หมัดส่งออกท้ายปี มีลุ้นทั้งปีโตทะลุ 8%

หมัดส่งออกท้ายปี มีลุ้นทั้งปีโตทะลุ 8%

เกือบ 5 ปีที่ตัวเลขส่งออกจมดิ่ง ตามเศรษฐกิจโลกทรุด ขณะสินค้าไทยขาดเสน่ห์ลงเรื่อยๆ จากการยึดโยงตลาด Mass จนปีนี้ยอดส่งออกโผล่พ้นน้ำ เจาะกระบวนท่า 2 เดือนสุดท้าย กับความหวัง“จบสกอร์”โตทะลุ 8%

หลังจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขส่งออก เดือนก.ย.ปีนี้ พบว่ามี “มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์” ถึง 21,812 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.2% ต่อเนื่องเป็น“เดือนที่7” และเมื่อรวมตัวเลขส่งออกในช่วง 9 เดือน(ม.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ พบว่า มีมูลค่าส่งออกสะสม 175,435 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.3% ขยายตัว“สูงสุด”ในรอบ 6 ปี

จากตัวเลขที่สวยหรู กระทรวงพาณิชย์จึงตั้งเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัวถึง 8%  มูลค่า 232,618.5 ล้านดอลลาร์ หากทำได้ปี 2560 จะเป็นปีที่ตัวเลขส่งออกสูงสุด ทำลายสถิติการส่งออกในปี 2555 ที่จบตัวเลขที่ 229,084.3 ล้านดอลลาร์

ทว่า เหลือเวลา “เร่งเครื่อง” ส่งออกอีกเพียง 2 เดือน ในการดันยอดส่งออก ซึ่งต้องทำได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 19,061.1 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตนั้น 

จันทิรา ยิมเรวัต อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยถึงกลยุทธ์ผลักดันยอดส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า จะเร่งอัด 35 กิจกรรม เพื่อรักษาเพดานบินการส่งออกให้อยู่เหนือระยะปลอดภัย ไม่แผ่วปลาย

เริ่มต้นจากเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีกิจกรรมเชิญคณะผู้แทนการค้าข้าว ผู้ซื้อรายใหญ่ระดับบิ๊กของโลกกว่า 219 ราย แบ่งเป็นผู้ซื้อในประเทศ 50 ราย และผู้ซื้อจากต่างประเทศ169 รายอาทิ ฮ่องกง แคนาดา สหรัฐ ยุโรป แอฟริกา ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย อาเซียน ฯลฯ

เป้าหมายจากการจัดงาน คาดหวังว่า จะมีคำสั่งซื้อข้าวทันที มูลค่า 586 ล้านบาท และสั่งซื้อต่อเนื่องภายใน 1 ปี มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อทั้งรายเก่า และรายใหม่

ส่วนเดือนพ.ย.จะเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่อง หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางเยือนสหรัฐเมื่อต้นต.ค.ที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์จะรุกนำผู้ประกอบการ ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร 8 บริษัทใหญ่ ไปหาช่องทางเจาะตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดเก่าที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย เพื่อเจรจาการค้ากับผู้นำเข้ารายใหญ่ของสหรัฐ ระหว่างวันที่ 1-11 พ.ย.นี้

รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มภาพยนตร์และบันเทิง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และธุรกิจแอนิเมชั่นของไทย 8 ราย ได้แก่ กันตนา จีดีเอช ห้าห้าเก้า เดอะมั้งค์สตูดิโอ เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด พี.แอล.เอช โฮลดิ้ง จำกัด สหมงคลฟิล์มฯ อิเมจิแมกซ์ และฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) ร่วมงาน American Film Market & Conference 2017 ที่สหรัฐ ระหว่างวันที่ 1- 8 พ.ย.

รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO Congress 2017) ระหว่าง 2-7 พ.ย. เพื่อเป็นพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ ดึงคนในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับมาแลกเปลี่ยนนวัตกรรมระหว่างกัน นอกจากนี้ยังจะเดินสายจัดงานกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ Creative Thailand สัญจร“บ่มเพาะ”ผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น (Local) สู่ระดับโลก (Global) ระหว่างเดือนพ.ย.2560-มี.ค.2561 จัดในกรุงเทพฯ 2 ครั้ง เชียงใหม่ และพัทยา

งานอบรมสัมมนา Alibaba Global Course เปิดโลกอีคอมเมิร์ซเพื่อผู้ประกอบการไทย ในวันที่ 23 พ.ย. เป็นความร่วมมือระหว่างลาซาด้า (Lazada Group) และอาลีบาบา (Alibaba) รวมถึงแผนส่งเสริมการค้าไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน “Tai Le Gou” ณ นครเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง จัด In-store กระตุ้นการซื้อขายในห้างสรรพสินค้าที่จะจัดมุมสินค้าไทย (Thai Shelf)

งานท้ายเดือนพ.ย.ยังมีโครงการเชิญผู้บริหารจากกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ที่อบรมหลักสูตร CLMVT Executive Program on New Economy ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. -3 ธ.ค.เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับผู้บริหารในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน

ส่วนเดือนธันวาคม ก่อนสิ้นปี จะจัดงาน “แทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรไทย” (ThaiTAM 2017) ระหว่าง 2-11ธ.ค. เพื่อโชว์ศักยภาพสินค้าดาวรุ่ง เครื่องจักรกลการเกษตร

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการค้าออนไลน์ Thaitrade.com ร่วมกับบริษัท อีเบย์ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กลุ่มผู้ให้บริการเพื่อพัฒนาธุรกิจ และสมาชิกผู้ขายบนเว็บไซต์ Thaitrade.com รวมถึงผู้ประกอบการไทย สร้างความร่วมมือขยายธุรกิจบนตลาดออนไลน์ ช่วงเดือน ธ.ค. นี้

ส่งท้ายปี ด้วยการรุกเจาะตลาดเจ็ดสาวน้อย 7เมืองใหม่ดาวรุ่งในอินเดีย ผ่านงาน Mini Thailand Week ระหว่างวันที่ 21-26 ธ.ค. ได้แก่ รัฐอรุณาจัล (ARUNACHAL) รัฐนากาแลนด์ (NAGALAND) รัฐมณีปุระ (MANIPUR) รัฐมิโซรั่ม (MIZORAM) รัฐตริปุระ (TRIPURA) รัฐอัสสัม (ASSAM) และรัฐเมฆกัลยา (MAGHALAYA)โดยมีรัฐอัสสัมเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน และการขนส่ง มีประชากรรวมกัน 45 ล้านคน โดยจะนำสินค้าอาหาร เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม สินค้าเกษตร เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน สุขภาพและความงาม ไปเปิดตลาด

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังจะรุกเข้าไปทำกิจกรรมในกลุ่มประเทศตลาดหลักที่มีเศรษฐกิจฟื้นตัว และเร่งเปิดตลาดใหม่ๆ เพื่อคว้าโอกาสทองสินค้าไทย

เริ่มต้นจากรุกตลาดที่เป็นยุทธศาสตร์ที่ภาครัฐเข้าไปเปิดตลาดสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า และเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Strategic partner) และตลาดที่เข้าไปเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA-Free Trade Area)ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย อิหร่าน อินเดีย รัสเซีย จีน รวมถึงสหรัฐ  โดยในปีถัดไปมุ่งเน้นสู่ตลาดยุโรป เช่น อังกฤษ

เมื่อภาครัฐเปิดตลาดเจรจาการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะ“ต่อยอด”จัดกิจกรรมเจรจาการค้า เปิดตลาดจับคู่ธุรกิจกระตุ้นความคึกคัก เช่น อิหร่าน จะนำคณะนักธุรกิจมาร่วมงานแสดงสินค้าในไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจะแบ่งกลยุทธ์เข้าไปเปิดตลาด ในกลุ่มประเทศที่เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ “3 กลุ่ม” เพื่อกระชับความสัมพันธ์ สานต่อธุรกิจกับประเทศคู่ค้าในรูปแบบแตกต่างกัน

