๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ-Notre Roi

๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ-Notre Roi

หนังสือศิลปะภาพสีน้ำเล่าเรื่อง 'ในหลวงรัชกาลที่ 9' ระหว่างประทับ ณ เมืองโลซานน์ จัดทำโดยสุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ และ อ.เกริกบุระ ยมนาค

โลซานน์ (Lausanne) เมืองเล็กๆ น่ารักของประเทศสวิตเซอร์แลนด์..ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ทรงใช้เวลาในวัยเยาว์ร่วมกับ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ และ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เป็นเวลาเกือบ 20 ปี

ใครมีโอกาสอ่าน ‘แม่เล่าให้ฟัง’ และ ‘เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์’ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คงอิ่มอกอิ่มใจและยิ้มไปกับพระราชจริยวัตรของ ‘เจ้านายเล็กๆ’ ตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพ และวิธีการอภิบาลที่ ‘สมเด็จย่า’ ทรงถวายยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ณ เมืองโลซานน์ ดินแดนที่มีความสุขสงบ เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นที่ที่น่าอยู่ อากาศดี การศึกษาดี สังคมมีความเอื้ออาทร-มีวินัยสูง ช่วงเวลาที่ทรงประทับอยู่ที่นี่จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวความรักความอบอุ่นของครอบครัวราชสกุลมหิดล

หลายคนอยากไป ‘โลซานน์’ อยากเห็นเมืองที่ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ทรงมีความสุขในวัยเยาว์

ล่าสุดคุณ สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ นักเขียนสารคดีท่องเที่ยว ซึ่งเคยศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และทำงานกับสายการบินแห่งชาติสวิสกว่า 20 ปี และ อ.เกริกบุระ ยมนาคศิลปินวาดรูปสเกตช์ภาพสีน้ำ ได้ร่วมกันตามรอยพระบาท ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และนำสถานที่หลายแห่งในเมืองโลซานน์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ มาถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มใหม่ชื่อ ๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ-Notre Roi เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว

หนังสือ  ‘๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ-Notre Roi’ เป็นหนังสือศิลปะภาพเล่าเรื่อง บอกเล่าเรื่องราวเรียงลำดับตั้งแต่เหตุใดราชสกุลมหิดลจึงต้องเดินทางไปพำนักที่เมืองโลซานน์ 

ผู้อ่านจะได้ทราบพระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่เก้า เหตุการณ์ และเรื่องราวที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของครอบครัวราชสกุลมหิดล เมื่อครั้งประทับ ณ เมืองโลซานน์ เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ รวมทั้งการเสด็จเยือน 13 ประเทศในยุโรปเมื่อปีพ.ศ.2503 

ในตอนท้ายของหนังสือ ยังได้กล่าวถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพระเมรุมาศ 

ทั้งหมดนี้เล่าผ่านภาพวาดสีน้ำ-ภาพสเกตช์ของอาจารย์เกริกบุระ และการร้อยเรื่องของคุณสุพจน์

คุณสุพจน์ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของการทำหนังสือเล่มนี้ว่า ได้รับการติดต่อจากศูนย์ศิลปะฮอฟอาร์ต (Hof Art) และคุณวิทิตนันท์ โรจนพานิช เพื่อจัดทำโครงการตามรอยพระบาทเกี่ยวกับเมือง โลซานน์ ซึ่งเป็นเมืองที่ ‘ในหลวงรัชกาลที่เก้า’ ทรงเคยประทับ โดยลงพื้นที่จริงร่วมกับอาจารย์เกริกบุระ ยมนาค ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน จึงเสนอแนวคิดการทำหนังสือศิลปะภาพเล่าเรื่อง

ในขณะที่ อ.เกริกบุระก็มีความประสงค์ทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทำงานที่เปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ ประกอบกับยังไม่เคยมีการวาดภาพสีน้ำและภาพสเกตช์สถานที่ในเมืองโลซานน์ที่พระองค์ทรงเคยเสด็จประทับ รวมทั้งสถานที่อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระองค์ตลอดเวลา 18 ปีที่ทรงประทับ ณ เมืองโลซานน์ จึงเห็นพ้องถึงการวางแนวคิดให้หนังสือเล่มนี้เป็น ‘สมุดภาพ’ หรือ ‘หนังสือศิลปะภาพเล่าเรื่อง’ ใช้การเขียนภาพประกอบเล่าเรื่อง โดยไม่ใช้ภาพถ่ายใดๆ เลย 

