โปรตีนจิ้งหรีดเสริมพลัง รับทุนสตาร์ทอัพ1แสน

โปรตีนจิ้งหรีดเสริมพลัง รับทุนสตาร์ทอัพ1แสน

นวัตกรมือใหม่จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเห็นโอกาสทางธุรกิจจากแมลงโปรตีน ศึกษาสร้างผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดตอบโจทย์คนเล่นกีฬา ชี้สรรพคุณโดดเด่นกว่าเวย์โปรตีน ขึ้นเวทีรับทุนสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ ลีก 2017 จำนวน 1 แสนบาทสร้างต้นแบบสินค้า หวังเปิดตลาดสุขภาพปี 2561

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานถึงแหล่งอาหารใหม่อย่าง “แมลง” ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไฟเบอร์ ในขณะเดียวกันก็ยังไขมันต่ำ เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหาร ในขณะเดียวกัน ก็เป็นทางเลือกใหม่สำหรับโลกอนาคตที่จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึงและอาจเผชิญปัญหาขาดแคลนแหล่งอาหาร

แหล่งอาหารทางเลือกใหม่

แมลงนอกจากจะอุดมไปด้วยสารอาหารหลากหลายแล้ว ยังมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมในการเปลี่ยนอาหารที่ได้รับให้กลายเป็นสารอาหาร เช่น จิ้งหรีด ต้องการทรัพยากรน้อยกว่าปศุสัตว์ 12 เท่าในการสร้างโปรตีนในปริมาณเท่ากัน แมลงส่วนใหญ่ยังผลิตก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าปศุสัตว์ด้วย

เชาวรินทร์ เสน่หา และศุภกฤต กิจนภาธนพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มองเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดที่เป็นแหล่งโปรตีน และมีสมดุลสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ

“จิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมน่าจะใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนเวย์โปรตีน จึงศึกษาเปรียบเทียบกัน พบว่า จิ้งหรีดไม่มีแลคโตสและกลูเตนที่ทำให้บางคนมีอาการท้องเสีย ท้องอืด ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเวย์โปรตีนที่มาจากนมวัว เป็นโอกาสที่โปรตีนจากจิ้งหรีดจะเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งตลาดนี้” เชาวรินทร์ กล่าว

มูลค่าตลาดสำหรับเวย์โปรตีนหรือโปรตีนเสริมต่างๆ นั้น นวัตกรรุ่นใหม่นี้มองว่า มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นราว 10% ทุกปี ด้วยเทรนด์ของการรักษาสุขภาพ ทำให้ตลาดขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่

ขณะเดียวกัน ไทยเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในเชิงพาณิชย์มากที่สุด จากข้อมูลที่กรมส่งเสริมการเกษตรรวบรวมไว้ พบว่า ในปี 2557 มีผู้เลี้ยงกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ กว่า 20,000 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์และมหาสารคาม ผลผลิตจิ้งหรีดรวมกว่า 656 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 6.5 หมื่นบาท พร้อมกับมีการส่งออกด้วยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 65 ล้านบาท

เขามองหาฟาร์มจิ้งหรีดออร์แกนิคในพื้นที่ใกล้ๆ และเริ่มทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำมาทำแห้งแล้วบดเป็นผง จิ้งหรีด 1 กิโลกรัมจะได้ผงโปรตีน 300 กรัม

เล็งตลาดฟิตแอนด์เฟิร์ม

“ปัจจุบัน เราอยู่ระหว่างปรับปรุงสูตรโปรตีนพร้อมดื่มจากผงจิ้งหรีด เพื่อให้กลิ่น รส และเนื้อสัมผัสต่างๆ มีความน่ากิน ตอบโจทย์ผู้บริโภค จากปัจจุบันที่เป็นผงโปรตีนจิ้งหรีด 100% จะมีสีน้ำตาลและกลิ่นเหมือนโกโก้ ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่กล้าลอง”

ในขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตก็มีการสกัดไคตินในส่วนเปลือกแข็งของจิ้งหรีดออกไป เพราะเป็นส่วนที่มีความเสี่ยงจะทำให้คนที่แพ้สัตว์ประเภทกุ้งหรือแมลงมีอาการแพ้ได้ รวมถึงศึกษาเปรียบเทียบกับไข่ขาวในปริมาณที่เท่ากันแล้วพบว่า จิ้งหรีดให้โปรตีนมากกว่า
“เครื่องดื่มแปรรูปจากจิ้งหรีดออร์แกนิค” เป็น 1 ใน 50 สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกและรับเงินทุน 100,000 บาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยเจ้าของผลงานตั้งใจที่จะทำเป็นแบบผงและพร้อมดื่ม กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ที่ออกกำลังกายและต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ด้วยจุดเด่นที่นอกจากมีโปรตีนและไฟเบอร์สูง ยังมีคุณค่าทางอาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี2 สูง ไขมันต่ำ ไม่มีน้ำตาล พร้อมกรดอมิโน 9 รวมถึงโอเมก้า 3 และ 9 อีกด้วย

“เราตั้งเป้าว่า ปลายปี 2560 จะพัฒนาต้นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์เพิ่มโปรตีนแบบพร้อมดื่มจากจิ้งหรีดพร้อมที่จะยื่นขอ อย. จากนั้นจะเริ่มขยายสู่เชิงพาณิชย์ในปี 2561 โดยสปินออฟจากโครงการบ่มเพาะฯ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี” เชาวรินทร์ กล่าว