เคลื่อนทัพ 'ตลาดใหม่' สถานีเติบโต FLOYD

เคลื่อนทัพ 'ตลาดใหม่' สถานีเติบโต FLOYD

ไม่เคยมองข้ามโอกาสทอง 'ทศพร จิตตวีระ' หนึ่งหุ้นใหญ่ บมจ.ฟลอยด์ เจาะฐานลูกค้ารายใหม่ ด้วยการมูฟตามเทรนด์โครงการเมกะโปรเจคเมืองไทย หวังผลักดันพันธกิจรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 10-20% 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอระดมทุนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 1 พ.ย.นี้

แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังอยู่ในเทรนด์ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กำลังเป็น 'โอกาสทอง' รุกขยายฐานลูกค้ารายใหม่ ของหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ในราคาหุ้นละ 2.80 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 90 ล้านหุ้น

'ทศพร จิตตวีระ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟลอยด์ หรือ FLOYD ผู้ให้บริการรับเหมาติดตั้งงานระบบไฟฟ้า งานวิศวกรรมระบบสาธารณูปโภค และเครื่องกลแบบครบวงจร บอกบอกสตอรี่ใหม่ ๆ ผลักดันฐานะทางการเงินกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek'  

'บมจ.ฟลอยด์' ถือกำเนิดโดย 4 เพื่อนสนิทที่เรียนวิศวะมาด้วยกัน ประกอบด้วย กลุ่มตระกูลของ 'สมเกียรติ เลิศศุภกุล' , 'ทศพร จิตตวีระ', 'อภิรัช เมืองเกษม' และ 'ประสิทธิ์ ทัศนสุกาญจน์' โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นกลุ่มละ 18.75% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ)  

ด้วย 'จุดเด่น' เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานวิศวกรรมระบบสาธารณูปโภคประกอบอาคาร ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในเรื่องคุณภาพงานและการบริการที่รวดเร็ว ด้วยทีมงานวิศวกรที่มีประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจที่ยาวนานมามากกว่า 29 ปี ส่งผลให้ผลการดำเนินงานมีอัตราการเติบโตของรายได้เติบโตต่อเนื่อง

สะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2557-2559) มีรายได้ 431.23 ล้านบาท 460.17 ล้านบาท และ 542.82 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว '10-20%'  

ปัจจุบันแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ส่วน คือ 'งานให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร' (Electrical & Communication System) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 41.48% 'งานให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบประปา ระบบสุขาภิบาล และระบบป้องกันอัคคีภัย' (Sanitary & Fire Protection system) คิดเป็น 27.93% และ 'งานให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบปรับอากาศและระบายอากาศ' (Air Conditioning & Ventilation system) คิดเป็น 30.11% 

ฉะนั้น เมื่อต้องการให้ธุรกิจมีการเติบโตแบบยั่งยืน แผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงเกิดขึ้น...! 'ทศพร จิตตวีระ'  หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ บอกเช่นนั้น แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะมีกลุ่มลูกค้าหลักๆ ใน 'กลุ่มอสังหาริมทรัพย์' อาทิ ห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก กลุ่มอาคารห้องชุดเพื่อการพักอาศัย อาคารสำนักงาน กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มมหาวิทยาลัย และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งจากภาครัฐและเอกชน 

ทว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงของธุรกิจ หากเจอสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวเหมือนในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนผ่านผลประกอบการงวด 6 เดือน ปี 2560 ที่มีรายได้ 123.48 ล้านบาท ลดลง 54.77% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สืบเนื่องจากลูกค้ามีการชะลอตัวในการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ออกไปเป็นช่วงปลายปี หรือ ต้นปี 2561 

ฉะนั้น เมื่อต้องการ 'จำกัดความเสี่ยง' ในเรื่องดังกล่าว แผนธุรกิจจึงเริ่ม 'โฟกัส' ในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ หลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการ 'กระจายความเสี่ยงธุรกิจ' ด้วยจากเดิมที่มีฐานลูกค้าเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันงานที่กำลังอยู่ในความสนใจ นั่นคือ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ เช่น งานระบบควบคุม งานวางระบบต่างๆ ที่บริษัทมีความชำนาญ เป็นต้น