“คือโลซานต์คนไปถ่ายรูปเยอะมาก แต่สเกตช์บุ๊คยังไม่มี แรกๆ ผมก็คิดอย่างนั้น แต่พอทำไป ผมอยากสื่อความเป็นจริงและรายละเอียดทุกอย่างให้ได้เห็นชัดเจน เพราะเราทำหนังสือเพื่อสาธารณชน เขาก็คงอยากรู้ความจริง โดยเฉพาะผมเขียนพอร์ตเทรตในหลวงรัชกาลที่เก้าและราชสกุลมหิดล จึงต้องทำให้ละเอียดและดีที่สุด ก็เลยหลุดจากความเป็นสเกตช์ไป” อ.เกริกบุระ กล่าว

นอกจากเนื้อเรื่อง ลายเส้นสเกตช์และสีน้ำ ใครมีโอกาสเปิดชมหนังสือเล่มนี้ ก็จะพบความพิเศษที่เห็นได้ชัดอีกประการ แม้เป็นภาพที่พิมพ์ลงบนกระดาษ แต่ภาพที่ปรากฎในหนังสือก็มีความงดงามเหมือนภาพวาดต้นฉบับจริง ไม่เหมือนภาพพิมพ์จากภาพถ่ายที่ดูแบนราบ 

ความพิเศษนี้ได้รับความช่วยเหลือจากคุณ ธวัชชัย เลิศจตุรภัทร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ดูแลให้เป็นกรณีพิเศษ

“เราเน้นให้กระดาษเหมือนกระดาษวาดภาพสีน้ำมากที่สุด แม้จะพิมพ์ลงไป ก็เหมือนภาพวาดจริงๆ เพราะเป็นกระดาษ 200 แกรม คุณธวัชชัย เลิศจตุรภัทร มีเทคนิคพิเศษ ทำให้ภาพดรออิ้งเมื่อพิมพ์แล้ว เหมือนภาพต้นฉบับมาก ลำพังผมไม่มีความรู้ความเข้าใจเทคนิคขนาดนั้น” อ.เกริกบุระ กล่าว

ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 คุณสุพจน์และอ.เกริกบุระ มีเวลาลงพื้นที่ 7 วัน ณ เมืองโลซานน์

นอกจากข้อมูลบางส่วนที่คุณสุพจน์มีอยู่แล้วจากการเคยเขียนพระราชประวัติในแง่การท่องเที่ยว คุณสุพจน์และอ.เกริกบุระยังมีโอกาสพบกับ มร.โอลิเว่ กริวา (Olivier Grivat) นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ชาวสวิส ซึ่งรับอาสาพาไปชมสถานที่แห่งใหม่ๆ ในโลซานน์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ ‘ในหลวงรัชกาลที่เก้า’ แต่น้อยคนนักจะทราบความดังกล่าว

มร.โอลิเว่ ใช้เวลากว่าสองปีในการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะทรงใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือชื่อ Un roi en Suisse (หรือ A king in Switzerland) เป็นการเขียนในลักษณะคนสวิสมอง ‘เด็กผู้ชายคนหนึ่ง’ ซึ่งมาศึกษาที่โลซานน์

มร.โอลิเว่พิสูจน์ข้อเขียนของเขาถึงการสืบค้นอย่างมีหลักฐาน โดยการพาคุณสุพจน์และอ.เกริกบุระไปยัง Villa Flonzaley (คฤหาสน์ฟลองซาเลย์) พระตำหนักที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จเยือน 13 ประเทศยุโรป พ.ศ.2503 คฤหาสน์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปุยดูซ์(Puidoux) ชานเมืองโลซานน์