เริ่มต้น กลุ่มที่ 1 : กลุ่มภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก ได้แก่  ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ผลักดันให้เกิดร่วมมือภาครัฐและเอกชน (PPP-Public Private Partner) โดยเน้นที่การเป็นคู่คิด พันธมิตร พัฒนาช่องทางการค้า และการลงทุนกับนักธุรกิจรายใหญ่ของไทย เข้าไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมต่อกับระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC-Eastern Economic Corridor)

ส่วนประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ มีเศรษฐกิจเติบโตอยู่แล้ว อย่าง ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้าสูง แต่มีกฎระเบียบที่ไม่ใช่ภาษี (NTB -Non Tariff Barrier) สูงเช่นกัน และกำลังมีคนรวยและรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้น จึงต้องไปเชื่อมโยงการค้าให้ถึงคนกลุ่มนี้

 ส่วนตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน กลุ่มตลาดคนรวย จะใช้ช่องทางสินค้ากลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สินค้าไลฟ์สไตล์ รวมถึงสินค้านวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เช่น สินค้าออร์แกนิก และสินค้าสำหรับผู้สูงวัยรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นต้น 

กลุ่มที่ 2 : กลุ่มตลาดเดิมที่มีมูลค่าการค้าสูงอยู่แล้ว เป็นตลาดคู่ค้าขนาดใหญ่ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐ อังกฤษ ยุโรป และจีนเน้นกลยุทธ์กระชับความสัมพันธ์ ตอกย้ำภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น แสวงหาโอกาสใหม่ๆในตลาดเดิม ทั้ง เมืองใหม่ ช่องทางใหม่ และสินค้าใหม่

เช่น จีน เมื่อรัฐบาลจีนมีนโนบาย เส้นทางสายไหมใหม่ และเส้นทางทะเลสู่ศตวรรษที่ 21 (OBOR-One Belt One Road) ไทยจะต้องเชื่อมโยงการค้าไปยังเส้นทางเหล่านี้ อาทิ การรุกไปเจาะตลาด ที่เมืองเฉิงตู หนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์นำจีนออกสู่ตลาดยุโรป และทางออกทางทะเล ที่จะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตในอนาคต

การเข้าตลาดจีนอีกทางหนึ่งคือ การใช้ฮ่องกงเป็นประตู่สู่จีน เพราะฮ่องกง เปิดกว้างทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน จึงต้องเข้าไปเชื่อมต่อธุรกิจเพื่อเปิดตลาดสู่ประเทศจีนได้ง่ายขึ้น รวมถึงประเทศตลาดสหรัฐ ต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ แม้แนวโน้มรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” จะเพิ่มกฎระเบียบกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น ก็ตาม

“เราต้องมองในเชิงยุทธศาสตร์ ที่ไม่ใช่เพียงการจำหน่ายสินค้า แต่มองไปถึงการเข้าไปลงทุน ขยายธุรกิจบริการ เช่น หากเราไม่สามารถส่งพ่อครัว หรือ หมอนวดไปได้ ก็ต้องมองไปถึงการลงทุนขายแฟรนไชส์ เป็นโอกาสในการเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Royalty Fees) พร้อมกับเป็นโอกาสในการจำหน่ายสินค้า”  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผย

ขณะที่ประเทศยุโรป เริ่มเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบช้าๆ และยังเผชิญกับเหตุการณ์แยกตัวออกจากการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรป ของประเทศอังกฤษ (Brexit) ทำให้ต้องมีกลยุทธ์ทำตลาดแบบแยกตลาด มองยุโรป เป็นส่วนๆ ทั้งกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน รวมถึงกลุ่มนอร์ดิก (เดนมาร์ค สวีเดน) และยุโรปตะวันตก และอังกฤษ มุ่งเน้นที่การสร้างเครือข่ายคู่กับการเปิดตลาดเจรจาการค้าระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในประเทศฝรั่งเศส รวมถึงการเข้าร่วมงานแฟร์ ยังเป็นสิ่งจำเป็นมากในยุโรป เพราะจะทำให้พบกับผู้นำเข้า และผู้ผลิต รวมถึงอัพเดทเทรนด์การค้าใหม่ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้นำเข้า

