วัย 35 เสี่ยงโรคหัวใจเฉียบพลันแนะตรวจสุขภาพ

วัย 35 เสี่ยงโรคหัวใจเฉียบพลันแนะตรวจสุขภาพ

สธ.แนะประชาชน อายุ 35 ปี ขึ้นไปตรวจสุขภาพประจำปี ค้นหาความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจวายเฉียบพลัน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉลี่ยปีละ 54,000 คนหรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน

เป็นสาเหตุการตายของคนไทยสูงสุดสามลำดับแรกร่วมกับมะเร็งและอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่การป่วยและเสียชีวิต มักเป็นอย่างฉุกเฉิน ไม่รู้ตัวมาก่อน และเกิดในคนที่ดูปกติไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาพบการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันปีละ 300,000 – 400,000 รายต่อปี

โดยพบในกลุ่มนักกีฬาในอัตราส่วนประมาณ1 ต่อ 65,000 ถึง 1 ต่อ 200,000 สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีการเก็บสถิติภาวะนี้อย่างเป็นระบบจึงยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจน

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจมาจากโรควิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ ที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน และสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแข็งตัว หรือตีบตัน

ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จึงควรตรวจสุขภาพประจำทุกปี เพื่อติดตามประเมินภาวะสุขภาพ ซึ่งหากพบมีผิดปกติจะได้รับการส่งต่อเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด หรือรับคำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่อไป

ในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นปัจจัยหลักของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทำได้โดยรับประทานอาหารสุขภาพ เช่นผัก, ผลไม้, พืชเมล็ดถั่ว, ปลารสไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็มออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่นเดินเร็วประมาณ 30 นาทีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมไม่สูบบุหรี่ผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง รักษาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตนตามคำแนะนำแพทย์

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ แนะนำให้ออกกำลังกายระดับปานกลาง เช่น เต้นแอโรบิค เดินเร็ว ขี่จักรยาน วิ่งเหยาะๆ และว่ายน้ำ ที่สำคัญคือต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน และออกกำลังแต่พอเหมาะ เริ่มเบาๆ ค่อยเป็นค่อยไป หยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก

หลังจากที่เริ่มเคยชินก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาของการออกกำลังกายจนสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป ที่สำคัญต้องไม่ลืม

เตรียมร่างกาย (Warming up and down) ก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีและทันท่วงที ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ ดังนั้นหากพบผู้หมดสติให้เรียกหรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกหรือชักเกร็งหรือไม่ หรือหายใจเฮือก หรือหยุดหายใจ ถ้ามีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน

จากนั้นให้รีบโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือ1669 และเริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจ หากบริเวณนั้นมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (Automated External Defibrillator หรือ AED)ให้นำเครื่องมาใช้ตามคำแนะนำที่ติดอยู่ที่เครื่อง

ทั้งนี้ สัญญาณอาการของโรคหัวใจ ได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอกคล้ายถูกของหนักกดทับ ปวดร้าวไปที่ไหล่ แขนด้านซ้าย หายใจลำบาก หากมีอาการที่กล่าวมาให้รีบนั่งพัก บอกเพื่อน ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เพื่อนำส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดทันทีหรือโทรแจ้งสายด่วน 1669