เบื้องหลังของผู้รับ (น้ำ)

เบื้องหลังของผู้รับ (น้ำ)

เรื่องจริงของชาวบ้านในพื้นที่รับน้ำ ซึ่งคนเมืองอาจไม่คุ้นเคย

เมื่อเดือนก่อน หน้าฟีดข่าวในเฟซบุ๊คกำลังอินกับข่าวนางเอกดังถูกมือที่สามแย่งสามี เงาสะท้อนบนช้อนที่ปรากฎใบหน้าผู้ชายคนหนึ่งถูกเอาไปตีความกันยกใหญ่ จากภาพถ่ายในไอจีส่วนตัวกลายเป็นวาระของวงสนทนาย่ามบ่าย ใครสักคนคิดแฮชแท็กติดตลก #วันสงกรานต์แห่งชาติ

พอถึงต้นเดือนที่ผ่านมา ฝนตกหนักหลายชั่วโมงทำพื้นที่กลางกรุงมีน้ำขังท่วมสูง ถนนสายสำคัญเป็นอัมพาต ภาพรถหรูจมน้ำใต้คอนโดที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์ นั่นแหละที่ทำให้เราเพิ่งหวั่นไหวและตั้งคำถามว่า ปีนี้น้ำจะท่วมไหม ? ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเราแทบไม่คิดถึงมันด้วยซ้ำ นับตั้งแต่ปี 54

ที่ตรงนี้มีน้ำท่วม

ถ้าอยู่ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเป็นมนุษย์ในกรุงเทพฯด้วยแล้ว ไม่แปลกหรอกที่คุณจะไม่ค่อยได้ยินเรื่องน้ำท่วมในปีนี้ ถึงเช่นนั้นอย่าว่าแต่ปี้นี้เลย เพราะปีไหนๆ ชีวิตนอกคันกั้นน้ำเป็นอะไรที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน

ข้อความหนึ่งบนเพจข่าวติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พูดอย่างน่าสนใจว่า “ถ้าไม่เป็นคนเสนา ผักไห่ บางบาล บางไทร ไม่รู้หรอกว่า ทุกปีพวกเราต้องคอยมากังวลกับน้ำ จะทำมาหากินอะไรต่อเนื่องก็ไม่มี ปลูกพืชการเกษตรก็ต้องมาระวังน้ำท่วม แต่การเกิดมาเป็นคนที่ต้องน้ำท่วมทุกปี ดีไปอย่าง ชินกับน้ำท่วมตั้งแต่เล็กจนแก่ หนักกว่านี้ก็เคย เราก็ปรับสภาพกันมาเรื่อยๆ”

ดูเป็นคำตัดพ้อ แต่นั่นก็คือความจริง ระหว่างที่มีพื้นที่หนึ่งแห้งสนิท ย่อมมีพื้นที่เปียกผู้เสียสละ และหากอยากให้กรุงเทพฯ แห้ง ผู้ที่เปียกก็หนีไม่พ้นชาวบ้านนอกคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นนทบุรี

คนกรุงเทพฯ โชคดีที่มีผู้เสียสละให้ โดยเฉพาะคนอยุธยาซึ่งแบกรับน้ำมวลน้ำจากภาคเหนือแทนเป็นประจำ และในปีนี้ 6 อำเภอใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ อ.บางบาล อ.เสนา อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ และ อ.บางไทร คือพื้นที่รับน้ำ ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนมาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน

จันทร์จ้าว โพธิ์สุทธิ ผู้ใหญ่บ้านที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า น้ำเข้าท่วมทั้งหมู่บ้านตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมแล้ว โดยระดับน้ำเพิ่มและลดเป็นช่วงๆ ก่อนทรงตัวมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งความสูงของระดับน้ำอยู่ที่ 2.95-3 เมตร ประเมินแล้วว่าน้อยกว่าปี 54 ราวๆ 1คืบ

“มันเป็นเรื่องธรรมดาของที่นี่ เพราะที่ อ.เสนา มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม พอมีน้ำล้นตลิ่งมาจากแม่น้ำน้อย ตรงนี้ก็จะถูกท่วมเต็มเกือบทั้งพื้นที่ทุกปีอยู่แล้ว ปีนี้ดูเหมือนข่าวเงียบๆ เลยไม่ค่อยมีใครมาช่วยอะไรเท่าไร เราเลยช่วยกันเองเป็นส่วนใหญ่”

เรียนรู้อยู่กับน้ำ

ลักษณะของพื้นที่ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยมานานเป็นประจำทุกปี ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ในการที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

