"ดีอี"โยกสรอ.ขึ้นตรงสำนักนายกฯดันรัฐบาลดิจิทัลเต็มสูบ

"ดีอี"โยกสรอ.ขึ้นตรงสำนักนายกฯดันรัฐบาลดิจิทัลเต็มสูบ

“พิเชฐ”คาดไม่เกิน 4 เดือนสรอ.ภายใต้กำกับกระทรวงดีอี จะไปขึ้นตรงกับสำนักนายกฯ แจงงานทุกอย่างยังขับเดินหน้าตามโรดแมปเหมือนเดิม มุ่งสู่องค์กรวันสต๊อป เซอร์วิสทำงานดันโครงสร้างรัฐบาลสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนรัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส

“ดีอี”ดันสรอ.ขึ้นตรงสำนักนายกฯ

-หวังขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลคล่องตัวขึ้น

\"ดีอี\"โยกสรอ.ขึ้นตรงสำนักนายกฯดันรัฐบาลดิจิทัลเต็มสูบ
kGaPFFVP.JPG
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้า เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ว่า การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ แล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอยู่ หากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว จะทำให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เปลี่ยนเป็นสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. โดยให้ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี แทนการเป็นหน่วยงานกำกับของกระทรวงดีอี โดยทันที

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา นอกจากการเปลี่ยนแปลงชื่อแล้ว ยังได้แก้ไขผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา จาก “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” เป็น “นายกรัฐมนตรี” รวมถึงแก้ไขชื่อคณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็น “คณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล” และกำหนดให้ สพร.นั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนา บริหารจัดการ และให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบการให้บริการหรือแอพพลิเคชันพื้นฐาน จัดทำมาตรฐาน มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการทางเทคโนโลยีดิจิทัล และกระบวนการดำเนินงาน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ และมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของภาครัฐด้วย

“ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการทำงานเดิมของกระทรวงดีอี เนื่องจากสพร. นอกจากจะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล แล้ว รัฐมนตรีดีอีก็ยังเป็นคณะกรรมการในชุดนี้ด้วย ดังนั้นการทำงานทุกอย่างจะยังคงเหมือนเดิม” นายพิเชฐ กล่าว

ขณะที่ นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสรอ. กล่าวว่า การขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น จะช่วยทำให้ลดขั้นตอนการประสานงานและการบูรณาการข้อมูลระหว่างภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลได้เร็วขึ้น โดยสพร. จะเป็นหน่วยงาน วัน สต็อป เซอร์วิส ที่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐได้คล่องตัว ซึ่งรูปแบบองค์กรเป็นแบบสากล โดยมีประเทศสิงคโปร์ และ ออสเตรเลีย ก็ได้ดำเนินการ ทั้งนี้ บทบาทของสพร. จะต้องดูทุกเรื่องที่เกี่ยวกับดิจิทัลไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ สพร. ยังสามารถเข้าถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน หรือเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของ สพร. ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนฉบับใหม่ที่ระบุเนื้อหาดังกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้

เขา ระบุอีกว่า ในส่วนงบประมาณ 4,000 ล้านบาท ที่สรอ.ได้จากรัฐบาลนั้น ขณะนี้กำลังเริ่งสร้างบริการให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 3 ปี ได้แก่ 1.การให้บริการbiz.govchannel.go.th เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการจดทะเบียนเปิดบริษัท ให้สามารถกรอกแบบฟอร์มกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ภายในแบบฟอร์มเดียว  2. ศูนย์รวมใบอนุญาตภาครัฐ จากแต่ก่อนผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตหลายใบจากหลายหน่วยงานแยกกัน สรอ.ก็จะทำหน้าที่รวมศูนย์ใบอนุญาตภาครัฐไว้ที่เดียว และ 3. เรื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัว (อี-ไอดี) ที่ทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ไอดีเดียวในการใช้บริการออนไลน์ คาดว่าจะเริ่มเห็นต้นแบบภายในกลางปี 2561