เก้าอี้เสริมลูกเล่น ตอบโจทย์สูงวัยปลอดภัย

เก้าอี้เสริมลูกเล่น ตอบโจทย์สูงวัยปลอดภัย

‘ซิท แอนด์ สลิป ออน’ อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถก้มตัวได้ ‘ดูโอซีท’ เก้าอี้นั่งอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ นวัตกรรมจากนิสิตจุฬาฯ ป้องกันการล้มในผู้สูงวัย

อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ที่หลังมีปัญหาและเก้าอี้นั่งอาบน้ำที่เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ห้องน้ำ สิ่งประดิษฐ์ที่ออกแบบเพื่อป้องกันการล้ม ขณะที่ HitAlert ระบบแจ้งเตือนการชนสำหรับผู้พิการทางสายตา ไอเดียสร้างสรรค์จากนิสิตจุฬาฯ พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งยังเป็นผลงานที่ได้รับความสนใจจากเวที i-CREATe 2017 ด้วยจุดเด่นด้านความเรียบง่ายในการออกแบบใช้สอย


ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดพื้นที่จัดแสดง 10 ผลงานตัวแทนประเทศไทยที่เข้าประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาในระดับนานาชาติในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 11 (i-CREATe 2017) ส.ค.ที่ผ่านมา ในเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น หวังส่งต่อไอเดียสร้างสรรค์ไปยังภาคธุรกิจเอกชนและแหล่งทุน


สวมได้ไม่ต้องยืน


ผลงาน ซิท แอนด์ สลิป ออน (Sit and slip on) หรืออุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ที่หลังมีปัญหา โดย น.ส.พิมพ์สิริ นิลโกสิตย์ และ น.ส.ณัฎฐา เกียรติสกุลเดชา นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเรื่องหลังหรือได้รับบาดเจ็บที่หลัง สามารถแต่งกายท่อนล่างได้ด้วยตนเอง


แรงบันดาลใจในการพัฒนาอุปกรณ์นี้ เกิดหลังจากได้ศึกษาข้อมูลจากนักกายภาพ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องของการเคลื่อนไหว มีอาการปวดหลัง ทำให้ต้องพึ่งพาผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ การแต่งกาย ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่รู้สึกว่าอยากจะช่วยเหลือตนเองมากกว่าหากทำได้ ขณะเดียวกันเป็นการลดภาระให้กับผู้ดูแลด้วย อุปกรณ์ดังกล่าวออกแบบให้กับผู้สูงอายุที่มีปัญหาหลังตึงก้มไม่ได้ มีอาการบาดเจ็บด้านหลังหรือเพิ่งผ่าตัด โดยติดตั้งกับขาเก้าอี้ในบ้าน การใช้ง่ายแค่เลื่อนขึ้นลงระหว่างที่สวมใส่กางเกง ด้วยการหนีบขอบกางเกงหรือกระโปรง ทั้งสองข้างเข้ากับอุปกรณ์ หลังจากนั้นผู้ใช้จับด้ามเพื่อเลื่อนกางเกงมาถึงปลายเท้า แล้วสอดเท้าเข้าไป ดึงด้ามอุปกรณ์ขึ้นมาจนสุดถึงความสูงประมาณเข่า ปลดที่หนีบออกและแต่งกายตามปกติ


“ที่ผ่านมาต้องลองผิดลองถูกหลายครั้ง กว่าจะได้อุปกรณ์ต้นแบบที่สามารถหมุนได้สองแกน ทำให้ปรับขนาดได้ตามสรีระของผู้สวมใส่เป็นการลดความเสี่ยงในการหกล้มของผู้สูงอายุได้อีกทางหนึ่ง ในอนาคตคงต้องปรับรูปแบบให้สามารถใช้งานได้ในห้องน้ำด้วย อาจต้องทำติดเก้าอี้ที่ดีไซน์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งราคาต้องต่ำกว่าเครื่องต้นแบบเพราะใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ แต่หากผลิตในเชิงพาณิชย์จำนวนมาก สินค้าจะมีราคาถูกลง ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอุปกรณ์ของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาหลัง” น.ส.พิมพ์สิริ กล่าว


อาบได้ไม่กลัวล้ม


ขณะที่ “ดูโอซีท” (Duo Seat) เก้าอี้นั่งอาบน้ำที่เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ห้องน้ำของผู้สูงอายุ เป็นผลงานที่ออกแบบและพัฒนาโดย น.ส.วรีสา ลัคนาธรรมพิชิต และนายอติพล ดีวงกิจ นิสิตชั้นปีที่4 ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมนำเสนอผลงานป้องกันการลื่นล้มของผู้สูงอายุ ที่สามารถติดผนังในห้องน้ำที่ไม่มีการแบ่งโซนพื้นที่เปียกและแห้ง โดยชั้นแรกใช้เป็นที่นั่งอาบน้ำ หลังจากอาบน้ำเสร็จเปิดอีกชั้นลงมาจะเป็นที่นั่งแห้งสำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้า ช่วยลดอันตรายจากการลื่นล้มในห้องน้ำ


ทั้งนี้ เนื่องจากห้องน้ำในเอเชียส่วนใหญ่ไม่ได้แบ่งส่วนแห้งกับส่วนเปียก ทำให้โอกาสที่ผู้สูงอายุล้มมีมาก ภาวะหกล้มเป็นปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โดยประมาณ 5-10% จะบาดเจ็บรุนแรง เช่น ภาวะกระดูกหัก อาการบาดเจ็บของสมองและอาจถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ คือ เกิดความกังวล ภาวะซึมเศร้า ตลอดจนสูญเสียความมั่นใจในการเดิน ผู้ป่วย 30 -73% จะมีอาการกลัวการหกล้มอีกจนทำให้สูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง


จากสถิติในประเทศไทยพบว่า แต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักลื่นล้มโดยเฉพาะในห้องน้ำ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิต สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจึงเข้ามาช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าว สำหรับแนวทางการต่อยอดในเชิงพาณิชย์คือ การนำเสนอเข้าสู่โรงพยาบาล ร้านจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อผู้สูงอายุ ที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการนำเสนออุปกรณ์ดังกล่าวเข้าสู่ตลาดในไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ล่าสุดมีบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุติดต่อที่จะเจรจาในรายละเอียดด้านสิทธิบัตร คาดว่าราคาจำหน่ายชุดละไม่เกิน 4,000 บาทเพื่อให้ผลงานเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้พิการและผู้สูงอายุในวงกว้างมากขึ้น