หลักๆ คือการปลูกบ้านยกสูง จัดเวลาทำนาปลูกข้าวปีละ 2 ครั้งแทนการทำนาปี โดยเว้นช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายนที่จะมีน้ำท่วมพื้นที่ ข้าวสารอาหารแห้งที่ควรมีติดไว้กรณีออกไปตลาดไม่ได้ ยารักษาโรค เรือ และเครื่องมือสื่อสาร

ผู้ใหญ่บ้าน จันทร์จ้าว บอกว่า สักราวๆ ใกล้เดือน 5 ของทุกปี ชาวบ้านจะวางแผนปรับปรุงตัวบ้าน หากใครพอมีกำลังทรัพย์ก็จะ “ดีด” (ยก) บ้านให้สูงขึ้น เก็บข้าวของที่อยู่ใต้ถุนบ้าน สำรวจความสมบูรณ์ของเรือ และสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว

“ถ้าถามว่าวิถีชีวิตเป็นอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนไปมากนะ เพราะเราอยู่อย่างนี้มาตั้งแต่เกิด อย่างตัวฉันเองก็อยู่บ้านนี้มา 40-50 ปีได้ น้ำก็มาทุกปี ปีนี้ก็กลัวเหมือนกันว่าจะเหมือนปี 54 แต่จนถึงวันนี้ก็คิดว่ายังไม่ถึง แต่รู้สึกว่าปีนี้มันมาเร็วกว่าปีอื่นๆ คือมีสัญญาณมาตั้งแต่มิถุนายนเลย”

“ถ้าถามว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหมเมื่อเทียบกับอดีต หลักๆ ก็คงเป็นการทำนา การเตรียมตัวรับน้ำมันมีมานานแล้ว ที่ต่างออกไปก็น่าจะเป็นเรื่องสมาชิกในชุมชน ซึ่งคนหนุ่มสาวมักจะเลือกไปทำงานโรงงานมากกว่า ชุมชนจึงมีแต่คนแก่ การเตรียมตัวจึงต้องรอบคอบหน่อย เพราะถ้ามีปัญหามันก็จะลำบาก”

สมพิศ ลาพพักดี ชาวบ้าน ต.บางปะแดง อ.บางปะอิน ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา บอกว่า อยู่ ณ ที่แห่งนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว และคุ้นชินกับการที่มวลน้ำไหลล้นจากแม่น้ำเข้าท่วมบ้าน ดังนั้นนอกจากเรือที่แต่ละบ้านมีติดไว้ใช้สัญจรแล้ว ชาวบ้านยังต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ยกข้าวของขึ้นบนบ้าน การทำนั่งร้านไว้วางสัมภาระ ข้าวสารอาหารแห้ง หรือหากบ้านไหนปลูกข้าวก็ต้องเร่งเก็บเกี่ยวให้ทัน

“มันคือเรื่องปกตินะ และเราก็เห็นมาจนชิน ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องแปลกอะไรที่น้ำจะท่วมชั้นล่าง บ้านแถวนี้ตัวบ้านก็จะยกสูงอยู่แล้ว ถ้าให้สังเกตที่แตกต่างจากอดีต (ไม่นับปี 54) ก็น่าจะเป็นจะระดับน้ำจะมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะการก่อสร้างหมู่บ้านใหม่ๆ ที่ขวางทางไหลของน้ำ”

“คนที่ใช้รถยนต์สัญจรเขาจะฝากรถไว้กับคนรู้จัก หรือไม่ก็ไปจอดกลางถนนที่น้ำท่วมไม่ถึง อย่างบ้านพี่มีสมาชิก 5 คน ก็ต้องเตรียมเรือไว้อย่างน้อย 2 ลำ สำหรับพายเข้า-ออกบ้าน ไปยังที่จอดรถ แล้วค่อยขับไปทำงานต่อ แต่ถ้าวันไหนเรือไปไม่ได้เพราะน้ำตื้นเกิน เราก็ต้องเดินลุยน้ำ คอยอาศัยบ้านญาติ บ้านคนรู้จัก เป็นที่เปลี่ยนรองเท้า เพื่อไปใช้ชีวิตประจำวันต่อ”

