ภารกิจโจมตีเมฆที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน

ภารกิจโจมตีเมฆที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน

โครงการฝนหลวง ซึ่งหยาดฝนเทียมเม็ดแรกลงมาหลังจาก 14 ปี ในห้วงพระราชดำริแห่งในหลวง รัชกาลที่ 9 จนถึงตอนนี้ฝนหลวงก็ยังคงโปรยปรายความชุ่มชื้นสู่พื้นที่แห้งแล้งของผืนดินไทย

โครงการฝนหลวงคือโครงการที่ช่วยบำบัดทุกข์ของราษฎรมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับรู้ความเดือดร้อนจากน้ำท่วมและภัยแล้งของเกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498  จนนำมาสู่การใช้หลักวิทยาศาสตร์และธรรมชาติเข้าแก้ปัญหาจนประสบผล แต่กว่าที่จะทรงได้ผู้ที่มาสานงานต่อทดลองทฤษฎีที่ทรงศึกษามา คือหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ก็ต้องใช้เวลาถึง 14 ปี การทดลองทำฝนหลวงครั้งแรกจึงเกิดขึ้นที่สนามบินหนองตะกู จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2512

ภารกิจโจมตีเมฆที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน

“แต่ด้วยพื้นที่สนามบินที่หนองตะกูนั้นอยู่ในหุบเขา เวลาสังเกตอะไรก็มองไม่เห็น สมัยนั้นไม่มีเรดาร์ติดตาม เมื่อทำแล้วเมฆลอยเข้าป่าไปติดตามได้ยาก จึงย้ายสถานที่ทดลองมาที่สนามบินบ่อฝ้ายแทน” ผอ.ประสพ พรหมมา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้เล่าให้ฟัง

ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน

และวันนี้เราก็มายืนอยู่ที่สนามบินบ่อฝ้าย ชื่อเดิมในอดีต ปัจจุบันคือท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ได้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการหลักของโครงการฝนหลวง โดยมีศูนย์ย่อยอยู่ตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่นี่เองคือสถานที่ทดลองทำฝนหลวงตั้งแต่ต้น ผอ. ฉันติ เดชโยธิน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์ฝนหลวงหัวหิน เล่าถึงความเป็นมาตั้งแต่วันแรก

“การทดลองทำฝนหลวงครั้งแรกเริ่มขึ้นราววันที่ 4 - 5 สิงหาคม 2512 ที่อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ก็ได้น้ำเพิ่มระดับขึ้นในอ่างเก็บน้ำประมาณ 10 ซ.ม. ท่านก็รู้สึกว่าทดลองแล้วเห็นผล มั่นใจว่าจะสำเร็จ จากนั้นก็มีการพัฒนาวิธีเรื่อยมา หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์เคยให้โอวาทว่าการทดลองทำฝนต้องทำอยู่เรื่อยไม่มีสิ้นสุด”

ภารกิจโจมตีเมฆที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน

ทดลองกระบวนการในพื้นที่หัวหินอยู่ 3 ปี จนกระทั่งปี 2515 เป็นปีที่ประสบภัยแล้ง เกษตรกรชาวไร่อ้อยเขต 7 ถวายฎีกาขอให้มาทำฝนหลวงจริงในเขตพื้นที่ของพวกเขา การทดลองจึงกลายเป็นโครงการจริง และประสบผล ฝนตกค่อนข้างดี จากนั้นเป็นต้นมา โครงการฝนหลวงจึงได้ปฏิบัติงานจริงในทุกภาคของประเทศ

“เกษตรกรชาวไร่อ้อยเขต 7 ก็เลยรวมเงินกันซื้อเครื่องบินถวาย ก็คือลำสีส้มที่ท่านเห็นข้างหน้า” ผู้อำนวยการศูนย์ฝนหลวงหัวหินหมายถึงเครื่องบินลำสีส้มที่จอดเป็นอนุสรณ์อยู่หน้าห้องทรงงาน