คุณสุพจน์กล่าวถึงความตอนหนึ่งในหนังสือของโอลิเว่ กริวา ว่าในปีพ.ศ.2503 หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า เสด็จพระพาสยุโรป 13 ประเทศ (ทรงนับรวมอิตาลีกับวาติกันเป็นการเสด็จในคราวเดียวกัน) แทนที่พระองค์จะเลือกประทับโรงแรมห้าดาวกลางกรุงลอนดอนหรือปารีส กลับทรงเลือกประทับที่หมู่บ้านปุยดูซ์ หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากร 1,500 คน ชานเมืองโลซานน์ ทรงเช่าบ้านอยู่ ชื่อ ‘วิลล่า ฟลองซาเลย์’ โดยหลังจากเสร็จสิ้นการเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ประทับเครื่องบินพระที่นั่งมาลงยังเมืองเจนีวา และเสด็จยังหมู่บ้านปุยดูซ์ ทรงเช่าบ้านหลังนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือนกว่า ให้เป็นที่ประทับของพระราชโอรสและพระราชธิดา 

วิลล่าฟลองซาเลย์เป็นเสมือนศูนย์บัญชาการ หลังเสร็จพระราชภารกิจเสด็จเยือนประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก ก็เสด็จกลับมาประทับที่วิลล่าฟลองซาเลย์ก่อนวันสองวัน แล้วจึงเสด็จไปประเทศเยอรมนี จากนั้นเสด็จกลับมาอยู่กับพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกเป็นเวลา 5 วันก่อนจะเสด็จเยือนประเทศถัดไป และไม่ว่าจะเสด็จเยือนประเทศใดในพระราชภารกิจคราวนั้น ทุกครั้งต้องเสด็จกลับมาที่วิลล่าฟลองซาเลย์

“เป็นจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทรงผูกพันกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเหมือนบ้าน เราก็ตามเข้าไปถึงตัวบ้าน จากรั้วเดินเข้าไปเป็นกิโล(เมตร) ตัวบ้านอยู่บนเนิน มองเห็นทะเลสาบแม้แต่สถานทูตไทยก็ไม่เคยมาที่นี่ ปัจจุบันเป็นบ้านปล่อยเช่า เดือนละ 7 แสนบาท เจ้าของเป็นทนายความรุ่นลูก ก็ยังปล่อยให้เช่าอยู่" คุณสุพจน์ กล่าว

หมู่บ้านปุยดูซ์เมื่อทราบว่ามีประมุขระดับประเทศจากแดนไกลมาประทับ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตเปิดห้องประชุมในศาลาประชาคมเพื่อจัดงานเลี้ยงถวาย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2503

มร.โอลิเว่ พาไปคุณสุพจน์และอ.เกริกบุระไปชมห้องประชุมที่เคยใช้เป็นสถานที่จัดงาน เป็นห้องขนาดเล็ก จุคนได้ราว 100-200 คน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม 

อ.เกริกบุระมีโอกาสบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว โดยวาดจากภาพข่าวที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งเมืองปุยดูซ์เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

อีกข้อมูลใหม่ที่คุณสุพจน์และอ.เกริกบุระมีโอกาสบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ คือการได้พบกับ มร.ดาเนียล โชแบรต์ (Mr.Danile Chaubert) อดีตหัวหน้านายสถานีรถไฟรถไฟปุยดูซ์ แซซบร์ (Gare Puidoux-Chexbre) วัย 88 ปี ซึ่งเคยถวายงานรับเสด็จขบวนรถไฟพระที่นั่งจากเมืองบอนน์ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2506

มร.ดาเนียลรอพบคุณสุพจน์และอ.เกริกบุระที่สถานีรถไฟปุยดูซ์พร้อมหมวกประจำตำแหน่งที่สวมในคืนรับเสด็จ แต่เครื่องแบบสวมใส่ไม่ไหวแล้ว เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มตามวันเวลา

"คืนวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2506 ขบวนรถไฟพระที่นั่งมาจากเมืองบอนน์ เมืองหลวงของประเทศเยอรมนีในขณะนั้น ตามกำหนดการ รถไฟขบวนนี้จะมาถึงก่อนเวลาเที่ยงคืน แต่ก็เกิดการล่าช้าเล็กน้อย  จึงมาถึงเวลาเที่ยงคืนสี่สิบนาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานีของเรากำลังคับคั่งด้วยรถไฟตู้ขนสินค้าการเกษตรทั้งผักผลไม้จากเมืองเวเวย์ เพื่อจะนำส่งไปยังแถบสวิสเยอรมันให้ทันในช่วงเช้า บริเวณรอบๆ จึงดูวุ่นวายพอสมควร แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี...

