ททท.ดัน”อาเซียน-อินเดีย”กระจายเสี่ยงตลาดจีน

ททท.ดัน”อาเซียน-อินเดีย”กระจายเสี่ยงตลาดจีน

แม้ในปีนี้นักท่องเที่ยว ตลาดจีนมาไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เพื่อกระจายความเสี่ยงการพึ่งพาตลาดเดียวมากเกินไป

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงต้องเร่งขยายฐานตลาดศักยภาพอื่น โดยมุ่งเป้าที่ อาเซียนและอินเดีย แม้จะมีแต้มต่อเชิง “รายได้” ที่เป็นโจทย์ให้แก้ไขระยะยาวก็ตาม

สันติ ชุดินธรา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน จะโฟกัสลงไปที่ 4 ตลาดศักยภาพ คือ อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และเมียนมา ที่มีจุดแข็งด้านจำนวนประชากรสูง และสภาพเศรษฐกิจเติบโต มีความนิยมเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น อาทิ อินโดนีเซีย มีฐานประชากรหลากหลายทั้งกลุ่มเชื้อสายจีนและมุสลิม ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของไทย

จากสถิติช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ นักท่องเที่ยวอินโดนีเซีย เดินทางไป สิงคโปร์ แล้วกว่า 1.9 ล้านคน ขณะที่ตลอดปี 2559 มีจำนวนกว่า 2.89 ล้านคน แต่การเดินทางมาไทยช่วง 9 เดือนแรก ยังมีจำนวนเพียง 4.32 แสนคน ททท. คาดการณ์ตลาดอินโดนีเซียมาไทยในปีนี้ มีจำนวน 6.08 แสนคน หรือยังน้อยกว่าสิงคโปร์เกือบ 5 เท่าตัว

ขณะที่เวียดนาม มีภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้มีโอกาสต้อนรับตลาดนี้กว่า 9.6 แสนคน ทำรายได้รวมกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท ก่อนที่ในปี 2561 จะกระตุ้นให้เดินทางมาไทยถึง “1 ล้านคน” ให้ได้ โดยอาศัยปัจจัยบวกด้านการเดินทางโดยเครื่องบินที่มีการขยายเส้นทางใหม่จากเมืองสำคัญจากทั่วทั้งประเทศมาไทยมากขึ้น ทั้งจาก ฮานอย, โฮจิมินห์, ดานัง และเกาะฟูโกว๊ก เป็นต้น

เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงาน ททท.สิงคโปร์ แม้จะไม่มีสำนักงานโดยตรง แต่ตลาดอยู่ในช่วงที่เติบโตได้อีกมาก ปีนี้คาดการณ์นักท่องเที่ยวไว้ที่ 3.55 แสนคน เพิ่มขึ้น 9.6% แต่รายได้จะเติบโตกว่า 16.5% เพราะการใช้จ่ายที่ดีขึ้น อีกทั้งได้สายการบินเริ่มขยายเส้นทางจากเมืองหลักในภาคอื่นๆ ของฟิลิปปินส์ เช่น ฟิลิปปินส์ แอร์ไลนส์ เตรียมเปิดบิน เซบู-กรุงเทพฯ ที่จะช่วยนำนักท่องเที่ยวจากหมู่เกาะตอนกลางประเทศเข้ามา โดยไม่ต้องแวะมาต่อเครื่องที่กรุงมะนิลา อย่างเดียวเท่านั้น

ส่วนตลาดเมียนมา ตั้งเป้าปีนี้ไว้ 4.05 แสนคน หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 4.1 หมื่นบาท/ทริป ติดอันดับสูงสุดในอาเซียนรองจากบรูไน มุ่งเป้าไปที่กลุ่มกำลังซื้อคุณภาพ มีเซ็กเมนท์ที่น่าสนใจคือ การท่องเที่ยวเชิงแพทย์และสุขภาพ, กลุ่มข้าราชการ, กลุ่มชอปปิง การเติบโตของตลาดเอาท์บาวด์ (นักท่องเที่ยวขาออก) จากเมียนมาที่ต้องจับตา เห็นได้จากการที่ประเทศจัด “อินเตอร์เนชั่นแนล ทัวริสซึ่ม เอ็กซ์โป” เทรดแฟร์ด้านการท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และไทยเป็น 1 ใน 9 ประเทศ ที่ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวเจาะตลาด พร้อมกับนำผู้ประกอบการออกไปโรดโชว์ที่ ย่างกุ้ง และ มัณฑะเลย์ ด้วยในเดือนเดียวกัน