ห้องทรงงานในศูนย์ฝนหลวงหัวหิน

ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ไม่ไกลจากพระราชวังไกลกังวล จึงเป็นสถานที่ที่ในหลวง ร. 9 เสด็จมาทรงงานบ่อย ห้องทรงงาน ณ ศูนย์แห่งนี้แสนเรียบง่าย มีแผนที่ประเทศไทยผืนใหญ่ และอุปกรณ์ที่ทรงใช้สอยในวันที่มีการถ่ายวิดีทัศน์เพื่อการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนไกลกังวลเมื่อปี 2545

แผนที่และเข็มทิศทรงใช้

ในช่วงแรกที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จะส่งรายงานถวายทางแฟกซ์ ต่อมาเมื่อมีอีเมล์ รายงานถวายจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แทน ถึงแม้ในระยะหลังมิได้ทรงเสด็จฯ มาที่ศูนย์ด้วยพระองค์เอง ก็ยังทรงติดตามการทำงานของศูนย์ฝนหลวงอยู่เสมอ

กรมท่าอากาศยานกับโครงการฝนหลวง

นอกจากผู้ปฏิบัติงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับโครงการฝนหลวงมาตลอด ก็คือท่าอากาศยาน

“การปฏิบัติการฝนหลวงกับการใช้พื้นที่ท่าอากาศยานมีส่วนสำคัญอย่างมาก เราได้รับความร่วมมืออย่างดีตั้งแต่แรกที่ตั้งหน่วยงานมา ที่นี่เป็นที่ตั้ง ห้องบรรยายสรุป วิเคราะห์สภาพอากาศของนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการ มีโรงเก็บสารฝนหลวง โรงเก็บเครื่องบิน ใช้แท็กซี่เวย์ รันเวย์ และหอบังคับการบิน เพื่อสื่อสารขึ้นบินให้ทันการสภาพอากาศ ฝนหลวงกับท่าอากาศยานจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันทั่วประเทศ” ผอ.ประสพ กล่าว

โจมตีเมฆกับเครื่องบินฝนหลวง

เมื่อได้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับฝนหลวงแล้ว จะสัมผัสถึงการทำฝนหลวงที่แท้ ต้องขึ้นไปสังเกตการณ์ด้วย ในวันนี้มีเครื่องบินฝนหลวงบินขึ้นปฏิบัติการโจมตีเมฆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำให้ฝนตก

สุนทร วัชพืช นักบินฝนหลวง

“วัตถุประสงค์ของการทำฝนหลวงคือจากที่ฝนไม่ตก ก็ทำให้มันตก จากที่ตกน้อยก็ทำให้ตกมาก ตกไม่ถูกพื้นที่ก็ทำให้ตกในพื้นที่” สุนทร วัชพืช บอกเล่า เขาทำหน้าขับเครื่องบินผู้นำฝูง คู่กับนักบินอีกท่าน ในเครื่องบินที่เรานั่งขึ้นไปสังเกตการณ์การทำฝนหลวง “เป็นการโจมตีแบบแซนด์วิช ใช้เครื่องบินบิน 2 ระยะประกบกัน ลำหนึ่งบินสูงที่ 8,000 ฟุต อีกลำอยู่ที่ 6,000 ฟุต เครื่องหนึ่งจะบินวนอยู่ที่สูง สารฝนหลวงคนละสูตรกัน ใช้สูตรความร้อนสะสมความชื้นสูง ข้างล่างใช้สูตรเย็น เพื่อเหนี่ยวนำให้เมฆลอยต่ำลง ถ้าเป็นดรายไอซ์จะช่วยให้เมฆกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ”

