวมใส่แล้วเล่นได้หรือไม่ มีปัญหาในการเคลื่อนไหวไหม”
เมื่อลองแล้วพบว่า”มีปัญหาไปทุกอย่างเลย ไม่มีอะไรไม่มีปัญหา ด้วยท่าเต้นที่ยากมาก เราต้องการให้เสื้อผ้าซัพพอร์ตนักแสดงได้
ตั้งแต่การเลือกใช้ผ้าก็ยากแล้ว ผ้าแบบไหนที่ออกมาสวยด้วย นักแสดงเต้นได้ด้วย ยืดหยุ่นตัวได้ด้วย ดูเนียนไปกับผิวด้วย นักเต้นชายที่มาจับยกไม่รู้สึกลื่นมือ รู้สึกกระชับมือ ไม่ยืดไปตามมือ
ทุกอย่างเรียกว่าได้เรียนรู้ไปด้วย ในการทำงานทุกขั้นตอน ไม่ใช่ว่าออกแบบชุดแล้วตัดออกมาเลย ทุกชิ้นต้องนำมาลอง ลองชิ้นที่หนึ่ง ชิ้นใน ชิ้นนอก ลองชิ้นปีก ชิ้นหาง มีตัวม็อกอัพทุกอย่างก่อนตัดชุดจริง”
กล่าวได้ว่ากว่าจะมาเป็นเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ได้งามสง่า ต้องมีการใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยนำผ้ายืดสแปนเด็กซ์ ใยสังเคราะห์ และงานฉลุมือไทย มาออกแบบตัดเย็บให้สอดประสานกัน
ในส่วนของเครื่องแต่งกายฝ่ายชาย ได้แก่ พระสุธน และพรานบุญ ผู้ออกแบบเล่าว่า
“มีกลิ่นไอของเก่าอยู่ ภาพถ่ายที่เราได้รับมาเป็นภาพระยะไกลมองยังไงก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่เรามองเห็นฟอร์มพระสุธนที่สวยอยู่แล้วจึงใช้ฟอร์มเดิม โดยมีงานปักฉลุดิ้นทองทั้งตัวตกแต่ง
ในขณะที่พรานบุญของเราเปลี่ยนไป ของเราจะหล่อ ดิบๆ ดูเป็นพระเอกแบบแบดบอย”
นอกจากเครื่องแต่งกายแล้ว ทีมนักออกแบบยังได้รับมอบหมายให้ออกแบบเครื่องแต่งกายของนักแสดงประกอบ ได้แก่ ผึ้ง ดอกไม้ งู เสือ ลิง รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบฉากที่ได้สร้างงานขึ้นมาใหม่ โดยใช้คนทำหน้าที่แทนฉาก ถือผืนผ้าแทนสายน้ำ และ หนังใหญ่ พร้อมสร้างดอกดาวเรือง หญ้าแฝก สื่อถึงโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย
ผลงานที่ออกแบบมาแล้ว “ต้องชัวร์ว่าสวยและเต้นได้ด้วย

นี่ล่ะหัวใจหลักของอาภรณ์สำหรับบัลเล่ต์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ออกแบบให้รับกับลีลาอย่างแท้จริง