ในเร็วๆ นี้คณะผู้แทนการค้าไทย และคณะนักธุรกิจไทย จะไปเยือนอังกฤษ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าแบบPPPผ่านการประชุมสภาผู้นำธุรกิจไทย -สหราชอาณาจักร (Thai – UK Business Leadership Council : TUBLC)โดยมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจของทั้ง2ประเทศ และกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่เข้าร่วมการประชุมปีละ2ครั้ง เพื่อเชื่อมต่อกับสินค้าของอังกฤษรูปแบบร่วมกันพัฒนา (Value Chain Integration) ช่องทางที่จะพาสินค้าไทยไปหากลุ่มลูกค้า High end และกลุ่มนวัตกรรมได้ตรงเป้า

“หลังจากมีเบร็กซิส ตลาดยุโรปเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่ต้องจัดกลุ่มวางกลยุทธ์ใหม่ จากระบบการค้าที่เปลี่ยนแปลง ส่วนอังกฤษหลังแยกตัวต้องการพันธมิตรที่ไปเจรจาทางตรง โดยอังกฤษโดดเด่นด้านด้านโมเดลธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่ไทยกำลังพัฒนาไปสู่จุดนั้นจึงเชื่อมโยงกันได้”

กลุ่มที่ 3 : กลุ่มตลาดเกิดใหม่ เน้นกลยุทธ์การแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ แอฟริกาตะวันตก และลาตินอเมริกา (อาร์เจนติน่า ชิลี เม็กซิโก) โดยเข้าไปยึดหัวหาดประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส อย่าง ไอเวอรี่ โคสต์ ไนจีเรีย กาน่า แทนซาเนีย เคนยา อียิปต์ ใช้เครือข่ายนักธุรกิจที่เข้ามาทำตลาดกับไทย อย่างโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์ ) เป็นที่ปรึกษาด้านการทำตลาดในแอฟิกา และมีผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในแอฟริกา อย่าง Royaltainer Corporation, Complete shipping and Logistics ที่ให้บริการจำหน่ายสินค้าไทย และนำสินค้ากระจายต่อรวมถึงเก็บเงินปลายทาง เป็นพันธมิตรสำคัญที่ควรทำตลาดร่วมกัน

โดยคิดกลยุทธ์ส่งสินค้าที่เติบโตไปพร้อมกับความต้องการของแต่ละประเทศ เนื่องจากแอฟริกาเน้นการพึ่งพาตัวเอง ลดการนำเข้าสินค้าบางชนิดเพื่อผลิตในประเทศ เช่น การหันมาปลูกพืชเกษตร สิ่งที่ไทยควรเชื่อมต่อคือการส่งออกอุปกรณ์การเกษตร เช่น ปุ๋ย เครื่องจักรการเกษตร เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เปิดตลาดด้วยการเร่งใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA เปรู และชิลี โดยมีเม็กซิโกเป็น“ศูนย์กลาง”ในการกระจายสินค้าไปยังอเมริกากลาง กลุ่มสินค้า ข้าว อาหาร ยังไปได้ดีในชิลี เปรู และเม็กซิโก ด้านสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เป้าหมายส่งออกควรไปในบราซิล และเอกวาดอร์

.......................................

ย้อนรอย10ปีส่งออกไทย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก วิเคราะห์สถานการณ์ส่งออกในช่วง 10 ปี (ปี 2550-2560) ว่า การส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมายังคงพึ่งพา 5 สินค้าหลัก ประกอบด้วย 1.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สัดส่วน 37% 2. อิเล็คทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน สัดส่วน 31% 3.แผงวงจรไฟฟ้า สัดส่วน 16% 4.น้ำมันสำเร็จรูป สัดส่วน 12% และ5.อัญมณีและเครื่องประดับ สัดส่วน 4%

โดยกลุ่มสินค้ารถยนต์ ไทยได้เปรียบเนื่องจากเป็นฐานการผลิตครบวงจร แม้ปัจจุบันจะอยู่ในช่วงการ“เปลี่ยนผ่าน”ไปสู่รถยนต์แห่งอนาคต หรือรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกรถยนต์ของไทยแม้จะยังเติบโต แต่เป็นการเติบโตในระดับที่ลดลง โดย 9 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 1.6%