ถือเป็น 'โอกาสทอง' และช่องทางในการขยายฐานลูกค้าใหม่ เพราะว่าบริษัทยังไม่เคยรับทำงานดังกล่าวมาก่อน แต่หลังจากบริษัทมีเงินระดมทุนเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะสามารถเข้าไปรับงานจากผู้รับเหมารายใหญ่ได้ ล่าสุด บริษัทมีการเข้าไปแนะนำตัวเองกับผู้รับเหมารายใหญ่ อาทิ บมจ.ช.การช่าง หรือ CK , บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ,บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC เป็นต้น เพราะว่าปัจจุบันมีโครงการภาครัฐออกมาจำนวนมาก และต้องยอมรับว่าธุรกิจอสังหาฯ ชะลอตัว แต่งานภาครัฐออกมาจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจของบริษัทมีความเกี่ยวทั้งงานไฟฟ้าในสถานี ,งานระบบแอร์ ,งานดับเพลิง ซึ่งจะดำเนินการในลักษณะผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractor)

สอดคล้องกับในปี 2561 ผู้ประกอบการรับเหมารายใหญ่จะได้งานโครงสร้างพื้นฐานใหม่เข้ามาตามแผนของภาครัฐที่จะมีการประมูลงานออกมา ทั้งงาน รถไฟฟ้า ,รถไฟทางคู่ เป็นต้น 

ฉะนั้น ในอนาคตบริษัทจะมีรายได้ที่เป็นแบ็กล็อกมากขึ้น จากปัจจุบันมีแค่งานคอนโดมิเนียม ส่วนงานคอมมูนิตี้มอลล์จะเป็นพอร์ตระยะสั้นที่เป็นงานหมุนเวียนในแต่ละปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีอัตราการสร้างกำไรเติบโตได้ในระดับที่ดีและมั่นคงในระยะยาว รวมทั้งมีความเสี่ยงน้อยเพราะว่ามีรายได้มาจากหลากหลายกลุ่มลูกค้า

'เปรียบเหมือนเราต้องฝากเงินไว้หลายๆ กระเป๋า'  

เขา เล่าต่อว่า ยังมีกลุ่มลูกค้ารายใหม่ที่บริษัทพึ่งได้รับงาน คือ กลุ่มลูกค้า 'ผู้พัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์' นั่นคือ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J ของ 'ตุ้ม-อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา' แห่ง 'เจ มาร์ท' ซึ่งเข้าไปรับงานในโครงการ JAS Urban สาขารามอินทรา และ The JAS สาขาวังหิน มูลค่างานรวม 12 ล้านบาท โดยปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 255 ล้านบาท และคาดว่าจะรับรู้รายได้ส่วนใหญ่เข้ามาในช่วงที่เหลือของปีนี้ทั้งหมด 

'ลูกค้าเจเอเอส แอสเซ็ท มีแผนที่จะขยายสาขาคอมมูนิตี้มอลล์ออกไปตามปริมณฑลอีกหลายสาขา รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ ประเภทคอนโดมิเนียมอีก ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะได้รับงานเพิ่มเติมอีกด้วย'  

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลูกค้ารายใหม่ในธุรกิจห้างสรรพสินค้า คือ บมจ.โรบินสัน หรือ ROBINS ปัจจุบันกลุ่มโรบินสันกำลังขยายสาขาเอง ซึ่งบริษัทเข้าไปรับงานเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และคาดว่ามีโอกาสที่จะรับงานในสาขาต่อไปอีก รวมทั้ง 'กลุ่มเซ็นทรัล' เข้ามาติดต่อให้บริษัทรับงาน แต่บริษัทปฏิเสธไปก่อน เพราะว่ายังไม่อยากรับงานมากเกินตัว และต้องการทำงานเก่าให้แน่นๆ ก่อน 

'ฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่เราได้มาถือว่าเป็นงานในธุรกิจที่เราถนัดอยู่แล้วเพียงแต่เป็นการกระจายพอร์ตธุรกิจออกไปในกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ เท่านั้นเอง'

นอกจากนี้ ธุรกิจรับเหมาสิ่งสำคัญครึ่งหนึ่ง คือ 'บุคลากร' ที่ผ่านมาบริษัทพัฒนาบุคลากรในด้วยการฝึกพนักงาน โดยรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง แต่มองในอนาคตที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจวิศวกรรมประกอบอาคารและมีธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืนและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าด้วยคุณภาพและความเป็นมืออาชีพแล้ว บริษัทจะต้องมีการสร้างศูนย์ฝึกอบรมพนักงานขึ้นด้วย  

ดังนั้น บริษัทมีแผนงานที่จะลงทุนก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่และก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมพนักงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการรับงาน ทักษะความชำนาญทางด้านวิศวกรรม และทักษะในการให้บริการ เพื่อให้บุคลากรของบริษัทสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของพนักงานฝ่ายปฏิบัติการให้มีทักษะความสามารถ ทั้งด้านวิศวกรรม และด้านการให้บริการ ซึ่งเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้มาใช้ลงทุนก่อสร้างอาคารสำนักงาน และศูนย์อบรมความสูง 8 ชั้น มูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท 

