เร่งเพาะพันธุ์ 'หอยชักตีน' ปล่อยธรรมชาติ

เร่งเพาะพันธุ์ 'หอยชักตีน' ปล่อยธรรมชาติ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา เร่งเพาะพันธุ์หอยชักตีนปล่อยสู่ธรรมชาติ หลังพบปริมาณลดลงตามความนิยมของผู้บริโภค ตั้งเป้าปีละไม่ต่ำกว่า 400,000 ตัว

เมื่อวันที่ 31 ต.ค.60 นายนิพนธ์ เสนอินทร์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ เปิดเผย "ผู้สื่อข่าว" ว่า ปัจจุบันหอยชักตีนจำนวนลดลงมากเนื่องจากผู้บริโภคนิยมรับประทาน ทำให้แหล่งหาหอยชักตีนลดน้อยลง ทางกรมประมง โดยเฉพาะที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา ตั้งอยู่บริเวณชายหาดท้ายเหมือง ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ได้เร่งเพาะพันธุ์ หอยชักตีน เพื่อนำไปปล่อยในทะเลตามที่อยู่เดิมของหอยชักตีน

หลังจากพบว่าหอยชักตีนมีปริมาณลดลงจากความต้องการของผู้บริโภคการเพาะพันธุ์หอยชักตีนซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่กรมประมงส่งเสริม เพื่อหาสัตว์น้ำชนิดนี้ให้แก่เกษตรกรนำไปทดลองเลี้ยง โดยหอยชักตีนที่เพาะพันธุ์ในครั้งนี้เน้นเพื่อในการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ สำหรับในการเลี้ยงนั้นยังอยู่ในช่วงทดลอง และการปล่อยในแต่ละปีปล่อยไปแล้วไม่น้อยกว่า 400,000 ตัว

"หอยชักตีน" เป็นหอยฝาเดียวที่จัดอยู่ในวงศ์หอยชักตีน (Strombidae)พบแพร่กระจายทั่วไปในทะเลเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไปทางตะวันตกสุดถึงเมลานีเซีย เหนือสุดถึงประเทศญี่ปุ่น และใต้สุดถึงควีนส์แลนด์และนิวแคลิโดเนีย พบอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นทรายปนโคลน และบริเวณหญ้าทะเลและสาหร่ายทะเล ตั้งแต่เขตน้ำขึ้น-ลง ไปจนถึงในระดับความลึกถึงประมาณ 55 เมตร มีการเก็บมาใช้บริโภคเป็นอาหารในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รวมทั้งมีการนำเปลือกมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานหัตถกรรมเครื่องใช้และของประดับตกแต่งต่าง ๆ ขนาดใหญ่สุดมีความยาวเปลือก 10 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปมักพบขนาดประมาณ 6-7 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบหอยชักตีนได้ทั่วไปทั้งในฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน ถือเป็นหอยฝาเดียวชนิดที่พบมาก สามารถพบเปลือกตามชายฝั่งทะเลทั่วไป แต่มีเพียงบางแหล่งที่มีการเก็บหอยชักตีนขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่นแถบจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระยอง ชุมพร เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปการเก็บหอยชักตีนจะใช้วิธีดำน้ำงม หรือเดินเก็บในเวลาน้ำลง

หอยชักตีนเป็นหอยที่ขุดกินสาหร่าย และซากอินทรีย์สารต่าง ๆ เป็นอาหาร การสืบพันธุ์เป็นแบบผสมภายใน โดยมีเพศผู้ เพศเมียแยกกัน จับคู่ผสมพันธุ์กัน หลังจากนั้นจะวางไข่มีวุ้นหุ้มลักษณะเป็นสายยาวสีขาว ขดเป็นกระจุกคล้ายเส้นหมี่ ไข่จะพัฒนาใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วัน จึงฟักออกเป็นตัวลูกหอย ซึ่งจะดำรงชีวิตว่ายน้ำ กรองกินแพลงก์ตอนพืชเล็ก ๆ เป็นอาหารอยู่ประมาณ 11-14 วัน จึงพัฒนาเข้าสู่ระยะลงพื้น เปลี่ยนการดำรงชีวิตเป็นขุดกินตะไคร่สาหร่ายหรืออินทรียสารต่าง ๆ ลูกหอยที่ได้จากการเพาะพันธุ์จะเติบโตได้ขนาดความยาวเปลือก 0.5-1 เซนติเมตร ภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน หอยชักตีนมักจะชอบอาศัยอยู่ตรงบริเวณชายหาดโคลนผสมกับทราย