ขบวนเสด็จฯ มาเทียบชานชาลาที่ 2 แต่เพื่อมิให้พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินลอดใต้ทางรถไฟมายังรถพระที่นั่งที่รออยู่ ผมจึงให้ขบวนรถไฟพระที่นั่งเลยสถานีไปเล็กน้อย จากนั้นผมจึงสับรางให้ถอยกลับเข้ามาเทียบชานชาลาที่ 1 และที่สำคัญคือ ต้องกะให้ประตูที่จะเสด็จลง ให้ตรงพรมแดงที่ผมเตรียมไว้พอดี" มร.ดาเนียล กล่าวและเล่าถึงเหตุการณ์อันน่าประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตอีกว่า

ผมโชคดีที่อยู่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ผมได้เฝ้าฯ ทั้งสองพระองค์อย่างใกล้ชิด พระมหากษัตริย์ไทยทรงสง่างาม พระราชินีก็ทรงพระสิริโฉมอย่างยิ่ง ผมคิดว่าทั้งสองพระองค์คงจะทรงเหนื่อยกับการเดินทางมาก แต่ก็ทรงแย้มพระสรวลตลอดเวลา จะเป็นวันที่ผมไม่มีวันลืมได้เลย...

ยังมีภาพและเรื่องราวอีกมากมายที่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ ‘๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ-Notre Roi’ อาทิ เรื่องราวและภาพของ โรส-มารี แบร์เซร์ (Rose-Marie Berger) ศิลปินวาดภาพ อายุ 95 ปี อดีตเพื่อนบ้านครอบครัวราชสกุลมหิดล ซึ่งเคยถวายการสอนภาษาฝรั่งเศส ‘สมเด็จย่า’ เมื่อครั้งทรงพำนักอยู่ที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ในหมู่บ้านปุยยี(Pully) ชานเมืองโลซานน์

ภาพเขียนสีน้ำ Champ Soleil (ชองป์ โซเลย์) หรือ ‘บ้านรับเลี้ยงเด็ก’ ตั้งอยู่บนถนนร่มรื่นชื่อเดียวกัน เป็นสถานที่ที่ ‘สมเด็จย่า’ ทรงวางพระทัยในการนำพระโอรส-ธิดามาฝากเลี้ยงไว้ถึง 3 ครั้ง เนื่องจากเจ้าของสถานที่เป็นแพทย์ จึงดำเนินการอย่างถูกสุขลักษณะมาก ครั้งแรกทรงนำ ม.จ.หญิง กัลยาณิวัฒนา และ ม.จ.อานันทมหิดล มาฝากไว้ เนื่องจาก ‘สมเด็จย่า’ ต้องตามเสด็จพระบรมราชชนกเสด็จฯ กลับประเทศไทย เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2468 เป็นอาทิ

อาจารย์เกริกบุระเล่าถึงวิธีการทำงานครั้งนี้ว่า เมื่อไปถึงแต่ละสถานที่ก็ถ่ายรูปเก็บไว้ โดยต้องแน่ใจว่าเป็นมุมที่สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการ เขียนภาพได้อย่างลงตัว

