ดัชนีเชื่อมั่นฐานรากเริ่มฟื้น แต่ปชช.ยังกลัวใช้จ่าย

ดัชนีเชื่อมั่นฐานรากเริ่มฟื้น แต่ปชช.ยังกลัวใช้จ่าย

"ธนาคารออมสิน" ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภาพรวมศก.ดีขึ้น แต่ปชช.ยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (จีเอสไอ) ประจำไตรมาส 3 ปี 60 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศ 1,941 ตัวอย่างพบว่า ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 46.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 46.3 สอดคล้องกับดัชนีในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ที่ประชาชนมีมุมมองที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ 48.8หลังจากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา 

"ศูนย์วิจัยประเมินว่าไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยประชาชนระดับฐานรากรู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ประชาชนระดับฐานรากยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่"

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ความเชื่อมั่นด้านความสามารถในการชำระหนี้สิน การหารายได้ และภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอย การออม และโอกาสในการหางานทำลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า ความเชื่อมั่นด้านการชำระหนี้สิน การออมเพิ่มขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอย การหารายได้ โอกาสในการหางานทำ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลดลง

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ศูนย์วิจัยฯ ยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการออมของประชาชนระดับฐานราก พบว่า  มีเงินออมถึง 55.4% และส่วนใหญ่ 59.8% มีเงินออมแบบรายเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 บาทต่อเดือน โดยส่วนมากจะเลือกฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ รองลงมาเก็บไว้ที่บ้าน ครัวเรือน และฝากกับองค์กรหน่วยงาน บริษัท เช่น กองทุนบำเน็จบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนประกันสังคม ฯลฯ