ดังนั้นในอนาคตจึงตองแบ่งเซ็คเมนท์การส่งออกรถยนต์ที่ยังคงใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เช่น ตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันจะต้องหาตลาดส่งออกรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยร่วมมือกับนักลงทุนรายใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น และจีน

เช่นเดียวกับ กลุ่มอิเล็คทรอนิคส์และส่วนประกอบ การส่งออก 9 เดือนเติบโต 9% เป็นผลมาจากการปรับตัวสู่เทคโนโลยีชั้นสูง และอุปกรณ์เชื่อมอินเตอร์เน็ท (IoT–Internet of Things)มากขึ้น ขณะที่สินค้าแบบเดิมก็ยังมีตลาด เช่น ฮาร์ดดิสก์ เพื่อพัฒนาเป็นการจัดเก็บข้อมูล บนคลาวด์

ส่วนแผงวงจรไฟฟ้า ส่งออกไปยังจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ต้องการชิ้นส่วนจากไทยมากขึ้น ขณะที่สินค้าน้ำมันสำเร็จรูป ส่งออกได้ดีในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ เวียดนาม จีน และมาเลเซีย ซึ่งมีการส่งออกขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกันกับ อัญมณี เน้นส่งออกไปยัง สวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกง

เมื่อพิจารณาไปสัดส่วนการกระจายตลาดส่งออกพบว่า อันดับ1 คืออาเซียน สัดส่วนการส่งออกขยายตัวจาก 21%เป็น 25%ขณะที่ญี่ปุ่น เคยส่งออกอันดับ 2 แต่ปัจจุบันลงมาเป็นอันดับ 3 สัดส่วน 9.5%จากเดิม 11.87%ด้านสหรัฐอเมริกา การส่งออกเคยขยายตัว 12.63% ลดลงมาเหลือ 11.37%ส่วนสหภาพยุโรป เคยส่งออกสัดส่วน 14%ลดลงมาเหลือ 10.23%

จากตัวเลขการส่งออกที่กระจายตลาดจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตลาดหลัก อาเซียนเป็นตลาดเดียวที่ยังเพิ่มสัดส่วนการส่งออกสูงขึ้น ขณะที่ประเทศตลาดหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนลดลง สะท้อนให้เห็นว่าการส่งออกของไทยเริ่มกระจายการพึ่งพาตลาดหลัก ไปยังตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวตลาดเก่าจึงมีอัตราการส่งออกขยายตัวไปพร้อมกับตลาดใหม่

จากการวิเคราะห์ตัวเลขการส่งออก พบว่า สัดส่วนการส่งออกของไทยยังพึ่งพิงสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากต่างประเทศสูง” แต่ในกลุ่มนี้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น รวมไปถึงสินค้ากลุ่มเกษตรอย่าง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ยังเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการส่งออกสูง พึ่งพาทิศทางราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลก แต่มีแนวโน้มที่เห็นชัดเจน คือ สินค้าและภาคบริการ เช่น อาหาร และการบริการ ที่ไปผูกติดกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น เป็นผลทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นบวก จนส่งผลทำให้ไทยมีการหลั่งไหลของเงินตราต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทของไทยจึงแข็งค่าขึ้น

ดังนั้นหากเก็บตัวเลขสินค้าที่ไปเชื่อมต่อกับภาคการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นแขนงหนึ่งของสินค้าไทยที่มีการส่งออกสูง ทำให้เห็นพัฒนาสินค้าของไทย ขณะที่การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ก็ยังคงพึ่งพิงการส่งออกถึง 70%ในขณะที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมด้านความเข้มแข็งเศรษฐกิจจากภายใน

เมื่อใดก็ตามที่อัตราการส่งออกมีสัดส่วน 50% ใกล้เคียงกับสัดส่วนจากการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุน รวมถึงภาคบริการ และดุลบัญชีเดินสะพัดภายในประเทศ มีสัดส่วนเท่ากัน นั่นจึงเป็นบทสะท้อนที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยอย่างแท้จริง