ชุดตรวจสารระเบิด ผลงานไทย-ราคาประหยัด

ชุดตรวจสารระเบิด ผลงานไทย-ราคาประหยัด

จากองค์ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาชุดตรวจสารระเบิดต้นทุนต่ำ สนับสนุนปฏิบัติการภาคสนาม สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ เล็งส่งต่อกองพิสูจน์หลักฐานทำการทดสอบจริงตอบโจทย์ความมั่นคงของประเทศ

“ชุดตรวจสารระเบิดราคาประหยัด” ผลงานของ รศ.อารีย์ ชูคำ คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต พัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างองค์ความรู้สำหรับการเรียนการสอนทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ และมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ จึงพัฒนาต่อยอดเป็นชุดตรวจที่ใช้งานได้จริง

ไอเดียเพื่อความปลอดภัย

ปัจจุบันนี้ ไทยยังไม่ใช้วิธีการตรวจสารระเบิดในที่เกิดเหตุ แต่จะเก็บพยานวัตถุต่างๆ ไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ขณะที่ต่างประเทศนิยมตรวจในที่เกิดเหตุ ทำให้มีการพัฒนาชุดตรวจหรือกระบวนการตรวจสอบในพื้นที่ ยกตัวอย่างออสเตรเลียกับการลงพื้นที่ตรวจระเบิดที่บาหลีจะมีโมบายแล็บและชุดตรวจเบื้องต้น หากพบจุดต้องสงสัยก็จะเก็บหลักฐานและพยานวัตถุต่างๆ ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติขั้นสูงเพื่อยืนยันผลต่อไป

รศ.อารีย์ อธิบายว่า ชุดตรวจสารระเบิดต้นทุนไม่เกิน 5 บาทต่อชุดนี้ ขณะที่ชุดตรวจนำเข้าราคาชุดละ 78 บาท เป็นชุดตรวจปริมาณสารระเบิดแบบตรวจวัดสีสำหรับตรวจหาสารระเบิดกลุ่มไนโตรอะโรมาติก (ระเบิดทีเอ็นที, ดีเอ็นที), กลุ่มแอมโมเนียมไนเตรต (สารระเบิดกลุ่มอินออร์แกนิค เช่น ระเบิดปุ๋ยที่ใช้ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้), กลุ่มไนตราเอมีน (ระเบิดกลุ่มอาร์ดีเอ็กซ์), กลุ่มไนเตรตเอสเทอร์ ที่ไทยยังไม่มีเคสระเบิดแบบนี้ และกลุ่มไนโตรกลีเซอร์รีน (ระเบิดกลุ่มซีโฟร์)

“ชุดตรวจนี้เป็นการพัฒนาในลักษณะก้อนโพลิเมอร์ ภายในมีส่วนผสมของน้ำยาเคมีที่คิดค้นสูตรขึ้นมาเฉพาะ สามารถทำปฏิกิริยากับสารระเบิดแต่ละชนิด ที่เพียงแค่มีละอองสารก็จะเกิดเป็นสีที่บ่งชี้ชนิดของสารระเบิด ส่วนความเข้มของสีก็จะบ่งชี้ปริมาณของสารระเบิด”

เพียงแค่ใช้คอตตอนบัดถูวนในบริเวณที่เกิดเหตุระเบิดเพื่อให้ละอองสารระเบิดติดมา เติมน้ำ 3 หยดให้สารระเบิดไหลลงสู่ชุดตรวจ สารระเบิดก็จะทำปฏิกิริยากับสารเคมีภายในด้วยเวลาเพียงไม่กี่วินาที จากการทดสอบพบว่า ความแม่นยำของชุดตรวจอยู่ที่ราว 95%
รศ.อารีย์ กล่าวถึงกรณีการระเบิดที่ราชประสงค์ก็ได้นำชุดตรวจสารระเบิดนี้ไปทดสอบ แม้จะผ่านมากว่า 10 วันหลังการระเบิด แต่ก็ให้ผลตรงกับที่มีการทดสอบด้วยวิธีมาตรฐาน รวมถึงมีการจำลองสถานการณ์ระเบิดร่วมกับตำรวจและทดสอบประสิทธิภาพของชุดตรวจสารระเบิดจากพื้นดิน ยอดหญ้า ก็สามารถตรวจพบได้ตามโจทย์กำหนด

ตรวจร่องรอยสกัดก่อนเกิดเหตุ

ชุดตรวจนี้ยังสามารถใช้ตรวจก่อนเกิดเหตุ โดยนำไปทดสอบวัตถุต้องสงสัยรวมถึงมือและเสื้อผ้าของผู้ต้องสงสัยที่มีละอองสารระเบิดติดอยู่ได้ ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจหลังเหตุระเบิดเพื่อให้ทราบถึงชนิดของสารระเบิด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มต้องสงสัย ทำให้สามารถติดตามผู้กระทำผิดได้

“เราได้ส่งต้นแบบให้กับค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานี นำไปใช้ตรวจเสื้อผ้าผู้ต้องสงสัย ทดแทนกระบวนการเดิมที่ต้องส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งระหว่างรอผลตรวจนั้น ผู้ต้องสงสัยอาจจะมีการเคลื่อนไหวและหนีไป”

ด้วยต้นทุนไม่เกิน 5 บาทต่อชุด และสามารถใช้ซ้ำได้ถึง 9 ครั้ง จะช่วยให้ภาครัฐลดงบในการตรวจวิเคราะห์สารระเบิด มีกระบวนการตรวจพิสูจน์ที่รวดเร็วโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญ เพียงแค่เทียบสีและความเข้มของสีกับชาร์จแผ่นสีก็สามารถรู้ผลเบื้องต้นได้

ปัจจุบันได้จดอนุสิทธิบัตรและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ พร้อมกันนี้ได้ยื่นขอรับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในการทดสอบภาคสนาม โดยร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานที่มีสารระเบิดจริง และต้องการความคิดเห็นจากผู้มีประสบการณ์และเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้งานชุดตรวจนี้ในสถานการณ์จริงเพื่อนำมาพัฒนา ปรับปรุงให้เหมาะสมกระทั่งนำไปสู่การใช้จริงในที่สุด

“เราต้องการทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นองค์ความรู้ไทยที่จะผลักดันให้ไปสู่หน่วยงานภาครัฐเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปสู่การใช้จริง และเกิดประโยชน์กับคนไทย ประเทศไทยได้จริงในที่สุด” รศ.อารีย์ กล่าว