"ฉีดไฮ" เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดและ HIV

"ฉีดไฮ" เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดและ HIV

ยาไฮ เป็นยาเสพติดประเภทเดียวกับยาไอซ์ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทจัดเป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอย่างแรง มากกว่ายาบ้ามาก แพทย์เตือนกลุ่มผู้ยาไฮเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดและ HIV

แพทย์ชี้ยาไฮ เป็นยาเสพติดประเภทเดียวกับยาไอซ์ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทจัดเป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอย่างแรง มากกว่ายาบ้ามาก พร้อมเตือนกลุ่มผู้ยาไฮเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดและ HIV

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับยาเสพติด ที่ชื่อ "ไฮ" โดยระบุว่าผู้ใช้ยาดังกล่าวเป็นกลุ่มชายรักชายหรือกลุ่มวัยรุ่น ที่มีพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งทางการแพทย์ระบุว่าการใช้ยาเสพติดไฮมีความเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดและติดเชื้อ HIV ทั้งนี้ ไฮ คือสารเสพติดประเภทยาไอซ์ ที่ถูกนำมาเรียกชื่อใหม่ ยาไอซ์มีความบริสุทธิ์สูงกว่ายาบ้า 4-5 เท่า ดังนั้น เมื่อเสพแล้วจึงออกฤทธิ์เร็วและแรงกว่ายาบ้า ไอซ์ (Crystal Meth) หรือ เมทแอมเฟตามีน ไฮโดรคลอไรด์ เป็นยาเสพติดมีลักษณะเป็นผลึกใสคล้ายน้ำแข็ง ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ 2522 จัดเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรงประเภทที่ 1


ผู้เสพเชื่อว่าเมื่อใช้ยาจะกระตุ้นอารมณ์ทางเพศทำให้มีกิจกรรมได้นานสนุกมากขึ้น ไฮ มาจากคำว่า HIGH แปลว่า สูง บินได้ เมื่อได้ยาเข้าไป อารมณ์จะฟุ้ง มีความสุข ควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนล่องลอย บินมีความสุข โดยสิ่งที่น่ากลัว คือ ผู้เสพใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาร่วมกัน ซึ่งมีโอกาสติดโรคที่ติดต่อทางเลือดได้โดยเฉพาะHIV จากสถิติการเข้าบำบัดรักษาที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนีปี 2560 จำนวน 5,589 คน พบว่ายาไอซ์เป็นยาเสพติดที่ใช้มากเป็นอันสามรองมาจากยาบ้าและกัญชา คิดเป็นร้อยละ 7.82 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 20-24 ปีคิดเป็นร้อยละ17.80 สาเหตุที่เสพมากที่สุดคือเพื่อนชวนและอยากทดลองเสพยา


ทั้งนี้ ไอซ์เป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทจัดเป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอย่างแรง ออกฤทธิ์ในการเสพติดแรงกว่ายาบ้ามาก เมื่อเสพยาไอซ์จะกระตุ้นสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทชื่อโดปามีนออกมามากจนผิดปกติซึ่งจะทำให้เกิดอารมณ์สุข เคลิบเคลิ้มสนุกสนาน สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ทำให้ติดได้ง่ายกว่า เพราะออกฤทธิ์ รวดเร็ว รุนแรง และร้ายแรง จึงมีอันตรายต่อร่างกาย อารมณ์ และสังคม ของผู้เสพมากกว่า ยากลุ่มเมทแอมแฟตตามีนอื่นๆ ผลของไอซ์ต่อร่างกาย มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดร่างกาย น้ำหนัก ปริมาณและ วิธีการใช้ อาการที่พบ ได้แก่ รูม่านตาขยาย เหงื่อออกมาก มือและนิ้วสั่น การมองพร่ามัว วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ริมฝีปากแห้ง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ทำให้วิตกกังวลสูง นอนไม่หลับ พูดมากขึ้น ย้ำคิดย้ำทำ มีอาการหวาดระแวง ประสาทหลอน และพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เกิดอาการทางจิตประสาทได้ หากเสพในปริมาณสูงอาจเสียชีวิตได้ เมื่อเสพเป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นและต่อเนื่อง ทำให้เกิดโรคสมองติดยา ยังทำให้เกิดอาการทางจิตร่วมด้วย


นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า การบำบัดรักษาไฮหรือยาไอซ์ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่จะรักษาตามอาการ ซึ่งผู้เสพยาไอซ์บางรายมีอาการทางจิตเวช มักจะมีอาการซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย แพทย์จะใช้ยาต้านการซึมเศร้า นอกจากนี้ยังต้องฟื้นฟูโรคสมองติดยา เนื่องจากยาไอซ์เข้าไปทำลายเซลล์สมอง ซึ่งต้องใช้เวลาในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอย่างน้อย 3-4 เดือน และติดตามดูแลช่วยเหลือหลังผ่านการบำบัด 1 ปี เพื่อไม่ให้กลับไปเสพซ้ำอีก จะเห็นได้ว่ายาไอซ์มีผลโดยตรงต่อการทำงานของสมองและยังพบแพร่ระบาดในเด็กและเยาวชน ดังนั้น จึงควรกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงโทษพิษภัย แนวทางการป้องกัน การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงและให้โอกาสแก่ผู้เสพติดเข้ารับการักษาเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ต่อไป