'เอ็มดี' บอกว่า ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 'ราว10-15%' เป็นการเติบโตตามลูกค้าหลักของบริษัทในกลุ่มห้างสรรสินค้าโฮมโปรฯ และ โรบินสัน ที่มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 60% การขยายโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ของลูกค้ากลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30% และการขยายโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ของลูกค้ารายใหม่ สัดส่วนรายได้ที่ 10%

'บริษัทมองว่าการลงทุนขยายโครงการต่างๆของลูกค้าในปี 61 จะเพิ่มขึ้น หลังจากความเชื่อมั่นของการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศกลับมาดีขึ้น ทำให้การขยายงานต่างๆกลับมา และเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเข้าไปรับงานได้มากขึ้น' 

ท้ายสุด 'ทศพร' บอกว่า เป้าหมายเข้าระดมทุนเพราะต้องการเงินไปขยายธุรกิจ สร้างภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ความมีมาตรฐานระดับบริษัทมหาชนที่ดี และภายหลังการแปรสภาพเป็นมหาชนโอกาสการรับงานเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งไม่ต้องปิดกั้นโอกาสในการรับงานแล้ว  

จุดกำเนิด 'ฟลอยด์'  

'ทศพร จิตตวีระ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟลอยด์ หรือ FLOYD เล่าอดีตฉบับย่อๆ ว่า บริษัทมาจากเพื่อนๆ ที่เรียนวิศวกรรมมาเหมือนกันมา 4 คน โดยเริ่มต้นกันมาตั้งแต่ด้วยธุรกิจงานวางโครงสร้างระบบอาคาร งานระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร, งานระบบประปา ระบบสุขาภิบาล, ระบบดับเพลิง งานระบบปรับอากาศ และระบายอากาศ

โดยตอนแรกเริ่มต้นบริษัทจาก 'สมเกียรติ เลิศศุภกุล' และ 'อภิรัช เมืองเกษม' หลังจากนั้นก็เริ่มพิสูจน์ผลงาน มีลูกค้าเห็นฝีไม้ลายมือ ทำให้ได้งานมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นทางคุณประสิทธิ์ ทัศนสุกาญจน์ และตัวผมเองก็เริ่มเข้ามา รวมกันเป็นกลุ่มทำกันมาเรื่อยๆ จากตอนแรกมีพนักงานกันไม่กี่คน เริ่มรับคนเข้ามาเพิ่ม ขยายงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบันมีพนักงานกว่า 100 คน

แต่จุดที่เปลี่ยนแปลงบริษัทคือ ตอนที่ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์เข้ามาเปิดกิจการในเมืองไทยพอดี และต้องการหาผู้รับเหมาโดยตรง ที่ไม่ต้องผ่านบริษัทจัดหา เราเลยได้มีโอกาสเข้าไปลองพิสูจน์ผลงาน จากเริ่มแรกได้งานแค่โปรเจกต์เล็กๆ จากนั้นพอลูกค้าเห็นผลงาน เห็นถึงความเอาใจใส่และความมีวินัยในการทำงาน เลยให้ทำโปรเจกต์อื่นๆ เพิ่มเติมไปด้วย กลายเป็นว่าเราได้งานทั้งโครงการเลย ทั้งงานระบบ งานไฟฟ้า 

หลังจากนั้นบริษัทก็ได้รับงานจากโฮมโปรด้วย จากนั้นเริ่มดีลงานกันมาเรื่อยๆ ทางโฮมโปรฯ ให้งานวางระบบมาทำด้วย แต่ก็เกิดจุดเปลี่ยนอีกคือ คาร์ฟูร์ประกาศหยุดกิจการ ทำให้ฟลอยด์เซนิดหน่อย แต่ว่าหันมารับงานที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีแทน ส่วนกลุ่มโฮมโปร ยังรักษาผลงานมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นรายได้หลักของบริษัทและสามารถต่อยอดมารับงานของโครงการ Mega Home เพิ่มเติมด้วย 

แต่ว่าในโลกของธุรกิจไม่สามารถหยุดนิ่งที่กลุ่มธุรกิจใดเพียงธุรกิจเดียว ด้วยความที่เรามีผลงานที่มีมาตรฐาน จึงลองเข้าไปรับงานโครงการคอนโดมิเนียมเพิ่มเติม และลูกค้ากลุ่มคอนโดฯ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท และ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์