เครื่องบินฝนหลวงมี 2 รูปแบบคือ 1 เครื่องยนต์ และ 2 เครื่องยนต์ ลำที่ขึ้นบินวันนี้เป็นแบบ 1 เครื่องยนต์ นี่เป็นครั้งแรกที่เรานั่งเครื่องบนขนาดเล็ก ในตำแหน่งหลังนักบิน ซึ่งตรงห้องนักบินนั้นจะมี 4 ที่นั่ง ส่วนด้านหลังบรรทุกสารฝนหลวง มีเจ้าหน้าที่ดูแลการปล่อยสารฝนหลวงอยู่ โดยนักบินจะสื่อสารเมื่อถึงความสูงที่เหมาะสม

20171018185920578

ทัศนียภาพบนเครื่องบินดีมาก การได้เห็นทิวทัศน์จากเบื้องบน คนทั่วไปก็คงมองถึงความงาม แต่หากเป็นสายพระเนตรของในหลวง ร.9 ผู้ทรงเสด็จฯ ขึ้นที่สูงด้วยพระราชพาหนะแล้วทอดพระเนตรลงมา พระองค์ทรงเชื่อมโยงภูมิประเทศ และปัญหาของพื้นที่ต่างๆ ออกมาเป็นโครงการในพระราชดำริมากมาย ซึ่งแต่ละโครงการนั้นมิได้แยกขาดจากกัน หากเกี่ยวเนื่องเป็นเหตุเป็นผลสัมพันธ์กัน จากป่าสู่ฝน จากฝนสู่เขื่อน จากเขื่อนสู่ดิน โดยรวมคือระบบนิเวศทั้งหมดที่อิงอาศัยกัน

เครื่องบินใบพัดขนาดเล็กพุ่งตรงเข้าใจกลางเมฆฝน เพื่อ “ก่อกวน” “โจมตี” ให้เมฆหยาดฝนลงมา วันนี้มีเมฆฝนพร้อมอยู่แล้ว แต่ฝนจะตกหนาเม็ดขึ้น ช่วงที่บินอยู่ท่ามกลางเมฆนั้นเครื่องบินสั่นไหว บางจุดก็รุนแรง อุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลง 2 องศาทุกความสูง 1,000 ฟุต บนความสูง 8,000 ฟุต เราจึงสัมผัสความเย็นที่ลดต่ำลงถึง 16 องศา

“สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างวันนี้ มีเมฆฝน หากเป็นการบินปกติจะไม่บินเข้าหา เพราะเมฆฝนอันตราย เขาจะหลีกเลี่ยงกัน แต่ในการทำฝน เราต้องบินเข้าไปเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อให้ฝนตก” นี่คือสิ่งที่ได้รับรู้หลังจากเครื่องลงจอดที่พื้นดินแล้ว นักบินฝนหลวงต้องพุ่งเข้าหาความเสี่ยงอยู่เสมอ สุนทรเป็นนักบินฝนหลวงมา 14 ปี แม้ไม่เคยเข้าเฝ้า แต่เคยทำการบินสาธิตการทำฝนหลวงเหนือเขื่อนแก่งกระจาน เพื่อถวายให้ในหลวง ร.9 ทอดพระเนตร เขามีความภาคภูมิใจในฐานะนักบินฝนหลวงมาก

“ฝนหลวงเป็นโครงการที่พระองค์ท่านมุ่งขจัดความทุกข์ยากให้พสกนิกร ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคอุปโภคบริโภคล้วนแต่มาจากฝนเป็นเบื้องต้นทั้งนั้น”

เราอาจนึกถึงฝนหลวงในแง่ประโยชน์ต่อภาคเกษตร แต่ “น้ำ” ซึ่งมาจากฝนนั้นคือต้นธารของทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภคล้วนได้รับประโยชน์จากฝน ก็ไฟฟ้าและประปาที่เราใช้สอยอยู่ทุกวันนั่นไง

เมื่อได้ทำความเข้าใจกับโครงการฝนหลวงมากกว่าที่เคย ใกล้ชิดกับเมฆฝนมากกว่าที่คิด หลังจากนี้เมื่อมองดูฝนที่ตกลงมา เราก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนเดิมอีกต่อไป