แม้ว่าในเชิงปริมาณนักท่องเที่ยวอาเซียนในปีนี้ ที่คาดว่าจะสูงราว 9.5 ล้านคนนั้น จะตีคู่ขึ้นมาเท่ากับตลาดจีนที่คาดการณ์ไว้ที่จำนวนเท่ากัน แต่ในเชิงรายได้ตลาดอาเซียน คาดไว้ที่ราว 2.86 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับจีนที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5 แสนล้านบาทนั้น "ยังห่างไกลมากเนื่องจากอาเซียนเป็นตลาดระยะใกล้ จึงเดินทางมาด้วยความถี่มากกว่า แต่ใช้เวลาพำนักเฉลี่ยต่ำกว่า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อทริปน้อยกว่าตลาดจีนไปด้วย 

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องคือ ทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวมาไทยเพิ่ม สร้างกิจกรรมส่งเสริมการหมุนเวียนเม็ดเงิน โดยเฉพาะการกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ที่มีการใช้จ่ายที่สูงในแต่ละครั้ง

ภาพรวมตลาดอาเซียน ตั้งเป้าท้าทายว่ารายได้จะต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 15% ในปี 2561 เพื่อกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป”

ขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญตลาด อินเดีย ที่น่าจับตามองทั้งในเชิงจำนวนและรายได้ จากการมีฐานประชากรขนาดใหญ่ และมีเซ็กเมนท์ดั้งเดิมและใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง ตลาดเดิมที่ต้องรักษาฐานไว้คือ คู่แต่งงาน อินเดีย ที่ยังนิยมจัดงานต่างประเทศ ซึ่งเป็นค่านิยมในสังคมอินเดีย แม้ว่าแนวโน้มการจัดงานภายในประเทศจะมีมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายลดลงเพราะจำนวนโรงแรมที่เปิดใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีฐานะ การเลือกจัดงานและเชิญแขกมาต่างประเทศ ยังถือเป็นหน้าตาให้กับพิธีฉลองสมรสที่มีความสำคัญสำหรับชาวอินเดียอย่างมาก

ในปีงบประมาณ 2561 จึงเตรียมแนวทางการทำตลาดด้วยการสร้างระบบ E-Learning หรือการให้ความรู้ผ่านออนไลน์ ให้กับนักวางแผนจัดงานแต่งงาน (Wedding Planner) ในพื้นที่หลักสำนักงานนิวเดลี รวมถึงการนำนักวางแผนจัดงานแต่งงานของไทย เข้าไปร่วมโรดโชว์และเทรดโชว์ในอินเดีย เพื่อเจรจาธุรกิจกับเอเย่นต์ที่เป็นตัวแทนจัดหาบริการจัดงานแต่งงานต่างประเทศของคู่รักอินเดียโดยตรง จากแต่เดิมที่จะมีแต่ธุรกิจโรงแรมหรือทัวร์เข้าร่วมเท่านั้น

ส่วนเซ็กเมนท์ใหม่ที่ทยอยสร้างฐานแล้วและต้องทำต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้หญิงเดินทาง และ กลุ่มผู้เดินทางครั้งแรก หลังจากที่ผ่านมากระตุ้นให้กลุ่มนี้ขยายตัวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 50%

ทั้งนี้ ททท.คาดว่าปี 2560 จะมีนักท่องเที่ยวอินเดียมาไทย 1.23 ล้านคน เติบโตกว่า 14.2% และสร้างรายได้รวมกว่า 5.55 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 25% ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีนักท่องเที่ยวมาไทยเกิน 1 ล้านคน ที่มีทิศทางขยายตัวสูงสุดรองจากรัสเซีย