เสียงคนนอกคัน

วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่นี่ผูกพันกับสายน้ำและท้องทุ่งกว้างอยู่แล้ว พวกเขามักตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง ทั้งบ้านเรือนไทยใต้ถุนสูงหรือเรือนแพ โดยหันหน้าเรือนออกริมน้ำซึ่งใช้เป็นทางสัญจร ในอดีตด้านหลังบ้านเป็นท้องทุ่งนา โดยมีต้นทุนคือผืนดินซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์จากดินตะกอนที่ไหลมาทับถมในฤดูน้ำหลาก ให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีสำหรับการปลูกข้าว ชาวบ้านจึงยังชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก บ้างออกเรือจับปลาในแม่น้ำลำคลอง

ผู้คนที่นี่ไม่เคยกลัวน้ำท่วม หรือคิดน้อยใจที่ต้องรับภาระแทนคนกรุงฯ แต่ที่หวั่นไหวคือเรื่องข่าวสารจากหน่วยงานรัฐ ที่ควรจะบอกพวกเขาให้ทันท่วงทีและแม่นยำว่า น้ำจะมาเมื่อใด และมีปริมาณมากน้อยอย่างไร

“ไอ้ที่ท่วมไม่กลัวหรอก เพราะเราก็อยู่กันมาแต่เด็กแล้ว แต่อย่าให้มันท่วมถึงพื้นบ้านก็พอ ไม่งั้นมันอยู่ไม่ได้ หรือถ้าบอกกันเร็วหน่อยก็จะดันพื้นบ้านให้สูงขึ้น ยกให้เป็นที่นอน ไม่กลัวหรอกน้ำ กลัวไม่มีใครเตือนมากกว่า” ชาวบ้านที่ต.หัวเวียงคนหนึ่งบอก

เรณู กสิกุล ชาวบ้าน ต.บางชะนี อ.บางบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทำวิจัยชุมชนเรื่อง “กระบวนการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำ ต.บางชะนี อ.บางบาล” กล่าวว่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำมีการปรับตัวไปตามยุคสมัย

ไล่ตั้งแต่การย้ายถิ่นฐานในกรณีที่มีทางเลือกอื่น การขายที่นาให้กับบริษัทแล้วเช่าที่ทำนาแทน การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาทำนาจากนาปีเป็นนาปรัง การเปลี่ยนชนิดพืชเพาะปลูกให้มีระยะการเก็บเกี่ยวที่สั้นขึ้น ก่อนที่น้ำจะมาถึง

“จากที่เคยเก็บข้อมูลก็มีทั้งที่ยังทำนาอยู่ และเลือกที่จะขายที่นาลดความเสี่ยงเพื่อไปหางานในโรงงานหรือในเมืองทำ หรือไม่ก็ไปเช่าที่ทำแทน จำนวนชาวนาก็ลดน้อยลง อย่างที่หมู่ 3 จากที่สำรวจก็เหลือประมาณ 30-40 คนเท่านั้น ใครทำสวนก็จะเปลี่ยนมาปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น อย่างผักคะน้า ผักบุ้ง เป็นการผสมผสานและปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วม”

แม้วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปบ้าง มีการตัดถนนและทางรถไฟ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อการเกษตร รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาให้อยุธยาเป็นเขตอุตสาหกรรม แต่ในความเปลี่ยนแปลงก็ยังมีวิถีเก่าๆ อยู่ และสำหรับพวกเขา ฤดูของน้ำ คือการจัดสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย จัดการคมนาคมแบบครึ่งบกครึ่งน้ำ ต่อเชื่อมกันให้ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำรงชีพในฤดูน้ำสูงเช่นนี้ให้ได้

“ไม่ได้คาดหวังว่าต้องเห็นเราเป็นคนสำคัญ แต่ขอให้ช่วยเหลือบ้างตามสถานการณ์จริง เช่น ถ้ามาสำรวจแล้วครัวเรือนไหนได้รับความเสียหายก็น่าจะมีเงินเยียวยา หรือบ้านไหนชำรุดก็น่าจะมีเงินช่วยในส่วนนี้ ส่วนเรื่องถุงยังชีพ ยารักษาโรค การดูแลผู้ป่วยก็ได้รับการดูแลมาในระดับที่ดีอยู่แล้ว” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมบอก

ไม่ได้คิดว่าตัวเองสำคัญ ไม่ได้อยากถูกสนใจ ไม่ได้คิดแย่งพื้นที่ข่าวบนหน้าฟีดของดาราคนไหน

เอาแค่รับรู้ว่า ในเบื้องหน้าที่พื้นถนนหน้าบ้านคุณแห้งสนิท ยังมีบางชีวิตที่ต้องทนอยู่กับน้ำ