“คือเราต้องคิดองค์ประกอบไว้ในใจ ไม่ใช่ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์ แต่ถ่ายภาพเพื่อนำมาเขียนรูป ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่โลเคชั่น เวลา แสงแดด การขยับพื้นที่ เช่น บางสถานที่เราไม่มีที่ให้ถอยหลัง เป็นถนนแคบๆ เราก็ไม่สามารถได้มุมกว้างของตัวอาคาร” อ.เกริกบุระ กล่าวและเล่าถึงความสนุกในการถ่ายภาพครั้งนี้ด้วยว่า โลซานน์เมืองแห่งเนินเขา เดินในเมืองก็ขึ้นๆ ลงๆ บางตึกตั้งอยู่บนเนินเขา ถอยหลังมากก็ไม่มีที่ ถ่ายภาพมุมแหงนมากก็ไม่ได้ เพราะผิดส่วน ไม่ได้รายละเอียด จึงต้องปีนกำแพงเพื่อให้สามารถถ่ายภาพแนวขนานให้ได้มากที่สุด

“บางมุมก็ดีมากๆ ในแง่การจัดวางรูปทรงแลนด์สเคป สวยมากๆ อาจเป็นความบังเอิญที่เขาจัดผังเมืองไว้ได้อย่างมีระเบียบ เราไปที่ไหนก็ลงตัว สวยงาม” อ.เกริกบุระ กล่าว

สถานที่จริงบางแห่ง เมื่อเดินทางไปถึง กลับมองเห็นเพียงด้านเดียว เช่น ‘วิลล่า ฟลองซาเลย์’ อีกด้านมีต้นไม้บังไว้ทั้งหมด เป็นสถานที่ส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถเข้าไปภายในบริเวณได้มากกว่านั้น แต่แล้วลูกชายก็ได้ภาพมุมที่ลงตัวจากออนไลน์ เป็นเรื่องบังเอิญที่แปลกมาก ขณะที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา เจ้าของเดิมทุบและสร้างเป็นอพาร์ตเมนต์สมัยใหม่ไปแล้ว เป็นอีกหนึ่งภาพที่ค้นหายาก เนื่องจากไม่ค่อยมีใครบันทึกภาพตัวตึกชัดๆ แต่ก็ได้ภาพถ่ายของมร.โอลิเว่มาเป็นต้นแบบ อาจารย์เกริกบุระ เล่า

ลักษณะการให้สีน้ำที่ใช้วาด อ.เกริกบุระเลือกสไตล์ที่มีอิทธิพลของโครงสีจากรูปเขียนโบราณส่วนหนึ่ง คือคุมโทนสีไม่ให้รุนแรงมาก เป็นสีคลาสสิก ขรึมๆ และเขียนโดยสร้างความละเอียดให้ผู้อ่านได้เข้าใจรายละอียดได้พอสมควร เนื่องจากเป็นภาพเชิงประวัติศาสตร์

อ.เกริกบุระ ใช้เวลา 2 เดือน วาดภาพสีน้ำและภาพสเกตช์ จำนวน 80 ภาพ สำหรับการจัดทำหนังสือเล่มนี้  และนำต้นฉบับภาพจริง จำนวน 20 ภาพ จัดแสดงให้ชม ณ บริเวณลานอีเดน 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ วันนี้-31 ตุลาคม 2560

หนังสือ ‘๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ-Notre Roi’  มีจำนวน 88 หน้า จัดทำเป็นชุดกล่องพิเศษ จำนวน 999 เล่ม ข้างในเล่มมีภาพพิมพ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมลายเซ็น อ.เกริกบุระ ยมนาค ราคา 1,999 บาท และจัดทำเป็นหนังสือปกแข็ง พิมพ์สี่สี ราคา 999 บาท ผู้สนใจสามารถสอบถามและสั่งจองได้ที่โทร.08 9926 2196 และที่ www.facebook.com/๙เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ

รายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่าย มอบ ‘มูลนิธิอานันทมหิดล’ และเป็นทุนการศึกษาให้กับสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

คุณสุพจน์เลือกปิดหน้าสุดท้ายของ หนังสือ ๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ-Notre Roi ด้วยประโยคขึ้นต้น ‘เพลงทรงโปรด’ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป

ความมืดจากจร ลาก่อนความฝันอันแสนหวาน” 

เป็นประโยคขึ้นต้นของเพลง Tristesse ซึ่งแปลว่า ‘ความเศร้า’ แล้วอาจารย์เกริกบุระก็วาดภาพดอก ดารารัตน์ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเคยพระราชทานให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 

วางภาพไว้เคียงกับประโยคดังกล่าว