ไม่กังวล!! 'อลงกรณ์' เตรียมพยานสู้คดีแจ้งความเท็จ

ไม่กังวล!! 'อลงกรณ์' เตรียมพยานสู้คดีแจ้งความเท็จ

"อลงกรณ์" อดีต ปธ.ตรวจสอบทุจริตฝ่ายค้าน ขึ้นศาลให้การสู้คดี ตรวจสอบ "อผศ.-สตช." ซื้อเสื้อเกราะ 2 พันตัว 32 ล้านปี 46

ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 6 พ.ย.60 เวลา 09.00 น. ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.2700/2560 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอลงกรณ์ พลบุตร อายุ 61 ปี อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่ 1 เป็นจำเลย ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ

กรณีเมื่อ 11 ส.ค.46 นายอลงกรณ์ จำเลย ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามขณะนั้นทำนองว่า พล.ต.ต.ประเสริฐ พิทักษ์ธรรม ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. (ตำแหน่งเมื่อปี 2546 ปัจจุบันเกษียณราชการ) และพล.อ.ทสรฐ เมืองอ่ำ ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือ อผศ. (ตำแหน่งเมื่อปี 2546 ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)ร่วมกันสมคบกันทุจริตในการจัดซื้อเสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุนจำนวน 2,000 ตัว ราคาตัวละ16,000 บาท รวม 32 ล้านบาท ซึ่งทำให้พล.ต.ต.ประเสริฐ และพล.อ.ทสรฐ ได้รับความเสียหาย โดยการจัดซื้อเสื้อเกราะป้องกันกระสุนนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2546 ระหว่าง อผศ. กับ กองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. จำนวน 2,000 ตัว เพื่อนำไปปฏิบัติงานในภาคใต้ ซึ่งระหว่างนั้น นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าว

โดยวันนี้ นายอลงกรณ์ ซึ่งได้รับการประกันตัวหลังอัยการยื่นฟ้อง ได้เดินทางมาศาลพร้อมกับนายธนิก ชินปัญจะพล ทนายความ เพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน

เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้นายอลงกรณ์ จำเลยฟังแล้ว นายอลงกรณ์ ให้การปฏิเสธ พร้อมแถลงมีพยานบุคคลนำสืบสู้คดี รวม 2 ปาก คือนายอลงกรณ์เอง กับคณะกรรมการตรวจสอบทุจริตฯ โดยทนายความ ยังได้ยื่นเอกสารต่อสู้ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องการฟ้องซ้ำกับมูลเหตุข้อเท็จจริงเดียวกันในคดีหมิ่นประมาทฯ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องนายอลงกรณ์ด้วย

ขณะที่อัยการโจทก์ ได้แถลงศาลเตรียมพยาน 6 ปากเพื่อนำสืบตามรูปคดี พร้อมพยานเอกสาร 26 ฉบับ อย่างไรก็ดีเมื่อศาลสอบถามนายอลงกรณ์แล้ว สามารถรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในการรับแจ้งความได้ อัยการโจทก์จึงจะนำสืบพยานเพียง 3 ปาก ประกอบด้วย พล.ต.ต.ประเสริฐ พิทักษ์ธรรม อดีต ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. ผู้เสียหายที่ 1 , ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายที่ 1 และพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ศาลพิจารณาแล้วก็ให้โจทก์ – จำเลย นำสืบพยานตามแถลง โดยให้ทั้งสองฝ่ายนำสืบพยานฝ่ายละ 1 นัด โดยนัดสืบพยานโจทก์ – จำเลยในวันที่ 21 -22 ส.ค.61 เวลา 09.00 น.

ภายหลังนายอลงกรณ์ อดีต ปธ.คณะทำงานตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงการทำหน้าที่ว่าในส่วนของการต่อสู้คดี ว่า ตนได้นำผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนตามศาลอุทธรณ์ยกฟ้องตนในคดีหมิ่นประมาทฯ (อัยการยื่นฟ้องปี 2551) อดีต ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. และ อดีต ผอ. อผศ. แสดงต่อศาลเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงด้วยมูลคดีเป็นเรื่องเดียวกับคดีอาญานี้ซึ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการฟ้องซ้ำ ส่วนการทำหน้าที่และเจตนาก็ยืนยันว่าขณะนั้นตนเป็น ปธ.การตรวจสอบทุจริตของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมากถึง 30-40 เรื่อง ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือปรักปรำบุคคลใด เมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามาเมื่อเห็นว่าพอที่จะมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าน่าจะมีการกระทำก็ได้ตรวจสอบตามขั้นตอน ตนไม่รู้สึกกังวลใจ โดยช่วงที่ตนเป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2544-2549 ก็ได้มีการตรวจสอบการจัดซื้อเสื้อเกราะของ สตช.ซึ่งคดีดังกล่าวเป็น 1 ใน 30 กว่าคดีที่มีการตรวจสอบ เช่น คดีทุจริตปุ๋ยปลอม ที่ได้ตรวจสอบภายหลังมีการฟ้องคดีจนเวลา 15 ปีศาลพิพากษาจำคุกรัฐมนตรีและเลขารัฐมนตรี ส่วนการตรวจสอบจัดซื้อเสื้อเกราะเวลาผ่านมา 14 ปีแล้ว

"เหมือนทุกคดีที่เราได้รับการร้องเรียน ก็ตรวจสอบเบื้องต้นถ้าเห็นว่าไม่มีมูล ไม่มีเหตุควรสงสัยก็ไม่ได้เปิดการสอบสวน นี่คือการทำหน้าที่ของ ส.ส.และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เหมือนการทำหน้าที่ของตำรวจ อัยการ ที่สืบสวนสวนสอบสวนแล้วสั่งฟ้อง ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะทุกคดี การตรวจสอบการทุจริตก็เหมือนกัน แม้ทุกคดีเราก็คาดหวังว่าจะตัดสินลงโทษ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็ไม่ใช่อย่างนั้น มีปัจจัยเงื่อนไขหลายประการ แต่การทำหน้าที่ของเราคือการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งก็ต้องรับความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง เป็นเรื่องธรรมดา แต่การพิพากษาลงโทษหรือไม่อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล"

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าการตรวจสอบการทุจริต โดยการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติมีความสำคัญในการดูแลประโยชน์ของแผ่นดินในการที่จะก่อให้เกิดธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และที่มีการปฏิรูปประเทศ ให้มีการจัดตั้งศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะช่วยแก้ปัญหาการคอรัปชั่นได้อย่างมาก ทำให้การพิจารณาตัดสินคดีทุจริตเป็นไปโดยรวดเร็ว รุนแรง ฉับไว ทำให้ผู้ที่ประสงค์ทุจริตต่อบ้านเมือง โกงกินเงินของแผ่นดินก็จะไม่กล้า และลดน้อยลง ส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินให้ดีขึ้น